พาราสาวะถี อรชุน

ไม่รู้จะเรียกว่าขยันผิดปกติหรือไม่มีมุกใหม่มาให้เล่นหรืออย่างไร จากกรณีที่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เดินสายไปร่วมประชุมหรืออาจจะเรียกว่าตรวจการบ้านของกระทรวงต่างๆ ตั้งแต่ คมนาคม มหาดไทย ล่าสุดเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาเป็นคิวของกระทรวงการคลัง ตามสูตร สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกรัฐบาลอ้างเป็นการตรวจงานที่มอบนโยบายไปแล้วและไม่มีการแจ้งล่วงหน้าเพื่อไม่ต้องการให้มีการจัดฉากต้อนรับ


ไม่รู้จะเรียกว่าขยันผิดปกติหรือไม่มีมุกใหม่มาให้เล่นหรืออย่างไร จากกรณีที่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เดินสายไปร่วมประชุมหรืออาจจะเรียกว่าตรวจการบ้านของกระทรวงต่างๆ ตั้งแต่ คมนาคม มหาดไทย ล่าสุดเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาเป็นคิวของกระทรวงการคลัง ตามสูตร สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกรัฐบาลอ้างเป็นการตรวจงานที่มอบนโยบายไปแล้วและไม่มีการแจ้งล่วงหน้าเพื่อไม่ต้องการให้มีการจัดฉากต้อนรับ

คงไม่มีใครไปจับผิดหรือคิดไม่ดีกับท่านผู้นำ ถือเสียว่านี่เป็นการไปกระตุ้นให้ทุกกระทรวงเดินหน้าโครงการต่างๆที่เคยประกาศเป็นนโยบายไปแล้ว แต่ไม่ว่าจะมีโปรเจ็กต์มากมายขนาดไหน หากปัญหารายวันและสำคัญอย่างปากท้องของประชาชนยังแก้ไขไม่ได้ ก็ป่วยการที่จะไปคิดถึงงานใหญ่หรือบรรดาเมกะโปรเจ็กต์ทั้งหลายแหล่

เอาอีแค่ปัญหาราคาข้าวตกต่ำที่เวลานี้หลายหน่วยงานของภาครัฐทั้งช่วยกันซื้อและจัดสถานที่ขายให้ชาวนา ผนวกกับภาคเอกชนที่ระดมกันอย่างเต็มที่ ท่านผู้นำก็บอกว่านั่นมันเป็นเพียงแค่ 5 เปอร์เซ็นต์ของผลผลิตข้าวที่เกษตรกรปลูกกันทั้งประเทศ ไม่ใช่การแก้ไขปัญหาที่ถูกทาง หากจะดูแลได้อย่างทั่วถึงมันต้องแก้ทั้งระบบ

ก่อนที่ท่านจะสาธยายต่อว่า ปัญหาราคาข้าวในวันนี้มีทั้งปัญหาภายในที่มีต้นทุนการผลิตสูง ซึ่งราคาต่างจากตลาดโลก มีความแตกต่างกันในเรื่องต้นทุน ฉะนั้นเราต้องปรับปรุง ความต่างต้นทุนการผลิตกับราคาข้าวต่างกันเท่าไร ถ้าต่างกัน 1 พันบาทอยู่ไม่ได้ต้องต่างอย่างน้อย 3 พัน วันนี้แทบจะไม่ต่างหรือไม่ก็ขาดทุน เพราะต้นทุนการผลิตสูง อย่ามาเรียกร้องราคาข้าว จะเอาเงินที่ไหนต้องขึ้นภาษีหรืออย่างไร

ประโยคหลังนี่เป็นภาพสะท้อนของคนที่บริหารผ่านระบบราชการมาทั้งชีวิตอย่างแท้จริง และเช่นกันคงไม่ต่างจากลิ่วล้อที่รายล้อม เอะอะนึกอะไรไม่ออกก็ต้องรีดภาษีไว้ก่อน ทั้งๆ ที่มันมีกระบวนการบริหารจัดการในเรื่องของงบประมาณของแผ่นดิน ทั้งส่วนที่เป็นรายได้ประจำ รายจ่ายประจำและการจัดสรรเงินเพื่อช่วยแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนโดยเฉพาะเกษตรกร

ประเด็นเรื่องของการแทรกแซงราคาพืชผลทางการเกษตรนั้น อย่าคิดว่ามีแต่ประเทศไทยเพราะไม่ว่าที่ใดในโลกเขาก็ใช้แนวทางดังว่านี้เหมือนกัน จะต่างตรงที่วิธีการบริหารจัดการเท่านั้น เพียงแต่ว่ามาในยุคของรัฐบาล คสช.ต้องย้อนกลับไปถามว่า เหตุที่ไม่ใช้แนวทางเหล่านั้นเป็นเพราะกลัวเสียหน้า เนื่องจากมันจะไปเหมือนกับวิธีของพวกนักการเมืองที่ตัวเองตั้งธงความเกลียดชังไว้ใช่หรือไม่

ความจริงแล้วเรื่องของการปรับท่าที อยากให้ผู้ที่อยู่ในอำนาจได้ศึกษาวิธีการของ โดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีคนที่ 45 ของสหรัฐอเมริกา หลังจากที่วันก่อนเคยบอกไว้ว่า เมื่อรู้ผลการเลือกตั้งท่าทีของทรัมป์จากที่เป็นคนหยาบกระด้าง พูดจาโผงผางจนดูกลายเป็นคนก้าวร้าว กลับอ่อนลงในทันที โดยเฉพาะที่มีการพูดถึง ฮิลลารี คลินตัน คู่แข่งคนสำคัญ

ไม่เพียงเท่านั้น หลังการเข้าพบ บารัก โอบามา เพื่อพูดคุยกันถึงความพร้อมในการส่งมอบเก้าอี้ประธานาธิบดี ทรัมป์ถึงกับเอ่ยปากชื่นชมคนที่กำลังจะกลายเป็นอดีตผู้นำประเทศ พร้อมสรรเสริญคุณความดียกใหญ่ ไม่เพียงเท่านั้น จากเดิมที่เจ้าตัวคิดว่าน่าจะใช้เวลาพูดคุยกันสั้นๆ แค่ 10 นาที แต่ปรากฏว่าคุยกันเพลินถึงชั่วโมงครึ่ง

นี่คือสิ่งที่เราต้องเรียนรู้ถึงความใจกว้างจากผู้คนที่อยู่ในแวดวงการเมืองของประเทศยักษ์ใหญ่ที่ได้ชื่อว่ามีความเป็นประชาธิปไตยสูง แม้ว่าเวลานี้ยังคงมีการประท้วงของผู้คนจำนวนหนึ่งที่ลุกลามไปทั่วสหรัฐฯเพื่อต่อต้าน ไม่ยอมรับว่าที่ผู้นำคนใหม่ แต่นั่นไม่ใช่ปัญหาใหญ่ อย่างไรก็เสีย ทรัมป์ก็ได้เป็นประธานาธิบดี โดยที่ม็อบที่ก่อตัวอยู่เวลานี้ก็อาจจะอยู่คู่รัฐบาลใหม่ไปจนหมดวาระเลยก็ว่าได้

ความแปลกประหลาดใจอีกประการของอเมริกันชนในท่าทีของทรัมป์คือ การเปลี่ยนแนวคิดจากที่เคยหาเสียงเอาไว้ว่าจะล้มกฎหมายประกันสุขภาพโอบามาแคร์ แต่หลังการหารือกับท่านประธานาธิบดี เขาก็ได้ปรับท่าทีโดยระบุว่าจะรักษาข้อดีของกฎหมายที่ระบุให้บริษัทประกันยอมให้ผู้มีปัญหาสุขภาพสามารถทำประกันได้ รวมถึงให้สิทธิผู้ปกครองใช้ประกันสุขภาพคุ้มครองบุตรได้ถึงอายุ 26 ปี

นอกเหนือจากความเห็นของทรัมป์แล้ว ในเว็บไซต์ที่ให้ข้อมูลการถ่ายโอนภารกิจประธานาธิบดีของทรัมป์ ก็มีการแก้ไขนโยบายด้านสุขภาพที่เปลี่ยนไปจากที่เคยหาเสียงด้วย โดยมีการเพิ่มเติมสิ่งที่ใกล้เคียงกับแนวทางหลักของพรรครีพับลิกันมากขึ้น เช่น เลิกการอ้างถึงการควบคุมราคายาที่แพงขึ้น ซึ่งก่อนหน้ามีการรณรงค์เรื่องพวกนี้มาหลายเดือน และเพิ่มข้อความใหม่เกี่ยวกับเรื่องทำให้การรักษาพยาบาลทันสมัยขึ้น โดยจะให้สภาคองเกรสออกมาตรการจ่ายคูปองให้คนก่อนที่จะไปซื้อประกันสุขภาพส่วนตัว

อย่างที่เคยบอกไว้หลังทราบผลเลือกตั้งสหรัฐฯ สิ่งที่ผู้คนจำนวนไม่น้อยมองและเกิดทัศนะที่เลวร้ายต่อตัวทรัมป์ อาจจะต้องปรับกระบวนการคิดกันใหม่ แต่สำหรับประเทศไทยแล้ว ท่าทีของท่านผู้นำดูเหมือนว่าจะเป็นเรื่องยากที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลง นั่นเป็นเพราะเป้าหมายที่ตั้งไว้ก่อนการยึดอำนาจมันเป็นเดิมพันที่สูงจนยากที่จะกลับหลังหัน

กระนั้นก็ตาม หากจับอาการของท่านผู้นำในระยะหลังก็พอจะเห็นความเปลี่ยนแปลงจากที่เคยกระโชกโฮกฮากกลายเป็นท่าทีที่เป็นมิตรมากขึ้น เหมือนต้องการจะแสวงหาแนวร่วมให้มากขึ้นหรือด้วยเหตุผลอื่นที่ใครก็มิอาจจะวิพากษ์วิจารณ์ได้ แต่นั่นไม่ใช่คำตอบว่า ด้วยจังหวะเคลื่อนที่กำลังดำเนินการกันอยู่จะเป็นหนทางที่นำพาประเทศก้าวข้ามพ้นหุบเหวแห่งความขัดแย้งเหมือนในช่วงกว่า 10 ปีที่ผ่านมา

แม้คนส่วนใหญ่จะตั้งความหวังกันว่า ช่วงเปลี่ยนผ่านขอให้ความสามัคคีของบ้านเมืองกลับคืนมา ถามว่ายากหรือไม่ คนที่จะให้คำตอบได้ดีที่สุดก็คือ ผู้มีอำนาจเวลานี้ เพราะเมื่อมองไปยังท่าทีของเหล่าบรรดากองเชียร์และพวกที่ร่วมกันสร้างวิกฤติเทียมให้เกิดขึ้นก่อนหน้านั้น จะพบว่ายังไม่ได้ลดราวาศอกแม้แต่น้อย หากยังเป็นเช่นนี้ก็ต้องถามไปยังท่านผู้นำดังๆว่า ท่านต้องการที่จะให้มันเป็นเช่นนั้นจริงหรือ

Back to top button