สวรรค์-นรก ห่างแค่เอื้อมพลวัต 2016

บ่ายถึงค่ำวานนี้ ราคาน้ำมันดิบในตลาดนิวยอร์กและเบรนท์ของยุโรป พลิกผันจากติดลบช่วงเช้ามาบวกแรงต่อเนื่องเกินกว่า 3 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล จากแรงซื้อเพราะคาดการณ์เชิงบวกว่า การประชุมโอเปกที่ป่านนี้คงรู้ผลไปแล้ว จะออกมาในทางที่ดีตามเป้าหมายคือ ลดกำลังการผลิตลงได้


บ่ายถึงค่ำวานนี้ ราคาน้ำมันดิบในตลาดนิวยอร์กและเบรนท์ของยุโรป พลิกผันจากติดลบช่วงเช้ามาบวกแรงต่อเนื่องเกินกว่า 3 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล จากแรงซื้อเพราะคาดการณ์เชิงบวกว่า การประชุมโอเปกที่ป่านนี้คงรู้ผลไปแล้ว จะออกมาในทางที่ดีตามเป้าหมายคือ ลดกำลังการผลิตลงได้

การคาดเดาในสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้น เป็นปรากฏการณ์ที่ไม่ต่างจากสถานการณ์ก่อนการลงประชามติของสหราชอาณาจักรออกจากสหภาพยุโรป และการเลือกตั้งของสหรัฐ ที่ผลลงเอยคล้ายกันคือ ตลาดคาดเดาผิดทั้งหมด จากผลลัพธ์ที่เกิดพลิกผันเป็นตรงกันข้าม

ก่อนการประชุมจะเริ่มขึ้น การคาดเดาของนักวิเคราะห์ว่า การประชุมจะลงเอยด้วยความล้มเหลว จากความแตกต่างมากเกินไป และการเล่นเกมช่วงชิงอำนาจนำของโอเปกของอิรักและอิหร่านจากการครอบงำมายาวนานของซาอุดีอาระเบีย ที่เป็นมากกว่าการเกทับในเกมไพ่โป๊กเกอร์ในบ่อนการพนันที่มีเดิมพันสูง แต่ภาษาที่ใช้ของบรรดาตัวแทนชาติชั้นนำของโอเปก ทำให้ตลาดไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากปรับท่าทีในการเก็งกำไรทันควัน จากการขายทิ้ง มาเป็นการซื้อกลับ

เวลา 18.06 น.ตามเวลาไทย สัญญาล่วงหน้าน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ส่งมอบเดือนมกราคม ซึ่งมีการซื้อขายทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ที่ตลาด NYMEX พุ่งขึ้น 2.75 ดอลลาร์ หรือ 6.08% สู่ระดับ 47.98 ดอลลาร์/บาร์เรล ทำสถิติทะยานขึ้นในวันเดียวมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนเมษายน จากการหยั่งดูท่าทีของนายคาหลิด อัล ฟาลีห์ รมว.พลังงานของซาอุดีอาระเบีย ที่แสดงความมั่นใจทั้งสีหน้าและคำพูดว่า โอเปกใกล้จะบรรลุข้อตกลงลดกำลังการผลิตน้ำมันแล้ว     

ท่าทีที่อ่อนลงของซาอุดีอาระเบียในการ “ยอมงอ ก่อนหัก” ของนายฟาลีห์ อยู่ที่การเปิดเผยว่า ซาอุดีอาระเบียเห็นพ้องให้อิหร่านตรึงกำลังการผลิตน้ำมันอยู่ที่ระดับก่อนถูกนานาชาติคว่ำบาตร โดยไม่ต้องลดกำลังการผลิตตามสมาชิกโอเปก บ่งชี้ถึงการประนีประนอมที่สำคัญยิ่งจากซาอุดีอาระเบีย ซึ่งก่อนหน้านี้ยืนกรานว่าอิหร่านจะต้องเข้าร่วมการปรับลดกำลังการผลิต

เป้าหมายของการประชุมสมาชิกทั้ง 14 ประเทศ ซึ่งโอเปกต้องการจะสร้างเอกภาพในการหาทางลดกำลังการผลิตสู่ระดับ 32.5 ล้านบาร์เรล/วัน หรือลดการผลิตลงมากกว่า 1 ล้านบาร์เรล/วัน (หลังจากที่ก่อนหน้านี้ โอเปกได้บรรลุข้อตกลงเบื้องต้นในการประชุมที่กรุงอัลเจียร์สในเดือนกันยายน) ขณะที่หวังว่ารัสเซีย และผู้ผลิตน้ำมันนอกกลุ่มโอเปก จะยอมร่วมมือลดการผลิตน้ำมันลง 600,000 บาร์เรล/วัน เพื่อให้ตลาดกลับสู่เสถียรภาพ

ท่าทีข้างต้นมีความหมายสำคัญยิ่งที่ตลาดต้องการ เพราะท่าทีต่อมาอย่างที่นายฟาลีห์พยายาม ”แทงกั๊ก” เพื่อรักษาหน้าของโอเปกว่า แม้ว่าโอเปกจะไม่บรรลุข้อตกลงกันในวันนี้ แต่ตลาดจะค่อยๆ ฟื้นตัวขึ้น เนื่องจากปัจจัยพื้นฐานกำลังปรับตัวไปในทิศทางที่ถูกต้อง เป็นข้อมูลเสริมที่ไม่มีความหมายอะไร

ตลาดหุ้นไทย ดูเหมือนจะเป็นหนึ่งในตลาดที่ฉับไวต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับราคาน้ำมันบ่ายวานนี้อย่างมาก เพราะแรงซื้อที่เข้ามาในชั่วโมงสุดท้ายของวานนี้อย่างหนาแน่นกว่า 3 หมื่นล้านบาท ทำให้ดัชนี SET ปรับตัวเป็นขาขึ้น โดยไม่สนใจกับแรงขายของต่างชาติกว่า 2.1 พันล้านบาทแม้แต่น้อย    

สัญญาณเทคนิคของตลาดที่เคยแกว่งตัวในกรอบแคบๆ มาหลายวันตลอดสัปดาห์นี้ กำลังเปลี่ยนทิศ แต่ไม่มีใครรู้ว่าเช้านี้ สัญญาณเทคนิคดังกล่าวจะผิดพลาดหรือแม่นยำแค่ไหน เพราะเป็นสถานการณ์ในช่วงชุลมุนที่มีโอกาสสุ่มเสี่ยงต่อการกำหนดตำแหน่งลงทุนเก็งกำไรอย่างมาก

เช้านี้ก็คงรู้กันแล้วว่า โลกจะล่มสลาย หรือขึ้นสวรรค์กันชัดเจน

ความไม่ชัดเจนของท่าทีชาติสมาชิกสำคัญของโอเปกในช่วงที่ผ่านมา มีความสำคัญมากเป็นพิเศษ เพราะยิ่งใกล้เวลาชี้ขาดมากเท่าใด ความคลุมเครือกลับมีบทบาทโดดเด่นกว่าปกติ

           ท่าทีที่ไม่ชัดเจนของชาติสมาชิกสำคัญของโอเปก ทำให้ตลาดผันผวน และหวั่นวิตกกับความล้มเหลวซ้ำซาก ท่ามกลางความพยายามหาทางออกที่ยังไม่สิ้นสุด

ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา รัฐมนตรีน้ำมันของแอลจีเรียและเวเนซุเอลา ที่รับผิดชอบประสานงานการเจรจาเพื่อลดกำลังการผลิตน้ำมันดิบล่าสุดนี้ ได้เดินทางไปทั่วโลกเพื่อหาทางออกจากปัญหาที่ชะงักงันในการเจรจาระหว่างชาติโอเปกสำคัญคือ อิหร่าน อิรัก และซาอุดีอาระเบีย โดยมีพี่เลี้ยงคนสำคัญคือ รัสเซีย โดย ประธานาธิบดี วลาดิเมียร์ ปูติน ที่ได้มีการพูดคุยทางโทรศัพท์กับผู้นำโอเปกหลายชาติ เพื่อยืนยันว่ารัสเซียพร้อมร่วมมือในการรักษาเสถียรภาพของตลาดน้ำมัน อีกทั้งยังแสดงความเห็นว่าการประชุมโอเปกครั้งนี้ มีความสำคัญต่อตลาดพลังงานอย่างมาก

เช้านี้ คำเตือนของนักวิจัยตลาดน้ำมันของยักษ์ใหญ่ด้านวาณิชธนกิจสำคัญระดับโลก โกลด์แมน แซคส์ ที่ระบุต้นสัปดาห์นี้ว่า สมาชิกโอเปกจะเผชิญกับการเจรจาต่อรองและทางเลือกสำคัญ 2 ทาง

ทางเลือกแรกที่ถือว่าเลวร้ายสุดๆ หากไม่มีการบรรลุข้อตกลงจากโอเปก สต๊อกน้ำมันดิบที่เพิ่มขึ้นจนถึงครึ่งปีแรกของปีหน้า จะทำให้ราคาอยู่ที่ระดับเฉลี่ย 45 ดอลลาร์/บาร์เรล ยืดเยื้อไปจนถึงช่วงฤดูร้อนปีหน้า

             ส่วนทางเลือกที่สอง ถ้าโอเปกสามารถบรรลุข้อตกลงลดการผลิตน้ำมันสู่ระดับ 32.5 ล้านบาร์เรล/วัน ตามหลักการเมื่อเดือนกันยายน ราคาน้ำมันดิบในอนาคตสั้นๆ ก็จะดีดตัวขึ้นทะลุกรอบ 50 ดอลลาร์/บาร์เรล เพียงแต่จะไม่เกินเพดาน 55 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เพราะหากเกินนั้นเมื่อใด จะทำให้ปริมาณผลผลิตน้ำมันดิบจากสหรัฐออกมาถ่วงดุลไว้เสมอ

            เช้าวันนี้ อะไรจะเกิดก็คงต้องเกิด ไม่มีสิทธิที่จะย้อนเวลากลับไปบอกว่า “รู้ยังงี้……..”ต่อไป

 

Back to top button