พาราสาวะถี อรชุน

ความย้อนแย้งหรือว่าผลลัพธ์ที่ตรงข้ามกับคำพูดของคณะผู้มีอำนาจ มีให้เห็นอยู่เนืองๆ ในช่วงนี้ ตั้งแต่ดัชนีคอร์รัปชั่นที่ดิ่งตัวลง จนกระทั่งกฎหมายควบคุมสื่อ ซึ่งเป็นภาพสะท้อนว่า การเอาจริงเอาจังกับการปราบการทุจริตนั้นมันสวนทางกันโดยสิ้นเชิง ขณะเดียวกับที่เที่ยวอ้างกับใครต่อใครว่าไม่เคยละเมิดสิทธิ เสรีภาพ แต่ความพยายามในการออกกฎหมายคุมสื่อก็คือตัวชี้วัดที่สำคัญว่าทำอย่างที่ปากว่าหรือเปล่า


ความย้อนแย้งหรือว่าผลลัพธ์ที่ตรงข้ามกับคำพูดของคณะผู้มีอำนาจ มีให้เห็นอยู่เนืองๆ ในช่วงนี้ ตั้งแต่ดัชนีคอร์รัปชั่นที่ดิ่งตัวลง จนกระทั่งกฎหมายควบคุมสื่อ ซึ่งเป็นภาพสะท้อนว่า การเอาจริงเอาจังกับการปราบการทุจริตนั้นมันสวนทางกันโดยสิ้นเชิง ขณะเดียวกับที่เที่ยวอ้างกับใครต่อใครว่าไม่เคยละเมิดสิทธิ เสรีภาพ แต่ความพยายามในการออกกฎหมายคุมสื่อก็คือตัวชี้วัดที่สำคัญว่าทำอย่างที่ปากว่าหรือเปล่า

ไม่เพียงเท่านั้น ที่ถูกชูมานับตั้งแต่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ยึดอำนาจและอาจจะเรียกได้ว่าเป็นการล้อไปกับข้ออ้างของม็อบชัตดาวน์กรุงเทพฯนั่นก็คือ การลดความเหลื่อมล้ำ แต่ปรากฏว่ายิ่งนานวันระยะห่างระหว่างคนรวยกับผู้ยากไร้ต่างกันลิบลับ นโยบายประชารัฐที่หวังจะให้ประชาชนอยู่ดี กินดี แต่ยิ่งนานวันยิ่งเหมือนคนจะไม่มีอันจะกินเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

สำหรับประเด็นความเหลื่อมล้ำนั้น ล่าสุด องค์การอ็อกซ์แฟม หรือ Oxfam ประเทศไทย โดย จักรชัย โฉมทองดี ผู้ประสานงานด้านนโยบายและรณรงค์ขององค์การอ็อกซ์แฟม ได้ระบุว่า ความเหลื่อมล้ำในประเทศไทย ไม่จำกัดเพียงแค่ด้านเศรษฐกิจเท่านั้น แต่รวมถึงภาคส่วนอื่นๆ ของสังคม อาทิ วิถีชีวิต การศึกษา สวัสดิการด้านสุขภาพ

โดยรายงานเบื้องต้นว่าด้วยความเหลื่อมล้ำในประเทศไทย ซึ่งอ็อกซ์แฟมประเทศไทยได้จัดทำและรวบรวมข้อมูลสถิติต่างๆ ตั้งแต่แต่เดือนกรกฎาคม พ.ศ.2559 พบว่ารายได้ 1 ปีของคนรวยที่สุดในไทย สามารถนำมาใช้ลดความยากจนของคนทั้งประเทศได้ โดยคนรวยที่สุด 10%  แรกมีรายได้มากกว่าคนที่จนที่สุด 10% สุดท้ายถึง 35 เท่า

ในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา เศรษฐีระดับพันล้านของไทยเพิ่มขึ้นเป็น 28 คน จาก 5 คน และทั้งหมดมีทรัพย์สินรวมกันถึง 9,142,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ประชากรของไทย 7 ล้านคนยังอยู่ใต้เส้นความยากจน นอกจากนี้ ยังพบว่าคนรวยที่สุด 10% เป็นเจ้าของทรัพย์สิน 79% ของประเทศ และ 5 ปีที่ผ่านมาคนรวยที่สุด 1% เป็นเจ้าของความมั่งคั่งมากกว่าคนที่เหลือทั้งประเทศรวมกัน

ดัชนีชี้วัดความมุ่งมั่นต่อการลดความเหลื่อมล้ำไทยอยู่ในลำดับที่ 122 จาก 155 ประเทศ คนงานนอกระบบ 25 ล้านคนหรือ 64% ของแรงงานทั้งหมดไม่ได้รับความคุ้มครองจากประกันสังคม สิทธิด้านสหภาพแรงงานในไทยยังห่างไกลจากมาตรฐานสากล คนทำงานในเมืองได้ค่าจ้างที่สูงกว่าคนทำงานนอกเมือง เกษตรกร 2.2 ล้านคนมีปัญหาเรื่องที่ดินทำกิน

โดย 40% ไม่มีที่ดินทำกินของตัวเอง และ 37% ไม่มีโฉนดที่ดิน ที่เหลือที่ดินไม่พอทำกิน นอกจากนี้ ยังพบว่ายิ่งเจ้าของธุรกิจมีความมั่งคั่งมากเพียงใด โอกาสที่จะลงเล่นการเมืองก็จะมากขึ้น ซึ่งจะทำให้คนรวยสามารถเข้าถึงเครือข่ายต่างๆ เพื่อสนับสนุนนโยบายที่ตัวเองได้ประโยชน์ ในส่วนของที่ดินทำกินนั้น เมื่อย้อนไปดูข้อมูลที่อภิมหาเศรษฐี 1 รายถือครองที่ดินกว่า 6 แสนไร่

ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2554 เป็นต้นมา ประเทศไทยได้ยกระดับสถานภาพจากประเทศที่มีรายได้ปานกลางขึ้นมาเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลางระดับสูง ในขณะที่ความยากจนลดลงไปมาก เรากลับเผชิญกับสถานการณ์ที่ความเหลื่อมล้ำในการครอบครองทรัพย์สินและความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ยังคงมีแนวโน้มที่จะสูงขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งคนที่ยากจนตกเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดจากสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำ

การแก้ปัญหาความเหลือมล้ำนั้นจะต้องแก้ในทุกภาคส่วนพร้อมกัน เริ่มจากการปฏิรูปในภาคเอกชนให้มีห่วงโซ่อุปทานในการประกอบธุรกิจให้เป็นธรรม ควบคู่ไปกับการผลักดันมาตรการลดความเหลื่อมล้ำจากภาครัฐ เช่น ปรับระบบภาษีให้เป็นระบบก้าวหน้า เพิ่มอัตราภาษีในกลุ่มผู้มีรายได้สูงและกลุ่มผู้ครอบครองทุน  เก็บภาษีที่ดินสำหรับคนที่มีที่ดินมากกว่า 50 ไร่ขึ้นไป เพราะแม้รัฐจะมีมาตรการเก็บภาษีที่ดิน แต่ผู้ที่ได้รับผลกระทบคือกลุ่มรายได้ปานกลาง

เรียกได้ว่า แม้จะพยายามยกเหตุผลเรื่องการปฏิรูป ยุทธศาสตร์และผู้นำการเปลี่ยนแปลงมาบอกกล่าวกับสังคม แต่ดูเหมือนว่าผลงานของรัฐบาลยังห่างไกลกับโลกแห่งความเป็นจริง เช่นเดียวกันกับเรื่องการปราบทุจริต ซึ่งเป็นนโยบายสำคัญ ซึ่งบิ๊กตู่มุ่งมั่นที่จะทำให้เห็นเป็นตัวอย่าง แต่ก็ปรากฏการทุจริตในหลายกรณีที่สังคมรับรู้ว่าเป็นอย่างไร

เหตุผลของการที่ทุจริตยังคงอยู่ ความเห็นของ โสภณ พรโชคชัย ก็น่ารับฟัง โดยเขามองว่า ในระยะที่ผ่านมาแม้รัฐบาลปัจจุบันจะพยายามประกาศต่อสู้กับการทุจริตและประพฤติมิชอบ แต่ยังปรากฏข่าวอยู่เนืองๆ การทุจริตกลายเป็นเหตุการณ์ปกติไปแล้ว โดยเฉพาะในหมู่ข้าราชการ  (บางส่วน) เนื่องจาก ข้าราชการเหล่านั้นขาดแนวคิดรับใช้ประชาชน เห็นประชาชนเป็นผู้อยู่เบื้องล่าง ข้าราชการกลายเป็นเจ้าคนนายคน

ดังคำกล่าวที่ว่า สิบพ่อค้าไม่เท่าพระยาเลี้ยง หมายถึงพ่อค้าหลายคนอุปถัมภ์ค้ำชูก็ยังเทียบไม่ได้กับคนที่รับราชการมีตำแหน่งใหญ่โตเพียงคนเดียวเลี้ยงดู ทั้งนี้ ในสมัยโบราณการรับราชการเป็นขุนนางถือเป็นสิ่งที่ดีงามและหลายคนอยากเป็น เพราะมีความมั่นคงและมีเงินเดือนแน่นอน โดยเฉพาะเมื่อมีตำแหน่งใหญ่โตก็จะมีอำนาจตามมาด้วย แต่พ่อค้าคนไทยสมัยก่อนยังค้าขายไม่เก่ง มีความเสี่ยงที่จะหมดตัวได้ การมีคู่ครองรับราชการตำแหน่งดีๆ จึงเป็นที่หมายปองกว่าพ่อค้า

ขณะเดียวกัน การไต่เต้าเพื่อความก้าวหน้าในอาชีพข้าราชการก็มาจากระบบ “ด.ว.ง.” ไม่ใช่ดวงดีหรือไม่ดี แต่หมายถึงว่าต้องขึ้นอยู่กับเป็น ด.เด็กของใคร ว.วิ่งหรือไม่ และ ง.เงินถึงหรือเปล่า หากมีด.ว.ง.แล้ว โอกาสที่จะได้ตำแหน่งใหญ่โตก็จะเกิดขึ้น การถอนทุนแบบที่กล่าวถึงนักการเมืองก็เกิดขึ้นในหมู่ข้าราชการประจำเช่นกันและกว้างขวางกว่าเสียอีก

ดังนั้น สิ่งที่โสภณชี้ให้เห็นจึงเป็นเรื่องที่สำคัญสำหรับผู้มีอำนาจ นั่นก็คือ หากประเทศชาติไม่อาจขจัดปัญหาทุจริตได้ ประเทศชาติคงเจริญได้ยากแน่นอน ในแง่หนึ่งยุคที่รัฐบาลบอกว่าไม่โกงกิน แต่ประเทศชาติก็ไม่เจริญ แสดงว่า (แอบ) โกงกินอยู่จนชาติไม่เจริญ ในทางตรงกันข้ามหากกล่าวหารัฐบาลใดว่าโกงกินแต่ประเทศชาติเจริญ ก็อาจตีความได้ว่าแท้จริงแล้วอาจไม่ได้มีการโกงกันดังคำโพนทะนา อาจเป็นแค่การบิดเบือนใส่ร้ายก็เป็นได้ ประเด็นนี้ชวนให้ต้องคิดตามอยู่ไม่น้อย

Back to top button