TRUE ดีทุกอย่าง ยกเว้น …

ปี 2559 ถือเป็นปีที่ดีมากสุดปีหนึ่งของ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE ผู้ให้บริการโทรคมนาคม สื่อโทรทัศน์ และไอที


แฉทุกวัน ทันเกมหุ้น

 

ปี 2559 ถือเป็นปีที่ดีมากสุดปีหนึ่งของ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE ผู้ให้บริการโทรคมนาคม สื่อโทรทัศน์ และไอที

เริ่มตั้งแต่ต้นปี สามารถจ่ายปันผลเป็นปีแรก นับแต่ก่อตั้งบริษัทมานานกว่า 3 ทศวรรษ แม้ว่าการจ่ายปันผลดังกล่าว แทบจะเรียกได้ว่า…. ไม่จ่ายเสียเลยจะดีกว่า

ก็อย่างว่า…. นั่นไม่สำคัญอะไร เพราะอย่างไรเสีย ก็มีหลักหมุดชัดเจนว่า TRUE นั้นทำกำไรเป็น และ   จ่ายปันผลกับใครเขาก็ทำได้ แม้ว่า หลังจากรับเงินปันผลเสร็จไม่กี่อึดใจ ผู้ถือหุ้นจะถูกเงื่อน “ถอนขน” ระลอกต่อไปในฉับพลัน จากการเพิ่มทุนอีก 60,000 ล้านบาท ผ่านตราสารพิสดาร  TSR จำนวน 15,000 ล้านหน่วย ตามสไตล์ทรูของแท้ ซึ่งเป็นการเพิ่มทุนแบบที่ไม่ซ้ำใคร และเลียนแบบได้ยาก

ถัดมาในกลางปี ข่าวดีที่รอคอยมายาวนานก็ได้รับการรับรองนั่นคือ ข้ออ้างว่าเป็นเจ้าของหมายเลขผู้ใช้บริการมือถืออันดับสอง แซงหน้าคู่แข่งที่หดตัวลงไปอย่างค่าย DTAC

หมดเวลาของการ “กินน้ำใต้ศอก” อันยาวนานเสียที

สำหรับคนทั่วไป ตำแหน่ง ที่สอง หรือที่สาม ไม่ได้มีความสำคัญ เพราะ อย่างไร ก็ยังไม่ใช่แชมป์อยู่ดี เพราะยังห่างไกลจาก “เจ้าตลาด” อย่าง ADVANC หลายขุม …แต่เรื่องนี้ เจ้าสัวน้อย นาย ศุภชัย เจียรวนนท์ ที่เป็นเบี้ยล่างมายาวนาน  มีความหมายยิ่ง

ถึงขั้นต้องจัดการประกาศใหญ่โต ไปเรียบร้อย… โดยมีลูกขุนพลอยพยักช่วยกันเสริมแต่งให้ หะ-รู หะ-รา ไปอีกขั้นตอนหนึ่ง

เดือนพฤษภาคม 2559 คือวันแห่งชัยชนะครั้งสำคัญในมุมมองของผู้บริหารค่าย TRUE เพราะว่า ได้รับอานิสงส์จาก นาย ฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ได้ทวีตข้อความอัพเดตข้อมูลใหม่ให้ทราบกันว่า จำนวนหมายเลขโทรศัพท์มือถือในประเทศไทยเพิ่มสูงขึ้นเป็น 102,942,458 เลขหมายแล้ว นำโดย ADVANC  42,193,716 เลขหมาย เป็นอันดับหนึ่ง รองลงมาเป็นกลุ่ม TRUE 31,038,487 เลขหมาย และสุดท้าย ได้แก่ DTAC 27,340,204 เลขหมาย

คำยืนยันจาก เลขาธิการ กสทช. ทำให้เกิดอาการครั่นเนื้อครั่นตัวจากค่าย DTAC ถึงขั้นต้องออกมาโต้แย้งในทำนอง “…. สงครามยังไม่จบ อย่าเพิ่งนับศพทหาร…”  ถือว่า เลขา กสทช. ล้ำเส้น เพราะเข้าข่าย “อาจเป็นการด่วนสรุปเกี่ยวกับอันดับของผู้ให้บริการในปัจจุบัน” แบบใจเร็วด่วนได้ ไปหน่อย

นายซิกวาร์ท โวส เอริคเซน รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มการตลาดของค่ายมือถือ DTAC ก็ได้ออกมา “มีเถียง” ในยามนั้นว่า DTAC ยังเป็นผู้นำที่มีส่วนแบ่งการตลาดเชิงรายได้ (Service Revenue Market Share) และส่วนแบ่งจำนวนผู้ใช้บริการมากเป็นอันดับ 2 โดยหากดูจากผลการดำเนินงานในไตรมาสแรกของปีนี้จะพบว่า DTAC มีจำนวนผู้ใช้บริการรวมเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนอย่างมีนัยสำคัญด้วย ซึ่งล้วนเติบโตจากทั้งกลุ่มผู้ใช้บริการระบบเติมเงินและระบบรายเดือนอย่างเป็นที่น่าพอใจ คิดเป็นจำนวนลูกค้าทั้งหมด 25.5 ล้านราย

ยัง ยังไม่พอ… DTAC ยังอ้างว่า ประสบความสำเร็จในการเพิ่มสัดส่วนผู้ใช้งานบริการข้อมูลของบริษัทเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 58 และเพิ่มสัดส่วนผู้ใช้อุปกรณ์สมาร์ทโฟนเป็นร้อยละ 63 ของฐานลูกค้าจากไตรมาสก่อนหน้า ที่สำคัญ เป็นครั้งแรกที่รายได้การให้บริการดาต้าเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 50 ของรายได้รวมจากการให้บริการ ไม่รวมค่าเชื่อมต่อโครงข่าย ซึ่งบ่งชี้ความต้องการในการใช้บริการดาต้ายังเติบโตแบบก้าวกระโดด

ช่วยไม่ได้จริงๆ เพราะนับแต่นั้นมาจนถึงยามนี้ TRUE ก็ยังยืนยันว่าได้กลายเป็นแบรนด์มือถืออันดับสองอย่างเป็นทางการไปแล้ว … เรื่องอื่นว่ากันทีหลัง

สิ้นไตรมาสสอง เจ้าสัวน้อย ศุภชัย  ออกมาย้ำว่า ทรูมูฟ เอช มีรายได้ในกลุ่มลูกค้าระบบรายเดือนเพิ่มขึ้น 30% และระบบเติมเงินเพิ่มขึ้น 41% จากไตรมาสเดียวกันปีก่อนหน้า ส่งผลให้รายได้จากการให้บริการในธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่เพิ่มขึ้นเป็น 14.3 พันล้านบาท และมีส่วนแบ่งตลาดรายได้เพิ่มขึ้น เป็น 23.6% ในขณะที่รายได้จากการให้บริการของผู้ประกอบการใหญ่รายอื่นมีจำนวนลดลงจากปีก่อนหน้า ขณะที่ฐานลูกค้ามีจำนวนเพิ่มขึ้นเป็น 21.5 ล้านราย ณ สิ้นไตรมาส 2

ขณะที่ ทรูออนไลน์ มีรายได้บริการบรอดแบนด์ในกลุ่มลูกค้าทั่วไปในไตรมาส 2 เติบโต 15% จากปีก่อนหน้า และผลักดันฐานลูกค้าบรอดแบนด์เพิ่มขึ้นเป็น 2.6 ล้านราย

ส่วนทรูวิชั่นส์ มีจำนวนสมาชิกเพิ่มขึ้นสุทธิในไตรมาส 2 ถึง 142,718 ราย ทำให้มีฐานลูกค้าเพิ่มขึ้นเป็น 3.4 ล้านราย อันเป็นผลจากความสำเร็จอย่างต่อเนื่องในตลาดระดับแมส รวมถึงความสำเร็จในการได้สิทธิ์ถ่ายทอดสด ฟุตบอลพรีเมียร์ลีก อังกฤษ บนช่องบีอินสปอร์ต ตลอด 3 ฤดูกาล ครบทุกแมตช์

พูดสรุปสั้นๆ คือ ดีทุกอย่าง โดยเฉพาะคำยืนยันจากนายวิลเลียม แฮริส หัวหน้าคณะผู้บริหารกลุ่มด้านการเงินของ TRUE ว่า โครงสร้างทางการเงินกำลังกลับมาแข็งแกร่ง (หลังการเพิ่มทุนรอบล่าสุดต้นปีนี้) ที่บรรดาแมงเม่าเจ็บกันถึงขั้นกระอักเลือด ออกมาเป็นลิ่มๆ)  โดยมีอัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อ EBITDA ลดลงมาเป็น 2 เท่า ทั้งนี้ การบริหารต้นทุน และค่าใช้จ่ายอย่างมีประสิทธิภาพ จะเป็นเป้าหมายหลักในการเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับสถานภาพทางการเงินและความสามารถในการทำกำไรของกลุ่มทรูต่อไป

พูดอย่างนี้ชวนเคลิ้มดีพิลึก ก่อนที่บรรดาผู้ถือหุ้นจะพากันตกสวรรค์ เพราะตัวเลขขาดทุนสุทธิไตรมาสสาม โผล่กลับมาให้เห็นอีก

ตัวเลขขาดทุนสุทธิไตรมาสสามของ TRUE 2,753.5 ล้านบาท แม้จะมีข้ออ้างว่าเป็นตัวเลขทางเทคนิคจากค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการขยายโครงข่าย และการให้บริการให้ครอบคลุมประชากรทั่วประเทศ รวมถึงการรับรู้ค่าตัดจำหน่ายใบอนุญาตใช้คลื่นความถี่ 900 MHz เต็มไตรมาส ก็มีผลทำให้ ราคาหุ้น TRUE เกิดอาการสะดุด ขาขึ้นถูกสะกัดยาวนานหลายเดือน

เหตุผลสำคัญคือ ช่องว่างระหว่างความเป็นจริงในงบการเงิน กับอหังการของผู้บริหารที่นำโดยเจ้าสัวน้อยศุภชัย ผ่านคำแถลงข่าวผลประกอบการที่ “เหนือจริง” มีมากเกินกว่าจะทำให้เกิดความเชื่อมั่นซ้ำซากแบบ “กินน้ำ ไม่เห็นปลิง”

การเลือกตัวเลข “เฉพาะ” ที่เห็นว่าสวยงาม อย่างเช่น EBITDA ที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ 53% จากช่วงเดียวกันปีก่อนหน้า เพราะรายได้จากการให้บริการที่เพิ่มขึ้นสูงต่อเนื่องของธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ มากถึง 19.8% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันปีก่อนหน้า ยังคงเป็นธุรกิจหลักที่ขับเคลื่อนการเติบโตอย่างแข็งแกร่งของกลุ่มทรู รวมทั้งข้ออ้างว่าในอนาคตจะมีรายได้จากการให้บริการ และ EBITDA เพิ่มขึ้น 32% และ 117% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันปีก่อนหน้าตามลำดับ เป็นผลจากจำนวนฐานลูกค้า และรายได้จากบริการนอนวอยซ์ที่เติบโต โดยไม่รวมกำไรจากการโอนเสาโทรคมนาคมใหม่เข้ากองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม ดิจิตอล (DIF) ในปี 2558

ราคาหุ้น TRUE ที่ไม่เคยกลับขึ้นไปเหนือ 8.00 บาทได้อีกในสองเดือนมานี้ คงบอกอารมณ์เส็งเคร็งของนักลงทุนได้ดี … และชัดเจน

นักลงทุนตาสว่างมากขึ้นกับเกมวิศวกรรมการเงินของ TRUE เพื่อรับรู้ว่าท้ายที่สุด บนเส้นทาง “เขาวงกต” ทุกอย่างก็หวนกลับไปสู่บทสรุปง่ายๆ เก่าแก่ว่า TRUE ภายใต้เจ้าสัวน้อยศุกชัยนั้น ยังคงยึดถือหลักการ “ดีทุกอย่าง ยกเว้นกำไร” เหนียวแน่น

เกมนี้ …. คุ้นจุงเบยนะ

“อิ อิ อิ”

Back to top button