พาราสาวะถี อรชุน

เปิดตำราประลองยุทธ์อันอุตลุดระหว่างพระวัดพระธรรมกายกับดีเอสไอ หลังจาก พระราชภาวนาจารย์ หรือ ทัตตชีโว รองเจ้าอาวาสผู้มีอำนาจสูงสุดภายในวัด ทุบโต๊ะลั่นไม่ยอมให้ตรวจค้นวัดทำเอาวงเจรจาที่กินเวลากว่า 5 ชั่วโมงล่มไม่เป็นท่าในทันที โดยที่ฝ่ายดีเอสไอยังทำใจดีสู้เสือบอกว่าพระไม่เข้าใจสิ่งที่พยายามอธิบาย แต่ก็ยืนยันจะเดินหน้าเข้าตรวจค้น แต่ต้องใช้ความระมัดระวังอย่างเป็นพิเศษ


เปิดตำราประลองยุทธ์อันอุตลุดระหว่างพระวัดพระธรรมกายกับดีเอสไอ หลังจาก พระราชภาวนาจารย์ หรือ ทัตตชีโว รองเจ้าอาวาสผู้มีอำนาจสูงสุดภายในวัด ทุบโต๊ะลั่นไม่ยอมให้ตรวจค้นวัดทำเอาวงเจรจาที่กินเวลากว่า 5 ชั่วโมงล่มไม่เป็นท่าในทันที โดยที่ฝ่ายดีเอสไอยังทำใจดีสู้เสือบอกว่าพระไม่เข้าใจสิ่งที่พยายามอธิบาย แต่ก็ยืนยันจะเดินหน้าเข้าตรวจค้น แต่ต้องใช้ความระมัดระวังอย่างเป็นพิเศษ

นี่คือความยากที่หลายคนแสดงความเป็นห่วงมาตั้งแต่ต้น พอฝ่ายอำนาจรัฐลั่นจะเดินหน้าตามกระบวนการของกฎหมาย ฝ่ายพระก็พลิกเกมส่งสงฆ์ 4 รูปประกาศอดอาหาร นั่งสมาธิประท้วงทันที มีเป้าหมายคือให้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ยกเลิกมาตรา 44 แต่ดูจากท่าทีของท่านผู้นำและองคาพยพที่เกี่ยวข้องแล้วคงเป็นไปไม่ได้

มาตรา 44 มันก็เหมือนมวยบู๊ที่เรียกคะแนนและเสียงเฮจากคนดูได้ตลอดเวลา จู่ๆ จะมาให้ถอยหลัง หกล้มมันคงดูไม่งาม จะกลายเป็นมวยมีงานถูกกรรมการอัปเปหิลงเวทีโทษฐานชกไม่สมศักดิ์ศรีไปเสียฉิบ ดังนั้น ไม่ว่าผลจากการบังคับใช้จะไม่สะใจกองเชียร์ แต่ก็ต้องใช้ความอดทนเพื่อให้งานนี้มีบทสรุป ไม่ว่าจะจับตัว ธัมมชโย ตามแผนปฏิบัติการได้หรือไม่ก็ตาม

ถือเป็นการวัดใจ ทดสอบพละกำลังกันของทั้งสองฝ่ายใครจะอึดกว่ากัน จากรายงานของเจ้าหน้าที่ภายในวัดพระธรรมกายนั้นมีคนอยู่ทั้งพระและฆราวาสยังเหยียบหลักหมื่น ดังนั้น ไม่ว่าจะระดมกำลังเจ้าหน้าที่มามากเท่าไหร่เพื่อจะใช้ความเข้มข้นตามมาตรา 44 เข้าจัดการแบบเด็ดขาด คงเป็นไปได้ยาก เพราะหากใช้วิธีการเช่นนั้น ไม่มีใครการันตีได้ว่าจะไม่มีความสูญเสียเกิดขึ้น

ประสาคนวงนอกก็ต้องเอาใจช่วยอย่างเดียวคืออย่าให้เกิดการบาดเจ็บล้มตายกันเท่านั้น ส่วนทางลงของทั้งสองฝ่าย เป็นเรื่องของการเจรจาไม่ว่าจะเป็นไปโดยเปิดเผยหรือในทางลับก็ตาม เชื่อได้เลยว่า มีคนที่ไม่ได้ชื่นชอบธรรมกายก็จำนวนไม่น้อย แต่มีจำนวนมากเช่นเดียวกันที่ไม่ได้ชื่นชมวิธีการของรัฐบาลคสช. นั่นมันจึงเป็นเหตุให้เกิดการยักแย่ยักยันกันอยู่อย่างนี้

เวทีหารือสร้างความปรองดองยังคงเดินหน้าเป็นปกติ สัปดาห์ที่ 2 มีแต่พรรคเล็กพรรคน้อยที่เข้าไปเสนอความเห็น ประเด็นที่จะสรุปออกมาได้คงหนีไม่พ้น พรรคการเมืองหรือกลุ่มการเมืองเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญทำให้บ้านเมืองเกิดความขัดแย้ง ซึ่งนั่นมันก็แค่ปมหนึ่งเท่านั้น ต้องรอไปฟังฝ่ายที่ถูกชี้นิ้วว่าเป็นขั้วความขัดแย้งอย่างแท้จริงในต้นเดือนและกลางเดือนหน้า

ไม่ว่าจะเป็นพรรคเพื่อไทยที่ได้คิวชี้แจง 8 มีนาคม ตามมาด้วยกลุ่มนปช.ในวันที่ 15 มีนาคม สองกลุ่มนี้ถือเป็นคู่ขัดแย้งกับฝ่ายที่โบกมือดักกวักมือเรียกให้เกิดการรัฐประหาร ขณะเดียวกันสถานะปัจจุบันก็คือพวกเห็นต่าง ยืนคนละข้าง เดินคนละเส้นทางกับคณะยึดอำนาจ แต่ในบริบทที่จะต้องทำให้เกิดความปรองดอง จึงต้องให้คนเหล่านี้ได้แสดงข้อคิดเสนอความเห็น

ไม่รู้เวทีหารือนั้นเปิดกว้างกันมากน้อยขนาดไหน แน่นอนว่าหัวใจสำคัญของฝ่ายผู้มีอำนาจเวลานี้คือต้องฟังมากกว่าพูด แม้สิ่งที่ได้ยินมานั้นอาจจะไม่รื่นหู แต่หากพิจารณาดูให้ดี ถ้าเป็นเรื่องจริงก็หนีไม่พ้นที่จะต้องนำไปปรับปรุงหรือหาทางแก้ไข ไม่ใช่ทำตัวไปร่วมสังฆกรรมกับอีกฝ่าย โดยมองทุกเรื่องของฝ่ายเห็นต่างเป็นสิ่งที่ไม่ยอมรับไปเสียหมด

สงสัยกันเป็นอย่างมากจากฝ่ายนปช. กรณีมีคำถามพุ่งใส่ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ว่า จตุพร พรหมพันธุ์ ขู่จะเปิดเวทีคู่ขนานเวทีปรองดองของรัฐบาลหากหลังเดือนเมษายนยังไม่เห็นหนทางที่จะปรองดองกันได้ ดีที่ว่าบิ๊กป้อมยังรักษาทรงมวยไม่ออกลูกโต้กลับแบบดุเดือด โดยยืนยันทุกอย่างจะต้องเป็นไปตามช่องทาง หากประธานนปช.อยากจะคุยก็ขอให้มาพบกันแบบแมนๆ พูดกันแบบเปิดเผย

เมื่อเป็นเช่นนั้นจตุพรจึงรับคำท้า ประกาศจะหาโอกาสเข้าไปพบหัวหน้าทีมเตรียมการปรองดองของรัฐบาล ก่อนที่จะตั้งข้อสังเกตว่า สื่อที่ชงคำถามให้บิ๊กป้อมนั้นทำไมตีความคำพูดของตนแบบไหน ทั้งๆ ที่ไม่ได้บอกว่าจะปลุกม็อบหรือจัดเวทีแข่ง ที่ทำอยู่ปัจจุบันซึ่งก็ทำมาหลายสัปดาห์แล้วคือ การจัดเวทีทัศน์เชิญวิทยากรที่ทำเรื่องปรองดองมาเสนอความเห็นก็เท่านั้น

ตรงนี้น่าจะเป็นประโยชน์และสนับสนุนการทำงานของรัฐบาลเสียด้วยซ้ำ เลยไม่รู้ว่ามีผู้หวังดีประสงค์ร้ายจะมาเสี้ยมให้เกิดความเข้าใจผิดระหว่างกันหรือเปล่า สงสัยฝ่ายนปช.เกรงจะซ้ำรอยการเปิดศูนย์ปราบโกงประชามติ ที่สุดท้าย 19 แกนนำถูกดำเนินคดีตามกฎหมายทั้งหมด จึงกลัวว่าการจัดเวทีปรองดองจะเข้าอีหรอบเดียวกัน

จะว่าไปแล้วหากมองย้อนกลับไปยังเวทีดังกล่าวแขกที่เชิญมา ไม่ว่าจะเป็น โคทม อารียา ดิเรก ถึงฝั่ง กระทั่งล่าสุดเป็น พระพยอม กัลยาโณ บุคคลเหล่านี้ก็ไม่ได้เป็นพิษเป็นภัยใดๆ ทั้งสิ้นกับรัฐบาลคสช. มิหนำซ้ำ ยังช่วยกันเสนอแนะแนวทางที่เป็นประโยชน์เพื่อให้ผู้มีอำนาจนำไปต่อยอดเสียด้วยซ้ำ คงต้องฝากให้ฝ่ายรัฐไปช่วยดูมีพวกที่คอยจะชักใบให้เรือเสียหรือเปล่า ถ้ามีต้องกำราบเสียให้เข็ด

ถือโอกาสที่สนช.จัดเวทีจัดเสวนาเรื่องร่างพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารสาธารณะ กลไกสำคัญในการตอบโจทย์การปฏิรูปภาครัฐ มุ่งสู่ไทยแลนด์ 4.0 แล้วเชิญไปพูดเรื่องการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารสาธารณะทำไมต้องปฏิรูป มีชัย ฤชุพันธุ์ จึงเฉ่งกลับสมาชิกสนช.ที่แสดงความกังวลว่าเนื้อหาในมาตรา 77 ของร่างรัฐธรรมนูญจะเป็นอุปสรรคต่อการพิจารณากฎหมายของสภาลากตั้ง เพราะดันตั้งให้ไปรับฟังความเห็นของประชาชนเสียก่อน

โดยเนติบริกรชั้นครูเชือดแบบนิ่มๆว่า ผลงานกฎหมายสนช.มีมากกว่า 200 ฉบับ หมายความว่า สิทธิประชาชนถูกลิดรอน 200 กว่าครั้ง ที่ผ่านมากฎหมายเขียนว่า หากประชาชนไม่พึงกระทำตามจะมีความผิด แต่ถามว่า กฎหมายเคยเขียนไว้หรือไม่ว่า หากเจ้าหน้าที่ข้าราชการผู้ใดไม่อำนวยความสะดวกให้ราษฎรและต้องมีโทษ ไม่เคยเขียนไว้ แต่ตอนนี้กำลังจะเขียนเช่นนั้น

ส่วนความยุ่งยากที่กังวลกัน มีชัยก็บอกว่า สนช.ไม่ต้องทำอะไรให้ยุ่งยาก การรับฟังไม่ใช่เรื่องเสียหาย เพราะการเปิดเผยข้อมูลสามารถเปิดเผยได้ทั้งโทรทัศน์ เว็บไซต์ เพื่อให้ประชาชนที่สนใจสามารถรับทราบได้ จากการที่ได้ฟังประธานกรธ.อธิบายเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญมาโดยตลอด ดูเหมือนว่าการชี้แจงแบบตอกหน้าสนช.หนนี้จะดูดีและมีน้ำหนักมากที่สุด

Back to top button