มายากลของชาติส่งออกน้ำมัน

คืนวันศุกร์ที่ผ่านมา แม้ว่าดัชนีดาวโจนส์จะทำนิวไฮอีกครั้งจากการซื้อขายแค่ครึ่งวัน ในวันแบล็กฟรายเดย์ อันเป็นวันเริ่มต้นเทศกาลซื้อก่อนคริสต์มาสของคนอเมริกัน แต่ราคาน้ำมันดิบกลับร่วงลงชนิดดิ่งเหวหลังเที่ยงคืน จนปิดตลาดลบไปจากวันก่อน 3% เศษ หรือเกือบ 2 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เกิดสัญญาณขายที่จะส่งมาถึงเช้าวันนี้ ไม่เฉพาะราคาน้ำมัน แต่ยังรวมราคาทองคำและสินค้าโภคภัณฑ์อื่นๆ ด้วย


พลวัต 2016 : วิษณุ โชลิตกุล

 

คืนวันศุกร์ที่ผ่านมา แม้ว่าดัชนีดาวโจนส์จะทำนิวไฮอีกครั้งจากการซื้อขายแค่ครึ่งวัน ในวันแบล็กฟรายเดย์ อันเป็นวันเริ่มต้นเทศกาลซื้อก่อนคริสต์มาสของคนอเมริกัน แต่ราคาน้ำมันดิบกลับร่วงลงชนิดดิ่งเหวหลังเที่ยงคืน จนปิดตลาดลบไปจากวันก่อน 3% เศษ หรือเกือบ 2 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เกิดสัญญาณขายที่จะส่งมาถึงเช้าวันนี้ ไม่เฉพาะราคาน้ำมัน แต่ยังรวมราคาทองคำและสินค้าโภคภัณฑ์อื่นๆ ด้วย

แรงขายที่ทำให้ราคาน้ำมันดิบร่วงหนัก อยู่ที่ข่าวร้ายว่าซาอุดีอาระเบีย ในฐานะแกนนำกลุ่มโอเปก แจ้งตัวแทนรัสเซียว่า จะยกเลิกการหารือเรื่องลดกำลังการผลิตน้ำมันในสัปดาห์นี้ลง จากกำหนดเดิมจะมีการหารือก่อนการประชุมใหญ่สุดยอดโอเปกที่กรุงเวียนนา ในวันพุธที่ 30 พฤศจิกายน 2559 

การยกเลิกกะทันหัน แสดงชัดว่ากลุ่มโอเปกยังไม่สามารถสร้างเอกภาพขึ้นได้ เพราะอิหร่านและอิรัก ซึ่งเป็นผู้ผลิตอันดับ 2 และ 3 ของโอเปก ยังคงยืนกรานที่จะไม่ร่วมมือลดกำลังการผลิตลง เว้นเสียแต่ชาติสมาชิกโอเปกจะยอมรับสัดส่วนการผลิตแบบ “คงสถานะเดิม” คืออิหร่านก่อนถูกคว่ำบาตร และอิรักก่อนสหรัฐล้มรัฐบาลซัดดัม ฮุสเซน 

ความคลุมเครือและการเล่นแง่ดังกล่าว ทำให้ซาอุดีอาระเบีย ไม่สามารถหอบตัวเลขไปเจรจากับผู้ผลิตและส่งออกน้ำมันหมายเลขหนึ่งของโลกคือรัสเซียได้ ปัญหาคือในวันเส้นตายที่ตลาดทั่วโลกรับรู้ไปทั่วคือ 30 พฤศจิกายน จะมีข้อตกลงลดกำลังผลิตเพื่อส่งออกหรือไม่ 

หากไม่มี ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกคงจะกลับไปใต้ 40 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลอีกครั้ง เพราะปัญหาอุปทานล้นเกินอุปสงค์จะรุนแรงอีกครั้ง

หากมีข้อตกลง อาจจะไม่ได้ทำให้ราคาน้ำมันดิบโลกวิ่งขึ้นไปสูงเกินขีดจำกัดราคาที่ 55 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล แต่ราคาจะแกว่งตัวในกรอบ 45-50 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลที่ถือว่าเป็นกรอบราคาที่ยอมรับได้

ผลลัพธ์ของความพยายามที่สำเร็จและล้มเหลวในการลดกำลังการผลิตน้ำมันเพื่อสร้างเสถียรภาพทางด้านราคาครั้งล่าสุดนั้น ก็เป็นเสมือนครั้งก่อนๆ ในรอบ 2 ปีนี้ คือ การหาทางออกจากภาวะอุปทานล้นเกินของน้ำมัน 

ตลอดทั้งปีนี้ นับแต่เดือนมีนาคม ที่ราคาน้ำมันดิบโลกดิ่งเหวทำจุดต่ำสุดในรอบ 5 ปี ก็มีความพยายามจากรัสเซียและเวเนซุเอลา ด้วยความเห็นพ้องจากหลายชาติโอเปกนำโดยซาอุดีอาระเบีย เพื่อสร้างข้อเสนอให้ลดผลผลิตน้ำมันโลกลง โดยมีความพยายามที่ล้มเหลวมาถึง 2 ครั้ง 

แม้จะเกิดความล้มเหลว แต่ข้อเท็จจริงที่น่าสนใจคือ ความพยายามดังกล่าวส่งผลให้ราคาน้ำมันแกว่งตัวกลับมายืนเหนือ 40 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลได้อีกครั้ง 

ความสำเร็จที่แท้จริงของข้อเสนอลดกำลังการผลิตน้ำมัน จึงเป็นเรื่องของการสร้างราคาในลักษณะ “เกมซื้อเวลาของผู้แพ้” ธรรมดา เพราะคนที่เข้าเล่นเกมนี้ รู้ดีว่า โอกาสที่จะบรรลุข้อเสนอลดกำลังการผลิตน้ำมันดิบลง ยากยิ่งกว่า “ภารกิจของซีสสิฟัส” ในการเข็นหินขึ้นภูเขาในตำนานกรีกโบราณ

การปล่อยข่าวออกมาเป็นระยะๆ หลายครั้ง (แม้จะตามมาด้วยความล้มเหลวเสมอ) มีผลทำให้ราคาน้ำมันดิบผันผวนขึ้นๆ ลงๆ แต่ก็สามารถขยับขึ้นมาแกว่งตัวอย่างค่อนข้างมีเสถียรภาพ

ผลลัพธ์ของการแกว่งตัวในกรอบแคบๆ ท่ามกลางการให้ข่าวเรื่องหารือตรึงการผลิตน้ำมันดังกล่าว ได้กลายเป็นสถานการณ์ปกติของปีนี้ บนรากฐานของคำถามที่ว่า บรรดาชาติผู้ผลิตน้ำมันขนาดใหญ่ของโลกมีการสมคบคิดกันเล่นเกมนี้ในลักษณะคนละบท หรือมีความขัดแย้งทั้งบนผลประโยชน์และโดยธรรมชาติ

ข้อเท็จจริงที่ปรากฏชัดว่า การเล่นข่าวประชุมตรึงผลผลิต มีส่วนช่วยให้รายได้จากการส่งออกมากเป็นพิเศษที่เกินระดับปกติ ทั้งที่เป็นสมาชิกโอเปกและไม่ใช่ ในรูปของการ “เล่นรอบเก็งกำไร” มากถึงหลายแสนล้านดอลลาร์สหรัฐ

การวิ่งขึ้นของราคาน้ำมันดิบที่สร้างรายได้มหาศาล ถือเป็น “โกหกสีขาว” ที่มีส่วนช่วยลดภาระทางการเงินการคลังของชาติส่งออกน้ำมัน โดยที่ไม่ต้องเหนื่อยยากกันเลย นั่นคือ การใช้ประโยชน์จากสงครามข่าวสารว่าด้วย ความพยายามสร้างเสถียรภาพของตลาด

การกระทำในลักษณะ “ตรึงราคาน้ำมันเทียม” เช่นนี้ เป็นไปตามทฤษฎีเกมที่มีต้นทุนต่ำอย่างยิ่ง แต่ให้สัมฤทธิผลที่สูง

เหตุผลสำคัญเบื้องหลังความสำเร็จในการตรึงราคาน้ำมันเทียมนี้ อยู่ที่ว่า ข้อตกลงตรึงผลผลิตน้ำมันไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาหลักของธุรกิจน้ำมันโดยตรง คืออุปสงค์ของตลาดต่ำกว่าอุปทาน และน้ำมันส่วนเกินก็จะยังคงกดดันราคาให้ไร้เสถียรภาพจนกว่าจะถึงปลายปีหน้า

ข้อตกลงตรึงผลผลิต เป็นเพียงข่าวที่เปิดทางให้กองทุนเก็งกำไรพากันออกแรงดันราคาน้ำมันขึ้นไป ทั้งที่มีคำถามตามมาว่า ดันขึ้นไปขายให้ใครกันแน่ แต่นั่นไม่ใช่ประเด็น เพราะราคาในตลาดเก็งกำไรจะสะท้อนออกมาที่ราคาซื้อขายน้ำมันจริงในตลาดโลก 

เกมเล่นข่าวสร้างราคาน้ำมันดิบให้พุ่งขึ้น เป็นเกมที่มีต้นทุนต่ำกว่าการกระทำอย่างอื่น เช่น การพยุงราคาน้ำมัน หรือการแทรกแซงตลาดด้วยทุนสำรอง หรือภาษีของประชาชนทั้งทางตรงและทางอ้อม หรือการสร้างสถานการณ์สงครามเทียมขึ้นมาเพื่อดึงราคาน้ำมัน อันเป็นเกมเก่าคร่ำคร่า ที่มีต้นทุนแพงลิ่ว อาจจะมีประสิทธิผลในระยะสั้นๆ ไม่ยั่งยืน แต่ก็ถือเป็นมายากลที่มีผลลัพธ์ทำให้เกิดการได้เสียผลประโยชน์เป็นรูปธรรม

ดังนั้น หากว่าวันที่ 30 พฤศจิกายนนี้ ไม่มีข้อตกลงลดผลผลิตน้ำมันเกิดขึ้น คงไม่แปลกอะไร เพราะมันจะต้องตามมาด้วยสงครามข่าวสารระลอกใหม่ด้วยการรื้อฟื้นข้อเสนอเดิมมาปัดฝุ่นใหม่

ส่วนจะได้ผลมากน้อยแค่ไหน ขึ้นกับว่า เหยื่อของเกมนี้ สามารถรู้ทันมากขึ้นแค่ไหน 

 

Back to top button