ค้าปลีกไทย 2560พลวัต 2017

สำหรับนักการเงิน ความเหลื่อมล้ำทางโครงสร้างไม่ใช่ประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญมากนัก ดังนั้น รายงานล่าสุดของบริษัทจัดเรตติ้งทางการเงินอย่าง ฟิทช์ เรทติ้งส์ ต่อธุรกิจค้าปลีกไทยประเภทอาหารที่เป็นร้านค้าขนาดใหญ่ ในปี 2560 ผ่านยักษ์ใหญ่ค้าปลีก 2 ราย ในตลาดหลักทรัพย์ จึงมีลักษณะมุมมองที่ “ตัดตอน” อย่างเลี่ยงไม่พ้น


วิษณุ โชลิตกุล

 

สำหรับนักการเงิน ความเหลื่อมล้ำทางโครงสร้างไม่ใช่ประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญมากนัก ดังนั้น รายงานล่าสุดของบริษัทจัดเรตติ้งทางการเงินอย่าง ฟิทช์ เรทติ้งส์ ต่อธุรกิจค้าปลีกไทยประเภทอาหารที่เป็นร้านค้าขนาดใหญ่ ในปี 2560 ผ่านยักษ์ใหญ่ค้าปลีก 2 ราย ในตลาดหลักทรัพย์ จึงมีลักษณะมุมมองที่ “ตัดตอน” อย่างเลี่ยงไม่พ้น

เสียงวิพากษ์เกี่ยวกับโครงสร้างที่มีลักษณะ “ปลาใหญ่กินปลาเล็ก” จึงไม่ใช่ประเด็น แม้ว่าอาจจะทำให้คนที่อ่านรายงานดังกล่าว มีประเด็นให้ต้องติดตามอีกหลากหลายมุมมองแบบ “สองคนยลตามช่อง” ได้อย่างเปิดกว้าง

ฟิทช์ เรทติ้งส์ ทำการวิเคราะห์ภาพรวมของธุรกิจค้าปลีกโดยผ่านตุ๊กตาที่เป็นโมเดลศึกษา 2 รายไว้ในมุมมองที่น่าสนใจมาก  คือ 1) บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) หรือ MAKRO  2) บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BIGC

ฟิทช์ เรทติ้งส์ สรุปว่า ทั้ง 2 รายดังกล่าว น่าจะมีผลประกอบการที่ดีขึ้นในปี 2560 เนื่องจากมีการมุ่งเน้นที่ความสามารถในการทำกำไร มากกว่าการแข่งขันเพื่อเพิ่มยอดขาย โดย MAKRO และ BIGC ซึ่งปัจจุบันเป็นบริษัทภายใต้กลุ่มบริษัทขนาดใหญ่ในประเทศไทยที่มีธุรกิจหลากหลาย จะมีการใช้ประโยชน์จากความเชื่อมโยงกับกลุ่มบริษัทผู้ถือหุ้นใหญ่ ทั้งในด้านเครือข่าย การจัดหาสินค้า และโลจิสติกส์ เพื่อพัฒนาการนำเสนอสินค้าแก่ลูกค้าเป้าหมายรวมถึงการจัดการต้นทุนให้ดีขึ้น

ในกรณีของ MAKRO และ BIGC ต่างก็มีอัตราส่วนกำไรที่ดีขึ้นในปี 2559 เมื่อเทียบกับหลายไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งน่าจะเป็นผลจากการเปลี่ยนกลยุทธ์มามุ่งเน้นที่ความสามารถในการทำกำไรแทนการแข่งขันเพื่อเพิ่มยอดขาย ฟิทช์คาดว่าแนวโน้มดังกล่าวน่าจะคงอยู่ต่อเนื่องในปี 2560

ฟิทช์ เรทติ้งส์ มีมุมมองว่า นับตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2559  การแข่งขันเพื่อเพิ่มยอดขายของทั้งสองรายใหญ่นี้ ได้ผ่อนคลายลง โดยที่ Big C ได้ยกเลิกการส่งเสริมการขายโดยการให้ส่วนลดพิเศษแก่ผู้ซื้อที่ซื้อสินค้าในปริมาณมาก และเปลี่ยนมามุ่งเน้นการจำหน่ายสินค้าที่สร้างอัตราส่วนกำไรที่ดีกว่า โดยเน้นที่กลุ่มลูกค้าผู้บริโภครายย่อย

ผลของการปรับกลยุทธ์ดังกล่าว ฟิทช์มองว่า เป็นผลดีต่อ Makro โดยตรง เพราะมีกลุ่มลูกค้าเป้าหมายหลักเป็นผู้ซื้อที่ซื้อสินค้าในปริมาณมาก ได้แก่ ผู้ค้าปลีกรายย่อยแบบดั้งเดิม ผู้ประกอบการโรงแรม ภัตตาคารและธุรกิจจัดเลี้ยง (HORECA) ซึ่งแตกต่างจาก Big C และ Tesco Lotus ซึ่งมีกลุ่มลูกค้าเป้าหมายหลักเป็นผู้บริโภครายย่อย

ผลลัพธ์ที่ติดตามมาคือ  Makro มีการปรับปรุงกลยุทธ์ที่รับมือกับสถานการณ์ใหม่ เนื่องจากยอดขายจากกลุ่มผู้ค้าปลีกรายย่อยแบบดั้งเดิมยังคงอ่อนแออย่างต่อเนื่องในไตรมาส 3 ปี 2559 โดยเพิ่มการนำเสนอสินค้าและบริการแก่กลุ่มลูกค้า HORECA ซึ่งช่วยเพิ่มทั้งยอดขายและอัตราส่วนกำไร

ในปีนี้ ฟิทช์ มองว่าอำนาจซื้อของผู้บริโภคจะค่อยๆ ฟื้นตัว จาก 1) อัตราการเติบโตของการบริโภคภาคเอกชนในปี 2560 ที่อัตราร้อยละ 3 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากราคาผลผลิตทางการเกษตรที่เพิ่มขึ้น และการเติบโตของเศรษฐกิจของประเทศ 2) ผู้บริโภคจำนวนมากที่มีการซื้อรถยนต์ในปี 2554 ในช่วงที่มีโครงการลดหย่อนภาษีสำหรับการซื้อรถยนต์คันแรก น่าจะผ่อนชำระหนี้สินจากการซื้อรถยนต์หมดแล้วในปี 2559 และมีงบประมาณในการจับจ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้นในปีนี้        

ฟิทช์คาดว่าในปี 2560  BIGC จะยังคงมุ่งเน้นการเพิ่มความสามารถในการทำกำไร โดยใช้ประโยชน์ที่เกิดขึ้นร่วมกันจากการซื้อกิจการของผู้ถือหุ้นรายใหญ่รายใหม่ ที่เป็นบริษัทแม่ คือ บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BJC ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคชั้นนำของประเทศไทย จะมีการดำเนินการด้านโลจิสติกส์ร่วมกันที่ครบวงจรตั้งแต่การผลิตจนถึงเครือข่ายร้านค้าปลีก

นอกจากนั้น BIGC ยังจะได้ใช้ประโยชน์จากฐานการผลิตของ BJC ในการผลิตสินค้า House Brand รวมถึงการจำหน่ายสินค้าที่ผลิตโดย BJC ในเครือข่ายร้านค้าปลีกของ BIGC ซึ่งประโยชน์ร่วมกันเหล่านี้น่าจะเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการต้นทุน ซึ่งจะนำไปสู่ความสามารถในการทำกำไรที่เพิ่มขึ้น

อีกด้านหนึ่ง คู่แข่งสำคัญอย่าง MAKRO ก็ไม่แพ้กันในการใช้ประโยชน์ร่วมระหว่าง Makro กับบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) หรือ CP ALL ซึ่งเป็นผู้ประกอบการค้าปลีกแบบคอนวีเนียน สโตร์ รายใหญ่ในประเทศไทย โดยทั้งสองบริษัทจะสร้างโครงข่ายในรูปของอำนาจในการต่อรองกับผู้ผลิตและจัดจำหน่าย รวมถึงการจัดการด้านโลจิสติกส์

ประโยชน์ร่วมกันเหล่านี้ของ MAKRO กับ CPALL เห็นได้ชัดจากการเพิ่มขึ้นของอัตราส่วนกำไรของทั้งสองบริษัท ในช่วงปี 2557-2558 ซึ่งเป็นช่วงที่เศรษฐกิจในประเทศอ่อนแอมาแล้วให้ประจักษ์  และ ฟิทช์ ก็คาดว่าปีนี้  MAKRO จะมีอัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงาน หรือ EBITDA ที่สูงขึ้นและมีกระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่แข็งแกร่งขึ้น แม้ว่าจะมีประเด็นลดทอนจากกระแสเงินสดสุทธิ  และอัตราส่วนหนี้สินในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า จากแผนการขยายสาขาไปยังประเทศอื่นในภูมิภาค ซึ่งได้เริ่มมีการลงทุนแล้ว

มุมมองต่อยักษ์ค้าปลีกของบริษัทเรตติ้งระดับโลกเช่นนี้ น่าสนใจไม่น้อย แม้ว่าจะเป็นมุมมองแค่บางส่วนที่มีลักษณะ “ตัดตอน” พอสมควร

Back to top button