บุคคล (แฉ) แห่งปี (2)แฉทุกวัน ทันเกมหุ้น

คนบัญชา อาจไม่สู้ฟ้าลิขิต แต่ในตลาดหุ้นไทย บุคคลที่โดดเด่นอยู่เบื้องหลังราคาหุ้นและกิจกรรมการซื้อขายของตลาด ไม่เคยร้างรา แต่บุคคลที่ถือว่านับนิ้วได้ผลโดดเด่นเหนือคนอื่นๆ และเป็นคนที่ถือว่าเป็น "ดาวเด่น" ตลอดปีที่ผ่านมา และคาดว่าจะยังคงปรากฏตัวให้แฉกันต่อไปในฐานะผู้สร้างสตอรี่เด่นของตลาด สมควรถูกคัดสรรที่เพื่อจับตากัน และบันทึกเอาไว้ในฐานะคนสร้างข่าวชั้นยอดที่มีสีสันให้กับตลาดหุ้นไทยได้มีชีวิตชีวา สมกับเป็นตลาดที่โดดเด่นของอาเซียน


คนบัญชา อาจไม่สู้ฟ้าลิขิต แต่ในตลาดหุ้นไทย บุคคลที่โดดเด่นอยู่เบื้องหลังราคาหุ้นและกิจกรรมการซื้อขายของตลาด ไม่เคยร้างรา แต่บุคคลที่ถือว่านับนิ้วได้ผลโดดเด่นเหนือคนอื่นๆ และเป็นคนที่ถือว่าเป็น “ดาวเด่น” ตลอดปีที่ผ่านมา และคาดว่าจะยังคงปรากฏตัวให้แฉกันต่อไปในฐานะผู้สร้างสตอรี่เด่นของตลาด สมควรถูกคัดสรรที่เพื่อจับตากัน และบันทึกเอาไว้ในฐานะคนสร้างข่าวชั้นยอดที่มีสีสันให้กับตลาดหุ้นไทยได้มีชีวิตชีวา สมกับเป็นตลาดที่โดดเด่นของอาเซียน

พื้นที่อันจำกัด ของ “แฉทุกวันฯ” จึงต้องแบ่งนำเสนอเป็น 2 วัน วันละ 5 บุคคล ตอนนี้เป็น 5 คนสุดท้าย

……………..

อภินันท์ เกลียวปฏินนท์  พูดด้วยฝีมือ

4 ปีผ่านไปกับการจัดการบ้านใหม่หลังการควบรวมกิจการฉันมิตร ระหว่าง ธนาคารเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน) หรือ KK กับกลุ่มภัทร พร้อมกับการใช้ชื่อรหัสในการซื้อขายหุ้นใหม่เป็น KKP 

ปี 2559 ภายใต้การนำของทีมบริหารที่มีเอกภาพ KKP กลับมามีผลงานทำกำไรจากโครงสร้างเฉพาะของธุรกิจที่ไม่ซ้ำแบบใคร ทั้งจากการดำเนนงานปกติ และกำไรพิเศษ จนทำให้ราคาหุ้นท้ายปี 2559 ปิดเหนือ 50.00 บาทแข็งแกร่ง เด่นเหนือหุ้นธนาคารพาณิชย์ด้วยกัน สะท้อนว่าเส้นทางสร้างพลังผนึกดำเนินมาถูกต้อง เพราะแม้จะไม่ใช่ธนาคารขนาดใหญ่สุด แต่อัตรากำไรสุทธิจากปีก่อนที่ 16.8% เป็น 25.6% สะท้อนความสามารถของการบริหารจัดการที่ยอดเยี่ยมอย่างเด่นชัด โดยไม่ต้องโอ้อวดในความสามารถด้วยตนเอง

บนเส้นทางเช่นนี้ น่าจะทำให้เส้นทางปี 2560 ของ KKP โลดแล่นน่าจับตายิ่งขึ้น

 

จอมทรัพย์ โลจายะ นักฝันผู้ยิ่งใหญ่

ความใฝ่ฝันเหลือเชื่อของ ประธานกรรมการบริษัท ซุปเปอร์บล๊อก จำกัด (มหาชน) หรือ SUPER หลังจาก 3 ปีที่ผ่านมาได้อดทนต่อการขาดทุน จากทุ่มลงทุนไปถึง 4 หมื่นกว่าล้านบาท   เริ่มทยอยผลิดอกออกผลอย่างช้าๆ จนผลประกอบการสิ้นสุดไตรมาสสามของ SUPER (30 ก.ย.59) บริษัทมีกำไรสุทธิ 312.14 ล้านบาท จากการที่สามารถจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์แล้วประมาณ 675.9 เมกะวัตต์ และแม้จะพลาดเป้า 1,000 เมกะวัตต์ไป แต่ก็ถือเป็นช่วงเวลาการเทิร์นอะราวด์ของ SUPER แล้วยังมีเป้าหมายขยายการลงทุนโรงไฟฟ้าในต่างประเทศ ซึ่งจะช่วยเพิ่มศักยภาพในการหารายได้ในอนาคต ทดแทนรายได้จากในประเทศที่เริ่มลดน้อยลง คาดว่า ต้องใช้เงินลงทุนไม่ต่ำกว่า 5 หมื่นล้านบาท

แม้การเทิร์นอะราวด์ธุรกิจจะเดินหน้า แต่การที่ราคาหุ้น SUPER ไม่สามารถทะลุเหนือ 4.00 บาท ทำให้โอกาสที่จะมีคนแปลงสิทธิ SUPER-W3 ในราคาแปลง 4.00 บาทครั้งสุดท้ายปลายเดือนมีนาคม ที่จะทำให้มีเงินสดเข้าใช้ในกิจการ 8.0 พันล้านบาท ล้มเหลวลง ทำให้นายจอมทรัพย์ต้องเร่งแก้ไขสถานการณ์ ด้วยการระบุว่า 1)จะตั้งกองทุน IFF ขนาด 12,000 ล้านบาท แล้วเอาโรงไฟฟ้าในกลุ่มตั้งเป็นบริษัท  แล้วขายทรัพย์สินเข้ากองทุน 1.2-1.8 หมื่นล้านบาท  2) แยกกิจการไฟฟ้า ซุปเปอร์ โซล่าร์ เอนเนอร์ยี เข้าจดทะเบียนในตลาด แล้วดัดแปลง SUPER กลายเป็นโฮลดิ้ง 

SUPER ในกำมือของจอมทรัพย์ จึงต้องลุ้นกันต่อไป

 

ปรีญาภรณ์ ตั้งเผ่าศักดิ์ นักธุรกิจแห่งอนาคต

จากธุรกิจเดิมที่ทำการรับเหมาตกแต่งภายใน หญิงสาวตัวเล็กๆ พากิจการเปลี่ยนมาสู่ธุรกิจโทรคมนาคม จากการขายอุปกรณ์เทเลคอม และวางระบบเทเลคอมระดับ “ก้าวหน้า” จากโอกาสที่เปิดโล่งให้กลายเป็น บริษัท เอแอลที เทเลคอม จำกัด (มหาชน) หรือ ALT บริษัทที่มีอนาคตสดใสจากการเป็น network provider ระดับหัวแถวของไทย จากแผนการวางโครงข่ายโทรคมนาคม โดยมุ่งเจาะลูกค้าที่เป็นโอเปอเรเตอร์ จากการได้รับสัมปทานเดินสายเครือข่ายเคเบิลใยแก้วเทเลคอมทั่วประเทศนาน 30 ปีตามเส้นทางรถไฟทั้งเหนืออีสาน ใต้ และตะวันออก เป็นเครือข่ายกระดูกสันหลังของเครือข่ายก้างปลาอื่นๆ แถมยังได้งานสร้างโครงข่าย เทเลคอมในเครือข่ายทางด่วนของ BEM อีก ซึ่งหากติดตั้งเสร็จเมื่อใด จะเป็นโครงข่ายใหญ่สุดในประเทศ พร้อมเปิดช่องให้พันธมิตรธุรกิจมุ่งเจาะตลาดติดตั้งระบบเทเลคอมให้ลูกค้าที่เป็นบรรษัทหรือคอร์ปอเรตแทน จุดแข็งดังกล่าวอาจจะเห็นไม่ชัดในปี 2559 แต่จะเห็นผลลัพธ์ในปี 2560 นี้เต็มที่ เป็นหุ้นแห่งอนาคตที่พลาดไม่ได้ด้วยประการทั้งปวง

 

รพี สุจริตกุล  โบแดงอินไซเดอร์

เลขาธิการ ก.ล.ต. คนปัจจุบัน สร้างผลงานโบแดงอีกครั้งด้วยการใช้ช่องทางผลักดันแก้ไขกฎหมายหลักทรัพย์ใหม่ที่มีสาระสำคัญที่การ “กำจัดจุดอ่อน” ของปัญหาการใช้ข้อมูลวงในเพื่อหาประโยชน์จากการเอารัดเอาเปรียบนักลงทุนอื่นๆ ที่ดำรงมายาวนาน

สาระสำคัญของกฎหมายหลักทรัพย์ฯ แก้ไขใหม่ มี 2 ส่วนคือ การกระทำความผิดเกี่ยวกับพฤติกรรมในตลาด หรือ Market Misconduct กับที่ว่าด้วยการลงโทษผู้ที่กระทำความผิด ที่ขยายความถึงกลุ่มคนในวงกว้างขึ้นจากเดิม ที่หาประโยชน์จาก Non-public Information โดยเพิ่มคนที่รับข้อมูลไปใช้ประโยชน์ไม่ชอบด้วย แต่สาระที่ถูกวิพากษ์รุนแรง คือ ว่าด้วยการเปิดเผยข้อมูลที่ยังไม่ได้เปิดเผยต่อสาธารณะ (คือ ตลาดหลักทรัพย์ฯ) หรือ Non-public Information ที่ทำให้เกิดความหวาดวิตกในบรรดานักวิเคราะห์ สื่อมวลชน และผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนทั้งหลาย ว่าจะกระทำตนอย่างไร จึงจะไม่ถือว่าผิดกฎหมายที่กำหนด แต่ในที่สุด กฎหมายฉบับแก้ไขก็ผ่านมาบังคับใช้จนได้ รอเวลาอยู่ว่า ใครจะประเดิมตกเป็นเหยื่อที่ถูกลงโทษก่อนรายอื่น

 

วิชัย ถาวรวัฒนยงค์ และสิทธิชัย  พรทรัพย์อนันต์ วงแตกพาจน

ตำนานของ IFEC ยุคที่สอง ที่ปั้นแต่งมาเป็นหุ้นพลังงานทางเลือก บริษัท อินเตอร์ ฟาร์อีสท์ เอ็นเนอร์ยี่ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) จากชื่อเดิม ภายใต้กลุ่มสหพัฒน์ที่หมดอนาคตจากธุรกิจเครื่องถ่ายเอกสาร ทำท่าจบลงไม่สวย เมื่อ 2 แกนหลักของกลุ่มที่เข้ามาสร้างตำนานใหม่นำโดย นพ.วิชัย ถาวรวัฒนยงค์ ประธานกรรมการ IFEC และนายสิทธิชัย พรทรัพย์อนันต์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารเกิดรายการ “วงแตก” เพราะผลประโยชน์ไม่ตรงกัน

หลังจาก นายสิทธิชัย ยื่นหนังสือลาออกจากตำแหน่งกะทันหัน เพราะมีข้อมูลยืนยันว่าทั้งนพ.วิชัยและนายสิทธิชัย ต่างแย่งกันปฏิบัติการ “ขายหุ้นทิ้ง” ในลักษณะการเข้ามาซื้อและขายหุ้นทั้ง “ซื้อเช้าขายบ่าย” หรือ “ซื้อบ่ายขายเช้า” สลับกันมาโดยตลอด จนเหลือถือหุ้นรายละต่ำกว่า 5% ก็ยังทิ้งปัญหาเอาไว้ 2 เรื่องใหญ่คือ 1) ความไม่ชอบมาพาพากลในการซื้อโรงแรมดาราเทวี ที่เชียงใหม่ 2) ภาระหนี้ตั๋วบี/อีที่ครบกำหนดชำระกับเจ้าหนี้บางราย

การแถลงข่าวและสัมภาษณ์สาดโคลนใส่กันของคนทั้งคู่ (รวมทั้งว่าจ้างประชาสัมพัน์ส่วนตัวเพื่อทำสงครามบนพื้นที่สื่อ)  เป็นฉากละครที่สะท้อนอนาคตอันหมิ่นเหม่ของ IFEC ได้ชัดเจน และคาดจุดลงเอยของ IFEC ไม่ยากว่า ในปี 2560 ไม่จบแบบสวยงามแน่นอน

Back to top button