พาราสาวะถี

ไม่รู้ว่าสังคมป่วยหรือคนเอาแต่ใจ เต็มไปด้วยอคติกันแน่ กับข่าวลุงอายุ 60 ปีแขวนคอสังเวยข้อเรียกร้องให้ผู้มีอำนาจยกเลิกมาตรา 44 คุมวัดพระธรรมกาย ไม่ว่าจะกระทำไปด้วยเจตนาใดก็ตาม คนตายไม่สมควรที่จะถูกประณามจากคนหรือกลุ่มบุคคลที่มีความเชื่อและศรัทธาแตกต่างกัน หากเป็นสังคมไทยก่อนความขัดแย้ง คงร่วมแสดงความเสียใจต่อครอบครัวของชายคนนั้นไม่ว่าจะเห็นต่างกันอย่างไรก็ตาม


อรุชน

 

แต่วันนี้ไม่ใช่ในโลกโซเชียลมีเดีย ฝ่ายที่ไม่ชอบธรรมกาย ซ้ำเติม เย้ยหยัน แสดงพฤติกรรมเหมือนไม่ใช่คน เห็นคนตายกลายเป็นเรื่องที่ต้องสมน้ำหน้า นี่แหละคือคำถามว่า หากยังมีคนหรือกลุ่มคนที่มีความคิดเช่นนี้อยู่ ความพยายามของผู้มีอำนาจในการที่จะสร้างความปรองดองนั้น มันจะสำเร็จหรือ ในเมื่อพวกสุดโต่งยังไม่ยอมปล่อยวางอารมณ์เหยียบย่ำซ้ำเติมฝ่ายเห็นต่าง

ความจริงเรื่องดังกล่าว เจ้าหน้าที่รัฐผู้ปฏิบัติตามหน้าที่หรือแม้แต่ฝ่ายออกคำสั่งมีอำนาจเต็ม ไม่จำเป็นต้องแสดงความรับผิดชอบใดๆ แค่แสดงความเสียใจและไม่ซ้ำเติมผู้เสียชีวิต ไม่ว่าจะด้วยวาจาหรือการกระทำใดก็ตาม มากไปกว่านั้นคือ ทำความเข้าใจกับมวลชนที่สนับสนุนว่าอย่าออกลูกบ้าจนไร้ความเป็นคน มิเช่นนั้น มันก็จะเข้าอีหรอบ ฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป ถามว่าท่านผู้นำต้องการให้เป็นเช่นนั้นหรือ

เรื่องสมาชิกสนช. 7 คน จบแล้ว!ในมุมของ พรเพชร วิชิตชลชัย ในทัศนะของคณะกรรมการจริยธรรมสนช. เพราะข้อบังคับการประชุมระบุไว้ชัดขาดลงมติไม่ว่าจะเป็นพันหนหรือกี่ร้อยครั้ง ก็ถือว่าไม่ขาดสมาชิกภาพ ยึดตามนี้ก็ไม่มีเหตุอันใดที่จะต้องไปแสดงความรับผิดชอบหรือสปิริตอะไร ถ้าเป็นความสบายใจก็เชิญ และคงไม่ต้องไม่ยี่หระอะไรเพราะยุคอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดไม่มีใครกล้าหืออยู่แล้ว

ในมุมของฝ่ายตรวจสอบอย่าง ศรีสุวรรณ จรรยา ยังคงเดินหน้ายื่นเรื่องร้องไปหลายหน่วยงาน แต่ผลลัพธ์ก็รู้กันอยู่แล้ว เมื่อกระบวนการทุกอย่างมันถูกล็อกไว้แล้วด้วยความเบ็ดเสร็จเด็ดขาด คงเหลือเพียงมาตรการทางสังคมที่จะเกิดคำถามว่า ยุคของคน (อ้างว่า) ดี ครองเมืองนั้น แท้ที่จริงแล้วได้ยกระดับมาตรฐานคุณธรรม จริยธรรม สูงส่งกว่านักการเมืองนักการเมืองเลวหรือไม่

ข้อทักท้วงจาก พิชัย รัตตกุล อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์และอดีตประธานรัฐสภา น่าจะช่วยอธิบายและบอกกล่าวความรู้สึกที่แท้จริงของสังคมต่อสิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมดได้เป็นอย่างดี “ถ้าผมเป็นประธานสนช.ตอนนี้ ก็จะขอลาออก ในเมื่อมีการปล่อยให้สมาชิกทำผิดรัฐธรรมนูญ แม้จะมีข้อบังคับสนช.กำหนดให้ขาดลงมติเท่าไรก็ได้หากยื่นใบลา”

แต่ผู้ทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติออกกฎหมายไปบังคับใช้ในสังคม ต้องมีความรับผิดชอบ ยึดหลักการทำหน้าที่ตามกฎหมายสูงสุดคือรัฐธรรมนูญเป็นหลัก ดีกว่าอยู่ทำหน้าที่ต่อไปภายใต้อาณัติของผู้มีอำนาจ แต่ไร้ศักดิ์ศรี ประธานสนช.ที่เป็นถึงอดีตผู้พิพากษาน่าจะทราบดี เหตุการณ์นี้จะช่วยทำให้คนเห็นว่าระบอบประชาธิปไตยที่ให้ประชาชนเลือกผู้แทนเข้ามาทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติในสภา แม้จะมีความขัดแย้ง แต่มันก็ยังตรวจสอบได้

น่าเสียดายเจตนาของคณะผู้ยึดอำนาจ ที่เข้ามาเพื่อต้องการแสดงให้เห็นว่าบุคคลที่ถูกแต่งตั้งเข้ามาเป็นสมาชิกสนช.ที่ส่วนใหญ่เป็นทหาร จะทำงานได้อย่างดี มีระเบียบวินัย จึงวางกฎดังกล่าวไว้ในรัฐธรรมนูญ พอเอาเข้าจริงสิ่งที่ทำไม่ได้น้อยหรืออาจจะมากไปกว่านักการเมืองที่ถูกกล่าวหาว่าชั่วว่าเลวเสียด้วยซ้ำไป มิหนำซ้ำ ยังไม่ได้แสดงสปิริตเพื่อรักษาภาพของความผู้มีระเบียบวินัยแต่อย่างใด

พฤติกรรมของสมาชิกสนช.ดังกล่าว คงไม่ต่างอะไรไปจากผู้บริหารของมหาวิทยาลัยมหิดล ที่แสดงความไม่พอใจต่อแถลงการณ์เรื่องมาตรา 44 ของสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา จนขู่จะตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบพร้อมกล่าวหาว่านี่ไม่ใช่เรื่องของเสรีภาพทางวิชาการ ล่าสุด เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมืองหรือคนส.ได้ออกแถลงการณ์ต่อกรณีดังกล่าว

คนส.เห็นว่า แถลงการณ์ของสถาบันสิทธิมนุษยชนฯ เป็นการทำหน้าที่ในฐานะนักวิชาการบนฐานของความรู้และความเชี่ยวชาญในวิชาสิทธิมนุษยชน ซึ่งสะท้อนถึงสำนึกแห่งอาชีวปฏิญาณและจรรยาบรรณทางวิชาการ สมดังคำขวัญของมหาวิทยาลัยมหิดลว่า “ปัญญาของแผ่นดิน” และยังเป็นการแสดงท่าทีต่อสาธารณะเพื่อชี้ให้เห็นถึงอันตรายของการใช้อำนาจที่ปราศจากการตรวจสอบถ่วงดุลและขาดความชอบธรรมภายใต้รัฐบาลที่มาจากคณะรัฐประหาร

จึงถือได้ว่า สถาบันสิทธิมนุษยชนฯได้แสดงออกถึงความกล้าหาญทางวิชาการที่สมควรได้รับการยกย่องสรรเสริญและปกป้อง ขณะเดียวกันคนส.ได้แสดงความเสียใจต่อท่าทีของผู้บริหารมหาวิทยาลัยมหิดลที่ออกแถลงการณ์ตำหนิสถาบันในสังกัดของตนเอง พร้อมเรียกร้องให้ยุติการดำเนินการทางวินัยต่อคณาจารย์สถาบันสิทธิมนุษยชนฯ

นอกจากนี้ ยังเห็นว่าแถลงการณ์ดังกล่าวของสถาบันสิทธิมนุษยชนฯ ไม่ได้เป็นการแอบอ้างชื่อมหาวิทยาลัยในทางที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อชื่อเสียงของมหาวิทยาลัย ในอดีตก็มีบุคลากรของมหาวิทยาลัยมหิดล ทั้งในนามบุคคลและในนามมหาวิทยาลัยได้ออกมาแสดงท่าทีทางการเมืองเรียกร้องกดดันให้เลื่อนการเลือกตั้งออกไป กระทั่งให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งลาออก

หากพิจารณาบริบทในขณะนั้น อาจถือได้ว่าหมิ่นเหม่ต่อการผิดวินัยราชการแต่ก็ไม่ปรากฏว่าผู้บริหารมหาวิทยาลัยขณะนั้นจะมีการตำหนิการกระทำดังกล่าวแต่อย่างใด ข้อเสนอของคนส.จึงน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง หากผู้บริหารมหาวิทยาลัยมหิดลมีความเห็นและทัศนะที่แตกต่างจากสถาบันสิทธิมนุษยชนฯ ก็ควรจะชี้แจงหักล้างด้วยข้อมูลและเหตุผลตามวิถีที่นักวิชาการที่เห็นต่างจะโต้แย้งกันอย่างตรงไปตรงมา

ผู้บริหารมหาวิทยาลัยไม่ควรใช้วิธีการข่มขู่ด้วยการตั้งคณะกรรมการสอบสวนและดำเนินการทางวินัยเพื่อปิดกั้นการแสดงความเห็นทางวิชาการของสถาบันฯการดำเนินการดังกล่าวยิ่งเป็นการแสดงชัดเจนว่า ผู้บริหารมหาวิทยาลัยมหิดลเลือกที่จะเอนเอียงเข้าข้างและปกป้องการใช้อำนาจอันไม่ชอบธรรมที่มาจากรัฐประหาร ซึ่งจะเป็นผลเสียต่อชื่อเสียงภาพพจน์และสถานะของมหาวิทยาลัยมหิดลเองในระยะยาว ลองถึงขั้นที่มองว่าแถลงการณ์สถาบันสิทธิมนุษยชนฯไม่ใช่เสรีภาพทางวิชาการ ก็คงยากที่ผู้บริหารมหาวิทยาลัยแห่งนี้จะเปิดใจกว้างรับฟังข้อเสนอใดๆ

Back to top button