GRAMMY วิชาตัวเบาของอากู๋

เกมเอาตัวรอดจากหายนะทางการเงินและขาดแคลนสภาพคล่องของธุรกิจโทรทัศน์ดิจิตอล กำลังลุกลามเป็นเชื้อราที่ระบาดรุนแรง เหยื่อรายล่าสุดหนีไม่พ้น บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GRAMMY


แฉทุกวัน ทันเกมหุ้น

 

เกมเอาตัวรอดจากหายนะทางการเงินและขาดแคลนสภาพคล่องของธุรกิจโทรทัศน์ดิจิตอล กำลังลุกลามเป็นเชื้อราที่ระบาดรุนแรง เหยื่อรายล่าสุดหนีไม่พ้น บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GRAMMY

เมื่อวานนี้ผู้บริหารของ GRAMMY เปิดเผยว่า บริษัท เดอะ วัน เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด กิจการร่วมค้าที่ GRAMMY ถือหุ้นอยู่ในสัดส่วน 51% และกลุ่มนายถกลเกียรติ วีรวรรณ ถือหุ้น 49% ได้เพิ่มทุนจดทะเบียนใหม่ (จากทุนเดิม1,905.00 ล้านบาท) จำนวน 1,905 ล้านบาท โดยออกหุ้นเพิ่มทุน จำนวน 19.05 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 100 บาท ให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิม รวมถึงบริษัท ประนันท์ภรณ์ จำกัด ซึ่งจะเข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นหลังเพิ่มทุน ทำให้ วัน เอ็นเตอร์ไพรส์ มีทุนจดทะเบียนภายหลังการเพิ่มทุน 3,810.00 ล้านบาท

สำหรับบริษัท ประนันท์ภรณ์ จำกัด มีนางสาวปรมาภรณ์ ปราสาททองโอสถ เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ 99.98% ของหุ้นทั้งหมด

หลังจากการเพิ่มทุนจดทะเบียนตามขั้นตอนเสร็จแล้ว GRAMMY จะเป็นผู้ถือหุ้นใน วัน เอ็นเตอร์ไพรส์ จำนวน 25.50% ของทุนจดทะเบียน กลุ่มนายถกลเกียรติจะเป็นผู้ถือหุ้นใน วัน เอ็นเตอร์ไพรส์ จำนวน 24.50% ของทุนจดทะเบียน และประนันท์ภรณ์ จะเป็นผู้ถือหุ้นใน วัน เอ็นเตอร์ไพรส์ จำนวน 50% ของทุนจดทะเบียน

ทั้งนี้ ผู้ถือหุ้นทุกฝ่ายจะเข้าร่วมรับภาระค้ำประกัน และภาระหนี้ที่กลุ่ม วัน เอ็นเตอร์ไพรส์ มีต่อสถาบันการเงินตามสัดส่วนการถือหุ้นใน วัน เอ็นเตอร์ไพรส์ ซึ่งประกอบด้วย วัน เอ็นเตอร์ไพรส์ บริษัท จีเอ็มเอ็ม วัน ทีวี จำกัด (ช่อง ONE) และ/หรือบริษัทในเครือที่วัน เอ็นเตอร์ไพรส์ เข้าไปถือหุ้นเป็นจำนวนเกินกว่า 50% ของทุนจดทะเบียน

ข่าวดังกล่าวได้รับการตีความอย่างกว้างขวางเหมือนไฟลามทุ่งอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะประเด็นที่ว่า กลุ่มปราสาททองโอสถที่มีธุรกิจในเครือข่ายเป็นเจ้าของใบอนุญาตทีวีดิจิตอลช่อง PPTV จะเข้ามาถือหุ้นในบริษัทที่มีส่วนร่วมทางอ้อมในใบอนุญาตธุรกิจของทีวีดิจิตอลช่อง one ว่าผิดกติกาของ กสทช.หรือไม่

หากตัดประเด็นดังกล่าวไป ตัดตอนมาพิจารณาเฉพาะเรื่องธุรกิจแล้ว นี่คือกลยุทธ์ “วิชาตัวเบา” ของ “อากู๋” นายไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม เสาหลักของกลุ่มแกรมมี่ ที่ชัดเจนมาตลอด 2 ปีนี้

การใช้วิชาตัวเบาของอากู๋ครั้งล่าสุดนี้ ไม่ใช่ครั้งแรก และคงจะไม่ใช่ครั้งสุดท้าย แต่อย่าได้ถามว่า อากู๋ทำมากี่ครั้ง…เพราะนับไม่หวดไม่ไหว 

นับตั้งแต่ก้าวข้ามจากธุรกิจเพลงและบันเทิงที่โรยราลงไปเพราะเปลี่ยนยุคสมัย อากู๋ ที่เคยได้ชื่อว่าเป็นนักธุรกิจระดับ “พ่อมด” ในธุรกิจบันเทิงเมื่อทศวรรษก่อน ดูเหมือนจะเผชิญกับคำถามว่า “สัมผัสมหัศจรรย์ของกษัตริย์ไมดาส” ที่อากู๋เคยมี และเคยแตะต้องอะไรก็เป็นกำไรไปหมด ได้เสื่อมมนต์ไปแล้วหรือ

คำพูดเก่าแก่ที่ว่า “ยามสุข จะทยอยเข้ามา แต่ยามทุกข์ จะถาโถมเข้ามาเป็นชุด”…คืบคลานเข้ามาคุกคามฐานะการเงินของกลุ่มแกรมมี่ ถึงขั้นต้องปรับกลยุทธ์และยุทธศาสตร์กันอุตลุด เพื่อเล่นเกม “เอาตัวรอด” อย่างทุลักทุเล

ข่าวลือปนตลก (ที่ยังไม่มีใครกล้ายืนยันข้อเท็จจริง) ว่า สองปีนี้ พนักงานระดับบริหารของค่ายนี้ พยายามเร้นกายหลบลี้หนีหน้าอากู๋ จ้าละหวั่น เพราะเกรงว่า จะถูกอากู๋เกลี้ยกล่อมซื้อหุ้นเพิ่มทุนของ GRAMMY ….สะท้อนอารมณ์ร่วมสมัยของกิจการที่ถดถอยลงได้ดี

จากความมั่นใจที่เคยเกินร้อย เมื่อ 4 ปีก่อน ตอนที่เริมรุกเข้าสู่ธุรกิจทีวีดาวเทียม และตามมาด้วยสื่อดิจิตอล พร้อมกับการเพิ่มทุนรองรับความเสี่ยงล่วงหน้า ผลประกอบการของ GRAMMY (ที่เดิมมีบริษัทในเครือข่ายยั้วเยี้ยเป็นแม่ลูกดกหลายสิบราย) ปรากฏตัวเลขขาดทุนสุทธิต่อเนื่อง จนกระทั่งส่วนผู้ถือหุ้นร่อยหรอลง

รายได้ปกติจากการดำเนินงานที่ถดถอยลง แม้ว่าจะถูกวิศวกรรมการเงินทำให้ดูดีขึ้นในบางไตรมาส จากการขายเงินลงทุนในธุรกิจที่ “ไร้อนาคต” บ้าง หรือจากการลดจำนวนพนักงานลงเป็นระยะๆ ตามแผน “ตัดอวัยวะเพื่อรักษาชีวิต” ก็ทำได้แค่เพียงการซื้อเวลาผ่อนส่งหายนะให้เนิ่นนานออกไปเท่านั้น

ในเชิงรายได้ GRAMMY มีรายได้จากการดำเนินงานปกติลดลง (ยกเว้นรายได้จากบริษัทอย่าง O Shopping และรายได้จากค่าลิขสิทธิ์เพลง) แต่มีรายได้หลักจากกำไรพิเศษ 4 ทางคือ กำไรจากการขายเงินลงทุนในบริษัทย่อยขายเงินลงทุนในบริษัทร่วมค้า ขายเงินลงทุนระยะยาว และการสูญเสียการควบคุมในบริษัทย่อย (ทั้ง 4 รายการพิเศษนี้ มีรายได้เข้ามามากถึง 959.40 ล้านบาท)

สำหรับกรณีของวัน เอ็นเตอร์ไพรส์ แม้ดูอย่างผิวเผิน อาจจะมีฐานะการเงินไม่ได้เลวร้ายนัก แต่หากเจาะลึกลงในรายละเอียดจะพบว่า บริษัทใต้ร่มธงถัดไปคือ จีเอ็มเอ็ม วัน ทีวี จำกัด ผู้บริหารทีวีดิจิตอลช่อง one น่าสยดสยองอย่างมาก เพราะขาดทุนรุนแรง โดยปี 2557 ขาดทุนสุทธิ 480 ล้านบาท ในปี 2558 ขาดทุนมากถึง 1,020 ล้านบาท มีตัวเลขหนี้สินรวม  4,321 ล้านบาท และ ส่วนผู้ถือหุ้นติดลบมากถึง 373 ล้านบาทในปีนั้น

ส่วนในปี 2559  แม้ยังไม่ปรากฏงบการเงินให้เห็น แต่สำหรับคนวงในน่าจะรู้แล้วว่า “ไปต่อไม่ไหว” จำต้องยินยอมให้อากู๋ใช้  “วิชาตัวเบา” ซ้ำเพื่อปลดสัมภาระ ยินยอมให้คนภายนอกเข้ามาถือหุ้นเพิ่มทุน

การขายหุ้นเพิ่มทุนใน วัน เอ็นเตอร์ไพรส์  เพื่อให้กลุ่มปราสาททองโอสถ (ซึ่งใจป้ำมากที่ซื้อหุ้นในราคาพาร์ ทั้งที่สามารถบีบซ้ำต่ำกว่าพาร์ได้สบายๆ) เข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ จึงเป็นเรื่องไม่แปลกสำหรับอากู๋ยามนี้

เพราะ…วิชาตัวเบานั้น อากู๋สอบผ่านได้คะแนนเกรด A+ มาตลอด 2 ปีนี้

“อิ อิ อิ”

Back to top button