จุดจบของโอเปกพลวัต 2016

แม้วานนี้ ต่างชาติจะกลับมาซื้อสุทธิในตลาดหุ้นไทยระลอกใหม่ ทั้งในหุ้น ตราสารอนุพันธ์ และตราสารหนี้ แต่ประเด็นดังกล่าว ยังไม่สำคัญเท่ากับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นกับคาร์เทลใหญ่ด้านน้ำมันอย่างโอเปก ที่กำลังจะมาถึงจุดหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญว่าอนาคตขององค์กรนี้ในอนาคตจะเป็นเช่นใด


แม้วานนี้ ต่างชาติจะกลับมาซื้อสุทธิในตลาดหุ้นไทยระลอกใหม่ ทั้งในหุ้น ตราสารอนุพันธ์ และตราสารหนี้ แต่ประเด็นดังกล่าว ยังไม่สำคัญเท่ากับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นกับคาร์เทลใหญ่ด้านน้ำมันอย่างโอเปก ที่กำลังจะมาถึงจุดหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญว่าอนาคตขององค์กรนี้ในอนาคตจะเป็นเช่นใด

เมื่อวานนี้ กลุ่มประเทศโอเปกประกาศอย่างเป็นทางการ ยกเลิกการประชุมผู้เชี่ยวชาญกับกลุ่มประเทศนอกโอเปกที่กำหนดให้มีขึ้นก่อนการประชุมสุดยอดระดับรัฐมนตรีในวันที่ 30 พฤศจิกายนนี้ 

การประกาศดังกล่าวเป็นผลพวงหลังจากซาอุดีอาระเบียซึ่งเป็นผู้นำของโอเปกมาโดยตลอด แจ้งว่าจะไม่เข้าร่วมการประชุมดังกล่าว เนื่องจากโอเปกจำเป็นต้องหาทางขจัดความเห็นที่แตกต่างภายในกลุ่มเสียก่อน

ตามกำหนดการเดิม การประชุมเมื่อวานนี้ระหว่างกลุ่มโอเปก และกลุ่มประเทศนอกโอเปกมีขึ้นในรัสเซียเพื่อให้มีการหารือดูว่ากลุ่มประเทศนอกโอเปกจะสามารถให้ความร่วมมือในการลดกำลังการผลิตน้ำมันได้จำนวนเท่าใด ก่อนที่เจ้าหน้าที่โอเปกจะประชุมอย่างเป็นทางการ เพื่อกำหนดโควตาของประเทศสมาชิกโอเปกเพื่อให้ได้ข้อสรุปต่อข้อตกลงปรับลดกำลังการผลิตน้ำมัน

ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น ทำลายความคาดหวังก่อนหน้านี้ว่า โอเปกจะสามารถบรรลุข้อตกลงในการประชุมที่กรุงเวียนนา ตามข้อเสนอในการประชุมที่กรุงอัลเจียร์สในเดือนกันยายน เพื่อลดกำลังการผลิตสู่ระดับ 32.5-33.0 ล้านบาร์เรล/วัน จากปัจจุบันที่ระดับ 33.6 ล้านบาร์เรล/วัน

ที่น่าสนใจก็คือ หลังจากข่าวนี้เกิดขึ้นมา ราคาน้ำมันดิบได้ดิ่งลงกว่า 2% ในช่วงแรก ขณะที่นักลงทุนส่งแรงเทขายจากความไม่มั่นใจว่ากลุ่มโอเปกจะสามารถบรรลุข้อตกลงลดกำลังการผลิตในการประชุมวันพุธนี้ แต้เป็นช่วงเวลาแสนสั้นเพราะต่อมา ราคาน้ำมันในตลาดเก็งกำไร กลับพุ่งขึ้นจากแรงซื้อโดยมีคำอธิบายในเวลาต่อมาที่ประหลาดอย่างยิ่งว่า เกิดจากการที่มีรายงานเข้ามาในตลาดว่า อิรักพร้อมให้ความร่วมมือกับสมาชิกในกลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมัน (โอเปก) เพื่อให้มีการบรรลุข้อตกลงที่ยอมรับได้สำหรับทุกฝ่าย

ความไม่แน่นอนดังกล่าว เป็นเรื่องที่นักเก็งกำไรต้องทำความคุ้นเคยและปรับสภาพกันอย่างรวดเร็วชนิดไม่มีเวลาคิดอะไรได้ทัน บางครั้งต้องทำตามสัญชาตญาณกันเลยทีเดียว เพื่อให้ทันกับการแกว่งของราคา 

ความมีเหตุผลของตลาดและการตีความของนักลงทุนที่เพี้ยนไปมาเช่นนี้ ไม่ใช่ครั้งแรก แต่เกิดขึ้นมาตลอดทั้งปีนี้

การที่กลุ่มโอเปกไม่สามารถรับมือสร้างเอกภาพขึ้นได้ เพราะอิหร่านและอิรัก ซึ่งเป็นผู้ผลิตอันดับ2 และ 3 ของโอเปก ยังคงยืนกรานที่จะไม่ร่วมมือลดกำลังการผลิตลง เว้นเสียแต่ ชาติสมาชิกโอเปกจะยอมรับสัดส่วนการผลิตแบบ “คงสถานะเดิม” คืออิหร่านก่อนถูกคว่ำบาตร และอิรักก่อนสหรัฐล้มรัฐบาลซัดดัม ฮุสเซน เป็นที่ทราบกันดีก่อนหน้านี้ แต่ก็ยังมีความคาดหวังลมๆ แล้งๆ ว่า ทั้งสองชาติอาจจะเปลี่ยนใจได้ หากได้รับการหยิบยื่นข้อเสนอที่เพียงพอจะเปลี่ยนใจได้

เอาเข้าจริงท่าทีของทั้งสองชาติก็ไม่มีการเปลี่ยนแปลง ยอมรับบท ”ผู้ร้าย” ในสายตาชาวโลกได้ต่อไป แต่ก็ทำให้ความคลุมเครือว่า จะมีข้อตกลงลดกำลังผลิตเพื่อส่งออกหรือไม่ มลายหายไป

การพุ่งขึ้นของราคาน้ำมันดิบเมื่อค่ำวานนี้หลังจากทราบข่าวร้ายที่เกิดขึ้น ทำให้มีคำถามว่า การคาดเดาว่าหากไม่มีข้อตกลงวันที่ 30 พฤศจิกายนที่จะถึงนี้ ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกคงจะกลับไปใต้40 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลอีกครั้ง เพราะปัญหาอุปทานล้นเกินอุปสงค์จะรุนแรงอีกครั้ง จริงหรือไม่ กลายเป็นปริศนาต่อไป

สิ่งที่แน่ชัดในระยะเฉพาะหน้าอยู่ที่ว่า หลังจากใช้ความพยายามนานกว่า 7 เดือนเพื่อประคองราคาน้ำมันด้วยข้อเสนอตรึงหรือลดกำลังการผลิตน้ำมันดิบเพื่อสร้างเสถียรภาพของราคาขึ้น  ผลลัพธ์ของความพยายามที่สำเร็จและล้มเหลว ก็จบลงที่เดิมอีกครั้ง

ตลอดทั้งปีนี้ นับแต่เดือนมีนาคม ที่ราคาน้ำมันดิบโลกดิ่งเหวทำจุดต่ำสุดในรอบ 5 ปี ก็มีความพยายามจากรัสเซียและเวเนซุเอลา ด้วยความเห็นพ้องจากหลายชาติโอเปกนำโดยซาอุดีอาระเบีย เพื่อสร้างข้อเสนอให้ลดผลผลิตน้ำมันโลกลง โดยมีความพยายามที่ล้มเหลวมาถึง 2 ครั้ง 

แม้ข้อเท็จจริงที่น่าสนใจคือ ความพยายามดังกล่าวส่งผลให้ราคาน้ำมันแกว่งตัวกลับมายืนเหนือ 40 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลได้อีก จนเสมือนหนึ่งว่า การทำสงครามชิงพื้นที่ข่าว และการปล่อยข่าวออกมาเป็นระยะๆ หลายครั้ง (แม้จะตามมาด้วยความล้มเหลวเสมอ) มีผลทำให้ราคาน้ำมันดิบผันผวนขึ้นๆ ลงๆ แต่ก็สามารถขยับขึ้นมาแกว่งตัวอย่างค่อนข้างมีเสถียรภาพ

ที่สำคัญ การเล่นข่าวประชุมตรึงหรือลดผลผลิต นอกจากทำให้ตลาดเก็งกำไรคึกคักจากการได้เสียแบบการพนันแล้ว ยังมีส่วนช่วยให้รายได้จากการส่งออกเพิ่มขึ้นเป็นพิเศษที่เกินระดับปกติ ทั้งที่เป็นสมาชิกโอเปกและไม่ใช่ ในรูปของการ “เล่นรอบเก็งกำไร” มากถึงหลายแสนล้านดอลลาร์สหรัฐ

ผลของความผันวนครั้งนี้ น่าจะส่งผลให้อนาคตของโอเปกในระยะยาวง่อนแง่นมากตามราคาน้ำมันและอนาคตของธุรกิจพลังงานจากฟอสซิลไปกับความแปรปรวนที่เพิ่มขึ้น

บางทีนี่อาจจะหมายถึงจุดจบอย่างไม่เป็นทางการโดยพฤตินัยของโอเปกได้เริ่มต้นขึ้นมาแล้ว

Back to top button