PTT ข่าวดีในข่าวร้ายแฉทุกวัน ทันเกมหุ้น

การตัดสินใจหยุดและพับแผนการลงทุนปิโตรเคมีคอมเพล็กซ์ขนาดใหญ่ของเครือบริษัท ปตท. ที่เมืองบินดินห์ ของเวียดนาม ถือเป็นข่าวร้ายอย่างแท้จริง แต่ในข่าวร้ายก็ซ่อนข่าวดีเอาไว้มิดชิด


การตัดสินใจหยุดและพับแผนการลงทุนปิโตรเคมีคอมเพล็กซ์ขนาดใหญ่ของเครือบริษัท ปตท. ที่เมืองบินดินห์ ของเวียดนาม ถือเป็นข่าวร้ายอย่างแท้จริง แต่ในข่าวร้ายก็ซ่อนข่าวดีเอาไว้มิดชิด

นายเทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT เปิดเผยว่า กลุ่มปตท.อาจจะต้องยกเลิกแผนการลงทุนโครงการโรงกลั่นและปิโตรเคมีคอมเพล็กซ์ มูลค่าการลงทุน 1-1.2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ (3.5.4 แล้านล้านบาท) ในจังหวัดบินดินห์

สาเหตุหลักมาจากทางจังหวัดบินดินห์ได้แจ้งอย่างไม่เป็นทางการว่า ขณะนี้ได้ตัดสินใจดำเนินการพัฒนาพื้นที่ใกล้เคียงบริเวณดังกล่าวเพื่อพัฒนาเป็นรีสอร์ทรองรับการเป็นแหล่งท่องเที่ยวแทน โดยหลังจากนี้บริษัทจะรอหนังสือแจ้งอย่างเป็นทางการอีกครั้งหนึ่ง

ธุรกิจท่องเที่ยว กับนิคมอุตสาหกรรมปิโตรเคมีคอมเพล็กซ์ ในพื้นที่เดียวกัน ย่อมเป็นไปไม่ได้ เพราะขัดแย้งกันโดยพื้นฐาน การเลือกจึงมีความหมายเชิงยุทธศาสตร์ยิ่ง ทั้งของเจ้าบ้านคือผู้ปกครองจังหวัดบิน ดินห์ และของ ปตท.อย่างแท้จริง

เงินของรัฐบาลท้องถิ่นที่จ้างให้บริษัทในเครือ ปตท.ใช้ (ไม่เปิดเผยตัวเลข) ในการศึกษาความเป็นไปได้ที่จะสร้างโครงการลงทุนขนาดใหญ่ในเวียดนามของปตท.รอบนี้ แม้จะเสียหายไปบ้างก็แค่ขนหน้าแข้งเส้นเล็กเท่านั้น หากพิจารณาในเชิงลึกอย่างรอบคอบจะเห็นได้ว่า หากเดินหน้าลงทุนตามแผนจริง อาจจะเป็น “ทุกขลาภ” ได้ง่ายๆ

4 ปีก่อน ปตท.ในยุค ดร.ไพรินทร์ ชูโชติถาวร ได้รุกเข้าเสนอแผนการลงทุนขนาดใหญ่มูลค่าในขณะนั้นมากถึง 8.8 แสนล้านบาท เพื่อสร้างโรงกลั่น-ปิโตรเคมี ครบวงจร ถือเป็นการลงทุนของต่างประเทศที่มีมูลค่าสูงเป็นประวัติการณ์ในเวียดนาม

รัฐบาลท้องถิ่นเมืองบินดินห์ของเวียดนามได้จ้างบริษัทย่อยของปตท. คือ บริษัท พีทีที เอ็นเนอร์ยี่ โซลูชั่นส์ จำกัด (PTTES) ศึกษาความเป็นไปได้ในการลงทุนโครงการโรงกลั่นและปิโตรเคมีครบวงจร มูลค่ารวม 2.87 หมื่นล้านดอลลาร์ โดยมีกำลังการผลิตโรงกลั่นน้ำมันอยู่ที่ประมาณ 6.6 แสนบาร์เรลต่อวัน (ติดอันดับ 1 ใน 5 ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก) มูลค่า 2.87 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือกว่า 880,000 ล้านบาท รวมทั้งแผนลงทุนปิโตรเคมีแบบครบวงจรด้วย โดยมีพันธมิตรร่วมทุนท้องถิ่นในโครงการนี้ด้วย รวมทั้งดึงซาอุดิ อารัมโก ยักษ์ใหญ่น้ำมันของโลกเข้าร่วมทุนด้วย

ปี 2558 ผลการศึกษาความเป็นไปได้แล้วเสร็จ และคาดว่าอีก 7 ปี เริ่มเดินหน้าโครงการ ได้ถูกนำเสนอให้รัฐบาลท้องถิ่นและรัฐบาลกลางเวียดนามพิจารณา

ในแผนดังกล่าว ปตท.เสนอว่าพร้อมสำหรับการลงทุน  โดยถือเป็นการเตรียมความพร้อมของปตท.สำหรับการเปิดประชาคมเขตเศรษฐกิจอาเซียนหรือเออีซี และ ตั้งเป้าจะเป็นท็อปแบรนด์ในธุรกิจพลังงานของอาเซียน ซึ่งที่ผ่านมาปตท.ได้เข้าไปทำธุรกิจค้าปลีกน้ำมันในหลายประเทศในอาเซียนแล้ว

ผลของการนำเสนอดังกล่าว ใช้เวลายาวนาน ก่อนจะมีคำตอบล่าสุดคือ ยกเลิกโครงการเบ็ดเสร็จ

การถูกปฏิเสธจากทางเวียดนามดังกล่าว ทำให้ ปตท.ไม่จำเป็นต้องวุ่นวายกับการสร้างอนาคตในต่างแดน ซึ่งมีปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้มากมาย (ความเหมาะสม ความจำเป็น และความสมเหตุผลของการลงทุน)

จังหวะเช่นนี้ ทำให้ความจำเป็นต้องระดมทุนหรือก่อหนี้ของ PTT ในอนาคตอันใกล้ไม่จำเป็นอีกต่อไป

ผสมกับจังหวะเหมาะเจาะที่ ปตท.ยุคใหม่ ปรับยุทธศาสตร์จากเดิม “ยิ่งโตยิ่งแกร่ง” มาเป็น “โตแล้วแตก” และ “แตกแล้วรวย” พอดี เรื่องมันก็ยิ่งง่ายเข้าไปกันใหญ่

ยุทธศาสตร์ของ ปตท. ที่จัดโครงสร้างใหม่ให้ PTT เป็นโฮลดิ้งสมบูรณ์แบบที่มีฐานะเป็นรัฐวิสาหกิจรายเดียว โดยแบ่งกลุ่มธุรกิจของบริษัทย่อยให้ชัดเจนแล้ว ให้บริษัทย่อยแต่ละแห่งทำหน้าที่เป็นเรือธง (Flagship) ของแต่ละธุรกิจในกลุ่มที่จะไม่ใช่รัฐวิสาหกิจอีกต่อไป และดำเนินการเชิงพาณิชย์ เพื่อให้เกิดการแข่งขันแบบเอกชนอย่างคล่องตัว

ดังนั้นในกรณีของเวียดนามที่เพิ่งเลิกราไป อนาคตจะต้องอยู่ในความรับผิดชอบของบริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) หรือ IRPC

เรียกว่าได้จังหวะตีชิ่ง พอดี…..เต้นฟุตเวิร์กสวย รอดจากการถูกหมัดน็อกเอาตัวรอดไปได้ โดยไม่ออกอาการให้เสียคะแนน…. ตามประสามวยหลัก

งานนี้ PTT ได้ตัวช่วยชั้นยอดอย่างนายสุกฤตย์ สุรบถโสภณ กรรมการผู้จัดการใหญ่ IRPC ที่ออกตัวมารวดเร็วฉับไวทันควันระบุว่า หากทางเวียดนามไม่ส่งเสริมจริงแล้ว กลุ่มบริษัทยังมีแผน 2 และ 3 รองรับอยู่ แต่จะไม่ย้ายโครงการนี้มาทำในไทยแน่นอน…..ไม่ต้องกังวล

การพลาดได้ลงทุนใน “ทุกขลาภ” อย่างนี้ น่าจะทำให้ อนาคตของ PTT และบริษัทย่อย ไม่ต้องกังวลกับภาระหนี้และต้นทุนการเงิน… ใครตีความว่าเป็นข่าวร้าย น่าจะคิดใหม่ได้แล้ว

“อิ อิ อิ”

Back to top button