พาราสาวะถี อรชุน

เป็นประเด็นที่สังคมต้องตั้งวงวิเคราะห์ สังเคราะห์กันว่าเห็นด้วยหรือไม่ ต่อกรณีที่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา พร้อมที่จะใช้มาตรายาวิเศษ ม.44 ตามที่กระทรวงการคลังเสนอให้ลดโทษแก่ผู้จ่ายสินบนต่อเจ้าหน้าที่รัฐ เพื่อที่จะได้มีคนกล้ามาเป็นพยาน ในการนำไปขยายผลเพื่อเอาผิดกับผู้ที่รับสินบนต่อไปได้ พูดง่ายๆ ว่า จะได้มีใบเสร็จเป็นหลักฐาน


เป็นประเด็นที่สังคมต้องตั้งวงวิเคราะห์ สังเคราะห์กันว่าเห็นด้วยหรือไม่ ต่อกรณีที่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา พร้อมที่จะใช้มาตรายาวิเศษ ม.44 ตามที่กระทรวงการคลังเสนอให้ลดโทษแก่ผู้จ่ายสินบนต่อเจ้าหน้าที่รัฐ เพื่อที่จะได้มีคนกล้ามาเป็นพยาน ในการนำไปขยายผลเพื่อเอาผิดกับผู้ที่รับสินบนต่อไปได้ พูดง่ายๆ ว่า จะได้มีใบเสร็จเป็นหลักฐาน

หากมองในมิติเดียวถือเป็นการสร้างแรงจูงใจ แต่หากพิจารณาให้รอบด้านมันก็เหมือนดาบสองคม ดังที่มีเสียงวิจารณ์มาจากหลายๆ คนโดยเฉพาะจากฝ่ายการเมือง เริ่มจาก อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่เห็นว่า น่าเป็นห่วง ว่าในเมื่อเป็นความผิดจะเป็นเรื่องยากที่จะได้พยานหลักฐาน เพราะคนที่ให้สินบนก็คือผู้กระทำผิดด้วย แต่อีกทางหนึ่ง หากปราศจากความผิดจะเป็นการส่งสัญญาณที่ไม่ดีเท่ากับว่าการจ่ายสินบนไม่ใช่ความผิด

ขณะที่ พิชัย นริพทะพันธุ์ มองว่าเรื่องดังกล่าวเป็นการแก้ตัวและแก้ไขปัญหาหลังจากที่ดัชนีชี้วัดภาพลักษณ์คอร์รัปชั่นโลก ปี 2559 คะแนนไทยร่วงจาก 38 เป็น 35 อันดับตกจาก 76 เป็น 101 จาก 176 ประเทศ ทำให้สังคมมองว่าเกิดการทุจริตกันมาก ปัญหาคอร์รัปชั่นเป็นเรื่องที่อยู่ในสังคมไทยมาโดยตลอด การจะใช้ ม.44 มาแก้กฎหมายคอร์รัปชั่นจะเป็นเรื่องที่ไม่ยั่งยืน

ก่อนที่จะชี้ต่อไปว่า ที่ผ่านมาปัญหาการคอร์รัปชั่นส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นมากในช่วงที่ประเทศไม่เป็นประชาธิปไตย มากกว่าช่วงที่ประเทศเป็นประชาธิปไตย เพราะรัฐบาลจากการเลือกตั้งสามารถถูกตรวจสอบจากฝ่ายค้านได้ตามกลไกลรัฐสภา พร้อมจี้ใจดำผู้มีอำนาจเวลานี้ด้วยว่า ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นที่ผ่านมา 2 ปี ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องที่มาจากรัฐบาลนี้และคนในรัฐบาลนี้เสียเอง อย่างกรณี จีที 200 อุทยานราชภักดิ์ การขุดลอกคลองขององค์การทหารผ่านศึก และปมเรือเหาะ

ถ้าบิ๊กตู่จะใช้ม.44 เพื่อแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการทุจริต ย่อมมีคำถามต่อมาว่า จะใช้กับคนกลุ่มใด ต่อกรณีการทุจริตตามที่ได้กล่าวมาข้างต้น สังคมรู้แล้วว่ามีการทุจริตจริง แต่รัฐบาลจะกล้าใช้กับเรื่องเหล่านี้หรือ นี่คือบทพิสูจน์ที่ท้าทาย ต้องไม่ลืมว่า เรื่องของธรรมาภิบาลหรือความโปร่งใสนั้น บางครั้งมันไม่ได้อยู่แค่ว่าจะใช้กฎหมายจัดการอย่างไร แต่มันอยู่ที่สำนึกของคนคนนั้นด้วย

เหมือนอย่างหลายกรณี มีความผิดพลาดอย่างชัดเจน ปมจีที 200 อธิบายภาพได้อย่างเด่นชัดมากที่สุด เพราะขณะที่ศาลอังกฤษสั่งยึดทรัพย์และลงโทษเจ้าของบริษัทที่หลอกขายเครื่องตรวจวัตถุกำมะลอนี้ แต่ปรากฏว่า ประเทศไทยซึ่งมีหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดซื้ออุปกรณ์ห่วยแตกนี้ กลับยังไม่มีใครถูกเล่นงานหรือมีกระบวนการในการเอาผิดให้เห็นเป็นรูปธรรม

ที่ต้องตอบคำถามสังคมมากที่สุดก็คือองค์กรตรวจสอบการทุจริตของประเทศอย่างป.ป.ช. ถ้าจะใช้เหตุอ้างว่ามันมีความสลับซับซ้อน พิสูจน์ไม่ได้ว่าเครื่องดังกล่าวใช้งานได้จริงหรือไม่ คำพิพากษาของศาลอังกฤษน่าจะเป็นหลักฐานอันสำคัญ แต่เมื่อเลือกที่จะเงียบโดยหวังให้สังคมลืมๆ เรื่องนี้ไปเสีย มันย่อมกระทบต่อภาพลักษณ์ความน่าเชื่อถือขององค์กรอย่างช่วยไม่ได้

ประเด็นสำคัญของกระบวนการตรวจสอบการทุจริตและเอาผิดผู้กระทำผิดในบ้านเรา มันหาใช่เรื่องที่จะไปแก้กฎหมายเพื่อให้เกิดความร่วมมือจากคนติดสินบน หากแต่มันอยู่ที่การบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด เคร่งครัดและไม่เลือกปฏิบัติต่างหาก ถ้าตัดปัญหาเรื่องการลูบหน้าปะจมูกไปได้ ฟันธงไว้เลยว่า ไม่จำเป็นต้องไปรื้อหรือเปลี่ยนแปลงกฎหมายใดๆ

เหมือนอย่างที่ ชาญชัย อิสระเสนารักษ์ อดีตส.ส.นครนายก พรรคประชาธิปัตย์ ตั้งข้อสังเกต มีปัญหาการทุจริตบานปลายในรัฐวิสาหกิจของประเทศไทย กรณีสินบนโรลส์-รอยซ์กับการบินไทย ที่พบว่าการตรวจสอบของบ้านเราไม่คืบหน้า ขณะที่อินโดนีเซียตรวจสอบและมีรายชื่อคนทุจริตหลังจากที่ปรากฏเป็นข่าวแค่ 1-2 สัปดาห์

มาจนป่านนี้ป.ป.ช.ไทยยังไม่สามารถตั้งอนุกรรมการสอบสวนได้ โดยระบุว่าต้องรอรายชื่อและข้อมูลจากสำนักงานสืบสวนการฉ้อฉลรุนแรงแห่งสหราชอาณาจักรหรือเอสเอฟโอ สาเหตุที่งานปราบปรามทุจริตของไทยไม่สำเร็จเท่าที่ควร เพราะเราไม่บังคับใช้กฎหมายที่มีอยู่ซึ่งมีความก้าวหน้ามาบังคับใช้อย่างมีประสิทธิภาพ

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ กฎหมายป.ป.ช.มีการแก้ไขรวม 3 ครั้ง มีการพัฒนาโดยยึดโยงกับสนธิสัญญาต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นของสหประชาชาติปี 2003 ที่ไทยร่วมเป็นภาคีสมาชิก เป็นกฎหมายสากลเชื่อมโยงกับกฎหมายป.ป.ช.ทั่วโลก และกฎหมายป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินหรือปปง. แต่องค์กรตรวจสอบไทยกลับต่างคนต่างทำ

น่าสนใจต่อบทสรุปของชาญชัยที่บอกว่า ท่านผู้นำอย่าลอยตัวเหนือปัญหา ปล่อยหน้าที่ให้รัฐมนตรียุติธรรมดูแลศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติหรือศอตช. โดยไม่มีการประชุมแก้ไข ปัญหาการทุจริตที่บานปลาย คนที่เป็นนายกฯต้องไม่ใช่แค่แตะๆ แล้วสร้างภาพ ขณะที่ป.ป.ช.ไทยก็อืดเป็นเรือเกลือไม่บังคับใช้กฎหมายที่มีอยู่ให้ชัดเจน

ที่เป็นปัญหาแค่น้ำจิ้ม ถ้าสาวลึกลงไปแล้วยิ่งจะเจอช่องโหว่อีกมากมาย อยู่ที่ว่าผู้มีอำนาจและผู้บังคับใช้กฎหมายจะยอมรับความเป็นจริงเหล่านั้นหรือไม่ เหมือนกรณีรองอธิบดีไปลักทรัพย์ของโรงแรมที่ญี่ปุ่น มีความพยายามที่จะปกป้องและโฆษณาชวนเชื่อของผู้มีอำนาจ เพื่อให้ยอมรับว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ไม่ร้ายแรง อีกทั้งหยิบเอากฎระเบียบของทางราชการมาใช้เป็นข้ออ้าง

กรณีนี้ นาวาอากาศเอกอนุดิษฐ์ นาครทรรพ ตั้งข้อสังเกตไว้น่าสนใจ นี่จะกลายเป็นดาบสองคมไปโดยไม่รู้ตัว เพราะเรื่องนี้เป็นพฤติกรรมที่ผิดอย่างชัดเจนและมีพยานหลักฐานต่างๆ ครบถ้วน เมื่อผู้ใหญ่ในรัฐบาลออกมาช่วยกันอุ้มจึงเกิดกระแสไม่ยอมรับและแสดงออกของสังคมที่ไม่เห็นด้วยผ่านทางโซเชียลเน็ตเวิร์กกันอย่างกว้างขวางกับการชี้แจงของผู้มีอำนาจ

ไม่ว่าเรื่องนี้จะจบอย่างไร สิ่งที่เกิดขึ้นจะเป็นมาตรฐานให้กับสังคมไทยในอนาคต ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้พึงระมัดระวัง เพราะอย่างน้อยที่สุดเยาวชนต้องสามารถแยกแยะได้ว่าสิ่งไหนถูกสิ่งไหนผิดและอะไรที่ควรทำหรือไม่ควรทำ แต่ถ้าผู้มีอำนาจละเลยหลักการและเลือกจะใช้แต่หลักกู ก็น่าเป็นห่วงอนาคตของประเทศว่า สุดท้ายแล้วระหว่างผิดหรือถูก เราจะแยกแยะทั้ง 2 เรื่องออกจากกันได้อย่างไร หรือว่าใครถือครองอำนาจและเป็นอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดต้องมีแต่ถูกต้องเท่านั้น

Back to top button