
สรุปปัจจัยสำคัญตลาดทุน-การเงิน-เศรษฐกิจวันนี้
สรุปปัจจัยสำคัญตลาดทุน-การเงิน-เศรษฐกิจประจำวันที่ 5 เม.ย.59
– ช่วงเย็นนี้ เงินเยนอยู่ที่ระดับ 110.38/40 เยน/ดอลลาร์ จากช่วงเช้าที่ระดับ 110.78/83 เยน/ดอลลาร์
– ส่วนเงินยูโร เย็นนี้อยู่ที่ระดับ 1.1357/1362 ดอลลาร์/ยูโร จากช่วงเช้าที่ระดับ 1.1396/1.1400 ดอลลาร์/ยูโร
– ดัชนี SET ปิดวันนี้ที่ระดับ 1,373.59 ลดลง 26.68 จุด (-1.91%) โดยมีมูลค่าการซื้อขาย 45,610 ล้านบาท
– สรุปปริมาณการซื้อขายรายกลุ่ม ต่างชาติขายสุทธิ 1,777.75 ล้านบาท (SET+MAI)
– พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เปิดเผยว่า การจะใช้มาตรา 44 ในกรณีที่ บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) จะรับช่วงคลื่นจากบริษัท แจส โมบาย บรอดแบนด์ จำกัด ซึ่งเป็นผู้ชนะประมูลคลื่น 900 MHz ในครั้งก่อน ที่ราคา 75,654 ล้านบาท ในเรื่องนี้จะต้องให้ฝ่ายกฎหมายทั้งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และในส่วนของนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายกฎหมาย ไปพิจารณาอย่างรอบคอบก่อน ซึ่งหากเป็นเรื่องที่มีความจำเป็น และไม่ก่อให้เกิดความเสียหายก็พร้อมที่จะดำเนินการ
นอกจากนี้ หลักเกณฑ์ในการพิจารณาต้องคำนึงถึงว่า หากมีการประมูลใหม่จะได้ราคาที่คุ้มหรือไม่ และหากสามารถเจรจาได้ รัฐจะต้องไม่เสียประโยชน์ ระบบการสื่อสารต้องดีขึ้น และค่าบริการเครือข่ายมือถือไม่สูงขึ้น
– นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง กล่าวถึงข่าวที่บริษัทหลักทรัพย์ (โบรกเกอร์) หลายแห่งออกมาคัดค้านกรณีที่กระทรวงการคลังจะเข้าไปถือหุ้นในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพราะเกรงว่าจะถูกเข้ามาแทรกแซง และทำให้การทำงานไม่เป็นอิสระนั้นว่า เรื่องนี้ยังไม่ได้ข้อสรุปและยังไม่มีข้อยุติ ซึ่งยังอยู่ในระหว่างการศึกษาเท่านั้น
– นายจาตุรงค์ จันทรังษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า การที่ธนาคารพาณิชย์บางแห่งปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลงถือเป็นสิ่งที่ดี และเป็นประโยชน์กับผู้กู้โดยเฉพาะ SMEs ช่วยลดภาระดอกเบี้ยให้กับลูกหนี้ได้ ซึ่งเป็นผลจากสภาพคล่องส่วนเกินที่มีอยู่สูงในระบบการเงิน และสอดคล้องกับนโยบายการเงินปัจจุบันที่ยังคงผ่อนคลายอยู่ในภาวะที่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยยังมีความเสี่ยง ซึ่งเชื่อว่าธนาคารพาณิชย์อื่นๆ จะทยอยปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลงด้วยตามสภาพการแข่งขัน
– ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือน มี.ค.59 อยู่ที่ระดับ 73.5 ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ที่ 62.4 ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสการหางานทำอยู่ที่ 68.8 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่ 89.5 ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคยังปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 และต่ำสุดในรอบ 5 เดือน เนื่องจากสถานการณ์ภัยแล้งเป็นหลัก
– นางคริสติน ลาการ์ด ผู้อำนวยการ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เรียกร้องให้ประเทศเศรษฐกิจรายใหญ่ใช้มาตรการเชิงรุกเพื่อกระตุ้นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจทั่วโลก พร้อมกับเตือนว่าเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มอ่อนแรงลง อันเนื่องมาจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนและราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับต่ำ ทั้งนี้ IMF มองว่าการใช้อัตราดอกเบี้ยติดลบของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) และธนาคารกลางยุโรป (ECB)ทำให้เกิดผลข้างเคียงที่ต้องจับตาดู แต่โดยส่วนใหญ่แล้วเป็นผลดีเมื่อพิจารณาจากสถานการณ์ในปัจจุบัน
– ผลสำรวจของมาร์กิตระบุว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการของยูโรโซนในเดือน มี.ค. ปรับตัวลดลงแตะ 53.1 เมื่อเทียบกับรายงานเบื้องต้นที่ 54.0 และตัวเลขเดือนก.พ.ที่ 53.3 ซึ่งดัชนีที่สูงกว่า 50 บ่งชี้ถึงภาวะการขยายตัวของภาคบริการ แต่หากตัวเลขต่ำกว่า 50 จะแสดงถึงภาวะหดตัว
– ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ระบุว่า พร้อมที่จะดำเนินการอย่างรวดเร็วเพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับมาตรการผ่อนคลายทางการเงิน หากพิจารณาแล้วเห็นว่าจำเป็น ไม่ว่าจะด้วยการเพิ่มปริมาณการซื้อทรัพย์สินของธนาคารกลาง หรือการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่ติดลบอยู่แล้วลงไปอีก หรือทั้ง 2 อย่าง
– รายงานวิเคราะห์ภาวะตลาดเงินโลกของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ระบุว่า ตลาดหุ้นสหรัฐและตลาดหุ้นอื่นๆ ของประเทศพัฒนาแล้ว อาจได้รับผลกระทบหนักจากตลาดหุ้นเกิดใหม่ เนื่องจากปัจจุบันตลาดทั้งสองฝั่งนี้มีการเชื่อมโยงกันมากขึ้น ซึ่งอิทธิพลของตลาดหุ้นจีนที่มีต่อตลาดหุ้นเกิดใหม่นั้นจะเพิ่มขึ้นในอนาคตอันใกล้ โดยจีนคาดว่าจะมีอิทธิพลเป็นอย่างมากต่อตลาดของประเทศอื่นๆ เมื่อพิจารณาจากการเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจและการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจ แม้แต่ตลาดหุ้นสหรัฐเองอาจจะได้รับผลกระทบจากตลาดหุ้นจีนด้วย
ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสท์