พาราสาวะถี อรชุน

เลือกตั้งในไทยไม่รู้ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ เป็นไปตามโรดแมปก็ปลายปี 2560 ค่อนไปทางต้นปี 2561 คงไม่มีอะไรทำให้เร็วได้มากกว่านั้น แต่ที่สหรัฐอเมริกา 8 พฤศจิกายนตามเวลาบ้านเขา ตรงกับวันนี้ของบ้านเรา มีการหย่อนบัตรเลือกตั้งประธานาธิบดีคนใหม่แทน บารัค โอบามา โดยมีสองแคนดิเดต ฮิลลารี คลินตัน จากเดโมแครตพรรคเดียวกันกับคนที่กำลังจะกลายเป็นอดีตผู้นำ กับ โดนัลด์ ทรัมป์ ผู้ท้าชิงจากรีพับลิกัน


เลือกตั้งในไทยไม่รู้ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ เป็นไปตามโรดแมปก็ปลายปี 2560 ค่อนไปทางต้นปี 2561 คงไม่มีอะไรทำให้เร็วได้มากกว่านั้น แต่ที่สหรัฐอเมริกา 8 พฤศจิกายนตามเวลาบ้านเขา ตรงกับวันนี้ของบ้านเรา มีการหย่อนบัตรเลือกตั้งประธานาธิบดีคนใหม่แทน บารัค โอบามา โดยมีสองแคนดิเดต ฮิลลารี คลินตัน จากเดโมแครตพรรคเดียวกันกับคนที่กำลังจะกลายเป็นอดีตผู้นำ กับ โดนัลด์ ทรัมป์ ผู้ท้าชิงจากรีพับลิกัน

ว่ากันตามเนื้อหา วิเคราะห์จากสายตาที่เห็นผ่านการดีเบตและข่าวที่เข้ามาเป็นระลอกจากเมืองมะกัน มาดามคลินตันมีคะแนนนำผู้เฒ่าทรัมป์อยู่พอสมควร แต่ไม่ใช่แบเบอร์แบบนอนมา ยังหายใจรดต้นคอ ดังนั้น จึงต้องตามลุ้นกันว่า จะมีเหตุพลิกโผทำให้มวยรองพลิกกลับมาชนะได้หรือไม่ มุมวิเคราะห์ของ สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ ว่าไว้น่าสนใจ

ระบบเลือกตั้งของอเมริกาตัดสินกันที่การเลือกตั้งทางอ้อม เพราะแม้ว่าจะมีการลงคะแนนจากประชาชนโดยตรงที่เรียกว่าป็อปปูลาร์โหวต แต่ชัยชนะแท้จริงอยู่ที่ระบบเลือกทางอ้อมที่เรียกว่าอิเล็กทอรัลโหวตหรือคณะผู้เลือกตั้ง ซึ่งมาจากจำนวนเสียงทางอ้อมที่จัดให้แต่ละมลรัฐตามสัดส่วนประชากร เช่น รัฐนิวยอร์กจะมีเสียงผู้เลือกตั้ง 29 คะแนน รัฐแคลิฟอร์เนียมี 55 คะแนน รัฐเล็กเช่น โรดไอร์แลนด์มี 4 คะแนน เป็นต้น

ผู้ชนะในแต่ละรัฐจะได้คะแนนเสียงผู้เลือกตั้งไปทั้งหมด ซึ่งทั่วทั้งประเทศจะมีคะแนนผู้เลือกตั้ง 538 คะแนน ผู้ชนะจะต้องได้เกินครึ่งคือราว 270 คะแนนขึ้นไป ตัวอย่างจากการเลือกตั้งเมื่อ พ.ศ.2555 โอบามาจากพรรคเดโมแครตได้เสียงผู้เลือกตั้ง 332 คะแนน มิต รอมนีย์ จากพรรครีพับลิกันได้ 209 คะแนน นี่คือประชาธิปไตยแบบอเมริกันชน

สรุปจนถึงวันนี้ ฮิลลารีน่าจะมีโอกาสชนะ ถ้าเป็นดังนี้สหรัฐฯ จะมีประธานาธิบดีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์ แต่กระนั้น แม้กระทั่งนักวิเคราะห์ในสหรัฐฯ ก็ยังเห็นว่า ทรัมป์ยังมีโอกาสจากการสนับสนุนของกระแสอนุรักษนิยมฝ่ายขวาและฝ่ายล้าหลังในอเมริกา ที่ยังเชื่อว่าทรัมป์เป็นทางเลือกใหม่ที่ดีกว่าสำหรับประเทศ เพราะฮิลลารีเป็นพวกสร้างภาพหลอกลวง แต่ทรัมป์เป็นคนจริงใจ ซึ่งถ้าเป็นดังนั้น สหรัฐฯ ก็จะมีประธานาธิบดีที่ขวาที่สุดในประวัติศาสตร์

คำถามที่ตามมาคือ ไม่ว่าใครจะขึ้นเป็นผู้นำยักษ์ใหญ่ของโลก แล้วประเทศไทยได้อะไร ตรงนี้ต่างหากที่ทุกคนอยากรู้ มีมุมวิเคราะห์จากเวทีเสวนาโค้งสุดท้ายสู่ทำเนียบขาว ผลกระทบต่ออาเซียนและไทย ซึ่งจัดขึ้นโดยศูนย์อาเซียนศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และสมาคมอเมริกาศึกษาในประเทศไทย มีเสียงจากนักวิชาการหลายรายที่น่าสนใจ

ประภัสสร์ เทพชาตรี ผู้อำนวยการศูนย์อาเซียนศึกษา ระบุว่า นโยบายของคลินตันวิเคราะห์ไม่ยาก เพราะหลักแล้วจะสานต่อนโยบายของโอบามา ผลกระทบต่อไทยอาจจะต่างไปเล็กน้อย ในแง่ของคลินตันเป็นพรรคเดโมแครต จะมองโลกในแง่ดี การสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศ สร้างมาตรการทางการทูตในการดำเนินนโยบายต่างประเทศ แต่คลินตันก็รู้ดีว่านี่เป็นจุดอ่อนทำให้อเมริกาอ่อนแอ

ขณะที่ทรัมป์ชูธงว่าจะทำให้อเมริกากลับมายิ่งใหญ่อีกครั้งหนึ่ง คลินตันก็รู้ตัวว่าถ้าจะปิดช่องโหว่ตรงนี้ก็ต้องนำเสนอนโยบายแข็งกร้าวกว่านโยบายของโอบามา เช่น นโยบายต่อตะวันออกกลางน่าจะเป็นเรื่องหลัก เรื่องใหญ่คือไอซิส โอบามาพยายามจัดการมาหลายปีแต่ปัญหายังคาราคาซัง นโยบายต่อเอเชีย อาเซียน และไทยของคลินตัน สานต่อนโยบายของโอบามา ผลกระทบคงไม่ต่างจากโอบามา คือเดินหน้ากระชับความสัมพันธ์กับอาเซียน ขณะที่ทรัมป์มีแนวนโยบายขวาจัดสุดโต่ง ชาตินิยมสุดโต่ง

ด้าน วิบูลย์พงศ์ พูนประสิทธิ์ จากคณะรัฐศาสตร์ มธ. มองว่า การเลือกตั้งครั้งนี้พลิกแพลงมากที่สุด ตัวแทนของพรรครีพับลิกันอย่างทรัมป์ เป็นคนนอกคอก ไม่เคยยุ่งเกี่ยวกับการเมืองมาก่อน ขณะที่ผู้สมัครของเดโมแครตมีจุดเด่นเรื่องนโยบาย แต่ไม่ว่าใครจะชนะ โลกจะไม่เหมือนเดิม เพราะทรัมป์เปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่างที่ในอเมริกันเคยยึดถือ

จุดหนึ่งที่น่าสนใจของการเลือกตั้งครั้งนี้คือ คราวนี้ประหลาดและสำคัญที่สุด ประหลาดที่สุดคือ ทรัมป์มาจากไหนไม่รู้ ดำเนินนโยบายประชานิยม ถ้าชนะเลือกตั้ง เขาอาจเป็นคนทำให้โลกเกิดสงครามโลกครั้งที่ 3 เพราะไม่เก่งและอวดดี บางทีสิ่งที่เป็นประโยชน์กับโลกอาจไม่เป็นประโยชน์กับไทย หากทรัมป์มาจีนกับรัสเซียอาจจะทำอะไรได้ตามใจชอบในยุโรป

แต่ในเรื่องการทหารน่าจะดีกับไทย เพราะทรัมป์ไม่ค่อยรู้จักไทย ไม่ค่อยสนใจเรื่องสิทธิมนุษยชน แต่เขาอาจจะดึงบริษัทลงทุนอเมริกาจากประเทศไทย ส่วนคลินตันอาจจะดีกับโลก แต่ไม่ดีต่อไทย เพราะพรรคเขาให้ความสำคัญกับเรื่องสิทธิมนุษยชน สิทธิสตรี ภาวะโลกร้อน ถ้าเราทำสิ่งนี้ไม่ดี เขาจะลงโทษเราได้

นั่นเป็นมุมของนักวิชาการ แต่ภาคเอกชน วัลลภ วิตนากร รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เห็นว่าหากคลินตันได้เป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ จะมีผลดีต่อธุรกิจการค้าของทั่วโลกเพราะมีนโยบายเปิดเสรีทางการค้าและเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะทยอยดีขึ้น ส่งผลดีต่อค่าเงินบาทให้อ่อนค่าลง เป็นจังหวะที่ไทยจะส่งออกไปตลาดสหรัฐฯ ได้เพิ่มขึ้น

เรื่องสำคัญคือ หุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิกหรือทีพีพี วัลลภยังมั่นใจว่าคลินตันจะสานต่อนโยบายดังกล่าว เพราะเป็นยุทธศาสตร์การค้าที่โอบามาวางไว้ แต่อาจมีการปรับเปลี่ยนนโยบายบางเรื่อง แต่คงไม่กระทบต่อภาพรวมของทีพีพีทั้งหมด แต่หากทรัมป์ได้รับเลือกสิ่งที่ภาคเอกชนเป็นห่วงคือ เรื่องของการกีดกันทางการค้า โดยเฉพาะอาจมีการยกเลิกทีพีพีที่ประกาศหาเสียงไว้

ผลกระทบจะเกิดขึ้นกับประเทศไทยคือ ตลาดส่งออกไปหลายประเทศที่เป็นสมาชิกทีพีพีอาจสูญหายไป รายได้จากการส่งออกก็จะลดลงเพราะไทยเป็นฐานการผลิตเพื่อการส่งออก โดยเฉพาะสินค้ากลุ่มอาหาร ด้าน อิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย มองว่า หากคลินตันชนะ น่าจะเจรจาด้านความมั่นคงได้ดีกว่า เพราะมีประสบการณ์มากกว่า

ถ้าคลินตันได้เป็นประธานาธิบดี ไทยและชาวโลกอาจสบายใจมากกว่า เพราะมีประสบการณ์มากกว่า ขณะที่ทรัมป์มีวิธีคิดที่กล้าเสี่ยงหวือหวา นโยบายต่างๆ จึงมุ่งดูแลเฉพาะคนอเมริกัน ซึ่งไม่รู้ว่าเขาคิดอย่างไรกับชาวโลก จึงน่ามีความเสี่ยงมากกว่าหากชนะการเลือกตั้ง อีกทั้งเศรษฐกิจสหรัฐฯ อาจเกิดความไม่มั่นคง และอาจมีปัญหาเสถียรภาพทางการเงิน ลุ้นกันดูว่าม้าตัวไหนจะเข้าวิน รู้ผลแล้วยังต้องรอว่าคนใดก็ตามขึ้นมา ประเทศไทยจะได้ประโยชน์อะไรบ้าง ดูการเมืองโลกภาพใหญ่ไปก่อนค่อยกลับมาลุ้นกับการเมืองบ้านเรา

Back to top button