จีนกับนกฟีนิกซ์ พลวัต 2016

ลำพังคำยืนยันแม้จะเป็นทางการของรัฐบาลจีน ที่ว่า เศรษฐกิจจีนกำลังเดินหน้าฟื้นตัวจากช่วงเวลาของการปรับดุลยภาพใหม่เพื่อก้าวสู่ยุคที่ไม่ต้องพึ่งพาแรงงานราคาต่ำอีกต่อไป ไม่เพียงพอจะทำให้เชื่อได้ว่า “จริง” ต้องมีคนภายนอกที่น่าเชื่อถือได้ มารับรองความชอบธรรมอีกหลายๆ ครั้ง


วิษณุ โชลิตกุล

 

ลำพังคำยืนยันแม้จะเป็นทางการของรัฐบาลจีน ที่ว่า เศรษฐกิจจีนกำลังเดินหน้าฟื้นตัวจากช่วงเวลาของการปรับดุลยภาพใหม่เพื่อก้าวสู่ยุคที่ไม่ต้องพึ่งพาแรงงานราคาต่ำอีกต่อไป ไม่เพียงพอจะทำให้เชื่อได้ว่า “จริง” ต้องมีคนภายนอกที่น่าเชื่อถือได้ มารับรองความชอบธรรมอีกหลายๆ ครั้ง

ล่าสุด ZEW ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยเศรษฐกิจชั้นนำของเยอรมนี สะท้อนการคาดการณ์ของผู้เชี่ยวชาญในตลาดการเงินระหว่างประเทศ ออกมาคาดการณ์ผลการวิจัยว่า เศรษฐกิจจีนจะปรับตัวขึ้นอย่างโดดเด่นช่วง 12 เดือนข้างหน้า โดยที่มีหลักฐานสนับสนุนเชิงปริมาณและคุณภาพที่บ่งชี้ว่า ดัชนีเศรษฐกิจมหภาคของจีน ได้ปรับตัวขึ้นสู่แดนบวกอีกครั้ง ที่ระดับ 5.0 จุด ในเดือนพฤศจิกายน แม้ว่าจะต่ำกว่าค่าเฉลี่ยระยะยาวที่ 5.4 จุดอยู่เล็กน้อย และยังคาดด้วยว่า อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจจีนในปีหน้าจะปรับตัวขึ้นเล็กน้อยเป็น 6.5%

ผู้เชี่ยวชาญที่ร่วมตอบแบบสำรวจตั้งข้อสังเกตว่า การส่งออกจะมีความสำคัญลดลง ในการขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจจีน ขณะที่การบริโภคภายในประเทศอาจกลายเป็นเสาหลักแทน

ข้อมูลดังกล่าวข้างต้น ตอกย้ำว่า จีนในยุคของสี จิ้นผิง และ หลี่ เค่อเฉียง ประสบความสำเร็จดีเกินคาดในการเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจเร็วกว่าที่ตั้งเอาไว้ ถือเป็นความสามารถพิเศษอย่างแท้จริง แม้ว่ายังมีปัญหาให้ต้องปรับปรุงอีกมากมายในอนาคตก็ตาม 

บทวิจัยดังกล่าว สอดรับกันพอดีกับข้อสรุปของงานวิจัยโดย PricewaterhouseCoopers Australia’s ในการประชุม Boao Forum for Asia ที่เมืองเมลเบิร์น ออสเตรเลีย วานนี้เช่นกันว่า การลงทุนในต่างประเทศเชิงยุทธศาสตร์ของจีนในอนาคตข้างหน้า มีความสำคัญยิ่งต่อทิศทางการเติบโตของเศรษฐกิจโลกยุคหลังวิกฤต รอบล่าสุดนี้อย่างยิ่ง

นอกจากนั้นยังมีตัวเลขที่น่าสนใจที่ประกาศออกมาเมื่อวานนี้จากหน่วยงานรัฐจีนเช่นกันว่า ตัวเลขการค้าระหว่างประเทศของจีน ได้เปรียบดุลการค้าลดลง 5.8% แม้ว่ามีตัวเลขการเติบโตของการส่งออกในเดือนพฤศจิกายนที่ดีขึ้นมากถึง 5.9% และการเติบโตของการนำเข้ามากถึง 13% เทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน โดยเฉพาะการค้ากับสหภาพยุโรปที่มีตัวเลขเพิ่มขึ้น 3.1% เป็นเดือนแรกของปีนี้เลยทีเดียว

ตัวเลขข้างต้นชี้ว่าจีนในฐานะชาติผู้ซื้อหลักของสินค้าทั่วโลกระดับหัวแถว มีส่วนทำให้เศรษฐกิจชาติคู่ค้าดีขึ้นหรือเลวลงได้ชัดเจนจากขนาดที่ใหญ่อย่างเศรษฐกิจจีน

การนำเข้าสินค้าที่เพิ่มมากขึ้น และส่งออกทุนไปต่างประเทศมากขึ้นของจีน คือบทบาทสำคัญในยุคฟื้นตัวหลังปรับดุลยภาพที่มีความหมายในอนาคตอย่างยิ่ง ในยามที่สหรัฐในยุคของโดนัลด์ ทรัมป์ ชูคำขวัญว่าด้วย ”อเมริกามาก่อน” ซึ่งมีความหมายว่าเป็นการถอนตัวจากการสร้างอิทธิพลในขอบเขตทั่วโลกที่ต่างจากในอดีตอย่างมีนัยสำคัญ

ข่าวดีเกี่ยวกับเศรษฐกิจจีน มีออกมาเรื่อยๆ ในหลายเดือนนี้ ตอกย้ำว่า จีนที่หายป่วย (แม้ยังไม่ 100%) จะเร่งอิทธิพลของจีนต่อโลกในทางบวกมากขึ้นนับจากปลายปีนี้ไปเลยทีเดียว ถือว่ามาได้ทันเวลา และสถานการณ์พอเหมาะพอเจาะ

ตัวเลขในช่วงไตรมาสสามของจีนเป็นต้นมา นับตั้งแต่ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม การลงทุนในสินทรัพย์คงที่ ยอดค้าปลีก และผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของจีน ล้วนออกมาเป็นแนวบวกทางเดียวกันทั้งสิ้น ต่างจากเมื่อปีก่อนที่เต็มไปด้วยข้อเท็จจริงที่สวนทางกันอย่างทำให้อลหม่านมากกว่าน่าเชื่อถือ

ตัวเลขที่โดดเด่นและพึ่งพาตัวเอง ในขณะที่เปิดอ้าแขนรับการเปลี่ยนแปลงที่มาจากอิทธิพลของต่างประเทศ ส่งสัญญาณชัดเจนอีกครั้งให้ทุนข้ามชาติที่ล้นเกินทั่วโลกถูกดูดซับเข้ามาในจีนในปีนี้และปีหน้ายาวนานเติมความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจระดับใหม่ ที่ไม่ต้องพึ่งพาแรงงานราคาถูกเหมือนในอดีต

ขนาดที่ใหญ่มหึมาของเศรษฐกิจจีน ทำให้เคยมีคำพังเพยว่า เมื่อจีนหายป่วย โลกก็พร้อมสำหรับการฟื้นตัวจริงจังมากขึ้น ไม่ว่าใครจะชื่นชอบ หรือหวาดวิตกก็ตาม

Back to top button