กกร.หั่นเป้า GDP ปี 68 เหลือ 2.2% เสี่ยงดิ่งสุด 1.4% หากสหรัฐขึ้นภาษี 36%

เศรษฐกิจโลกเปราะบาง กกร.หั่นจีดีพีไทยปีหน้าเหลือ 2.0% เสี่ยงดิ่งเหลือ 1.4% หากโดนภาษีสหรัฐเต็มเพดาน จี้รัฐเร่งเจรจา-คุมบาทแข็ง


นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ซึ่งประกอบด้วยตัวแทนจากภาคอุตสาหกรรม พาณิชย์ และธนาคาร ประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจโลกปี 2568 ว่ากำลังเข้าสู่ช่วงเปราะบางอย่างมีนัยสำคัญ สะท้อนจากทิศทางการค้าโลกที่ชะลอตัวลงต่อเนื่อง

สำหรับภายหลังการประชุมร่วมว่า กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้ปรับลดคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจโลกปีหน้าเหลือเพียง 2.8% จากเดิม 3.3% ขณะที่อัตราการเติบโตของการค้าโลกหดตัวต่ำกว่าระดับช่วงวิกฤตยูโรโซนในปี 2554 ซึ่งเป็นสัญญาณอันตรายที่ต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด

โดยภาวะชะลอตัวนี้ยิ่งทวีความรุนแรงเมื่อผนวกกับมาตรการกีดกันทางการค้าจากสหรัฐ โดยเฉพาะภาษีศุลกากรที่กำลังจะบังคับใช้ ซึ่งอาจส่งผลให้สินค้าไทยถูกตีภาษีสูงสุดถึง 36% ในอนาคต หากเกิดขึ้นจริงจะทำให้มูลค่าการส่งออกของไทยสูญไปกว่า 1.4 ล้านล้านบาทภายใน 10 ปี พร้อมแรงสั่นสะเทือนไปยังตลาดแรงงานกว่า 3.7 ล้านคน และเอสเอ็มอีกว่า 5,000 ราย

สำหรับเศรษฐกิจไทยในภาพรวม กกร.คาดว่าจะเติบโตเพียง 2.0–2.2% ในปีหน้า จากเดิมที่ประเมินไว้ 2.4–2.9% ส่วนการส่งออกหากถูกเก็บภาษี 10% ตั้งแต่ไตรมาส 2 จะเติบโตได้เพียง 0.3–0.9% และหากอัตราภาษีไต่ระดับขึ้นไปถึง 36% ในช่วงครึ่งหลังของปี ไทยอาจเผชิญกับการหดตัวของการส่งออกถึง -2% และจีดีพีอาจไม่โตเกิน 1.4%

กกร.เสนอให้รัฐเร่งเจรจากับทางการสหรัฐเพื่อผ่อนปรนมาตรการภาษี พร้อมเสนอแนะให้เดินหน้ากลไกปกป้องภาคการผลิตในประเทศผ่านการใช้มาตรการ “เซฟการ์ด” (Safeguard) ป้องกันสินค้านำเข้าที่อาจทะลักเข้าสู่ตลาดไทยจากผลของการเบี่ยงเบนทางการค้า

ขณะเดียวกัน ภาครัฐควรเร่งบูรณาการข้อมูลนำเข้า–ส่งออกผ่านระบบดิจิทัล เพื่อให้สามารถเฝ้าระวังและตอบโต้ความเคลื่อนไหวของตลาดได้แบบเรียลไทม์ โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าที่เสี่ยงต่อการสวมสิทธิ์ถิ่นกำเนิด เพื่อเลี่ยงภาษีไปยังตลาดสหรัฐ ซึ่งปัจจุบันมีรายชื่อสินค้าเฝ้าระวังเพิ่มเป็น 65 รายการ และมีมติให้ “กรมการค้าต่างประเทศ” เป็นผู้มีอำนาจอนุมัติการออกใบรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าเพียงหน่วยงานเดียว

อีกประเด็นที่กกร.แสดงความห่วงใยคือ ค่าเงินบาทที่แข็งค่าฉับพลันอยู่ในช่วง 32.5–32.7 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งแม้จะส่งผลดีต่อการนำเข้า แต่กระทบต่อขีดความสามารถการแข่งขันของผู้ส่งออกไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จึงเสนอให้มีมาตรการดูแลค่าเงินและสื่อสารกับภาคเอกชนเพื่อเตรียมรับมือ

นอกจากนี้ กกร.ยังจับตาการพิจารณาแก้ไขร่าง พ.ร.บ.ล้มละลาย ซึ่งมีข้อเสนอใหม่หลายประการ เช่น การฟื้นฟูกิจการของผู้ประกอบการรายย่อยและบุคคลธรรมดา โดยอัตโนมัติ ซึ่งอาจกระทบต่อความเชื่อมั่นในระบบค้ำประกันและการปล่อยสินเชื่อให้เอสเอ็มอี โดยขอให้มีการศึกษาผลกระทบรอบด้านก่อนบังคับใช้

สุดท้าย กกร.ฝากข้อสังเกตว่า ไทยไม่ควรเพียงเร่งเจรจากับสหรัฐเท่านั้น แต่ยังต้องติดตามความเคลื่อนไหวของประเทศคู่แข่งอย่างเวียดนาม มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ที่ต่างเร่งขอยกเว้นภาษีเช่นกัน เพราะหากไทยเจรจาได้ดีกว่า ก็จะกลายเป็นจุดได้เปรียบสำคัญในสนามแข่งขันการส่งออก

Back to top button