พาราสาวะถี อรชุน

ปัญหาธรรมกายไม่รู้จะจบลงอย่างไร จับธัมมชโยได้หรือเปล่าไม่มีใครตอบได้ แต่ที่แน่ๆ มีคนห่มเหลืองนาม พุทธะอิสระ หรือพระอาจารย์ของผู้มีอำนาจหลายคน ออกมากระทุ้งกันรายวัน เรียกศรัทธาและแรงหนุนจากสมุนกปปส.ที่เคยร่วมกันยึดศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ จนถูกศาลสั่งจ่ายค่าเสียหายให้ดีเอสไอ แต่เมื่อลูกศิษย์เป็นใหญ่จึงแสดงอิทธิฤทธิ์โชว์อิทธิพลกันเต็มที่


ปัญหาธรรมกายไม่รู้จะจบลงอย่างไร จับธัมมชโยได้หรือเปล่าไม่มีใครตอบได้ แต่ที่แน่ๆ มีคนห่มเหลืองนาม พุทธะอิสระ หรือพระอาจารย์ของผู้มีอำนาจหลายคน ออกมากระทุ้งกันรายวัน เรียกศรัทธาและแรงหนุนจากสมุนกปปส.ที่เคยร่วมกันยึดศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ จนถูกศาลสั่งจ่ายค่าเสียหายให้ดีเอสไอ แต่เมื่อลูกศิษย์เป็นใหญ่จึงแสดงอิทธิฤทธิ์โชว์อิทธิพลกันเต็มที่

นอกจากชี้นิ้วว่าจะต้องทำอย่างไรในการดำเนินการกับธัมมชโยและจัดการกับวัดพระธรรมกายแล้ว ล่าสุด พระที่สึกเช้าบวชใหม่ตอนเย็นภายในวันเดียวกัน ก็ออกมาแขวะพร้อมเรียกร้องทวงบุญคุณแทนรัฐบาล ด้วยการกล่าวหา พระสุธีวีรบัณฑิต หรือ มหาโชว์ ทัสนีโย และ พระเทพปฏิภาณวาที หรือ เจ้าคุณพิพิธ โทษฐานที่วิจารณ์ปฏิบัติการของรัฐบาล ทั้งที่ได้เลื่อนยศปูนบำเหน็จสมณศักดิ์ในยุครัฐบาลลูกศิษย์ของตัวเอง

ไม่ต้องถามว่าใช่กิจของสงฆ์หรือไม่ เพราะทุกความเคลื่อนไหวของคนห่มเหลืองรายนี้มันสะท้อนได้อย่างชัดเจนว่า ไปยุ่งจุ้นจ้านไปเสียหมดทุกเรื่อง แต่ก็อีกนั่นแหละในเมื่อผู้มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดถึงขนาดหมอบราบกราบกรานให้เจิมหน้าผากมาแล้ว หลวงปู่ (ที่ไม่รู้ว่าใครยกยอปอปั้นหรืออุปโลกน์กันขึ้นมา) เลยยิ่งต้องเบ่งกล้ามโชว์ หุบแขนไม่ลง เรื่องปลงสังเวช ละกิเลสไม่ต้องพูดถึง

เห็นอาการของทั้งฆราวาสและเพศบรรพชิตที่กระเหี้ยนกระหือรือจะจัดการกับธรรมกายให้ราพณาสูรแล้ว บทความของ สุรพศ ทวีศักดิ์ นักวิชาการด้านศาสนา เรื่องปัญหาพุทธศาสนาแบบชนชั้นกลางและธรรมกาย จึงน่าจะช่วยอธิบายภาพบางอย่างบางประการได้พอสมควร

เริ่มต้นที่คำอธิบายของพุทธศาสนาแบบชนชั้นกลางกันก่อน ที่สุรพศมองว่า เป็นพุทธศาสนาที่มีลักษณะกระตือรือร้นในการเสนอคำตอบหรือทางเลือกสำหรับชีวิตและสังคมอยู่ตลอดเวลา หรือเป็นพุทธศาสนาแบบที่ถูกนำมาอ้างทั้งเป็นคำตอบสำหรับปัจเจกบุคคล เป็นคำตอบในทางสังคม การเมือง เศรษฐกิจ การศึกษา และอื่นๆ ดังที่เราเห็นกันอยู่เสมอ

ความซับซ้อนของพุทธศาสนาแบบชนชั้นกลางดังกล่าว คือเป็นพุทธศาสนาที่มีทั้งด้านที่เป็นปฏิกิริยาต่อพุทธศาสนาแห่งรัฐ และด้านที่สอดคล้องหรือสนับสนุนพุทธศาสนาแห่งรัฐ ขณะเดียวกันก็มีด้านที่สอดคล้องและขัดแย้งกันเอง ที่ตลกร้ายคือมีการยอมรับ เรียกร้องการใช้อำนาจพุทธศาสนาแห่งรัฐและอำนาจรัฐจัดการกันและกันอย่างขัดกับหลักเสรีภาพทางศาสนาอีกด้วย

จะเห็นว่าพุทธศาสนาแบบชนชั้นกลางสายเด่นๆ (หมายถึงมีอิทธิพลทางความคิดความเชื่อ มีบทบาทมากในทางสังคม) ดังกล่าว ล้วนมีปัญหาสำคัญคือด้านที่ไม่สอดคล้องกับ secularization อันหมายถึงการย้ายจากวัดให้มาอยู่ในอำนาจของบ้านเมือง และการสร้างประชาธิปไตย ซ้ำร้ายยังเป็นพุทธศาสนาที่ผลิตวาทกรรม “พุทธแท้-พุทธเทียม” มาโจมตีกัน ยอมรับอำนาจคณะสงฆ์และอำนาจรัฐในการจัดการกับฝ่ายที่เชื่อต่างจากตัวเอง

ทั้งๆ ที่ถ้าแยกศาสนาจากรัฐ หรือถ้ารัฐไทยเป็นรัฐโลกวิสัยหรือ secular state ซึ่งหมายถึงประเทศที่เป็นกลางทางด้านศาสนา และไม่ได้สนับสนุนหรือต่อต้านความเชื่อหรือการปฏิบัติทางศาสนาใดๆ รวมทั้งแยกศาสนาออกจากอำนาจรัฐ ความแตกต่างในแง่การตีความคำสอนและแนวปฏิบัติของสายต่างๆ นอกจากไม่ใช่ปัญหาที่จะเป็นสาเหตุของความขัดแย้งได้แล้ว ยังถือเป็นความงอกงามหลากหลายอีกต่างหาก

แต่ภายใต้สภาวะที่ไม่แยกศาสนาจากรัฐ ความแตกต่างกลายเป็นเงื่อนไขของความขัดแย้งและการทำลายกันเอง ครั้งหนึ่งท่านพุทธทาสและท่านป.อ. ปยุตโต เคยถูกล่าวหาว่าเป็นเดียรถีย์ เป็นคอมมิวนิสต์ แต่สานุศิษย์สายปราชญ์พุทธทั้งสองท่าน ก็กล่าวหาสันติอโศกและธรรมกายเป็นพวกนอกรีต ขณะนี้ทั้งสายสันติอโศก สายปราชญ์พุทธทั้งสอง (รวมกลุ่มพุทธะอิสระ, ไพบูลย์ นิติตะวัน, มโน เลาหวนิช) ต่างพุ่งเป้าไปที่ธรรมกายว่าเป็นพวกนอกรีต

หรือพูดรวมๆ ในบรรดาชาวพุทธชนชั้นกลางในสายดังกล่าว ถ้าไม่นิ่งเฉย ก็เชียร์การใช้มาตรา 44 จัดการกับธรรมกาย นี่คือปรากฏการณ์อันน่าเศร้าของพุทธศาสนาแบบชนชั้นกลางไทย ที่ตกอยู่ในวังวนความขัดแย้งกันเอง ภายใต้โครงสร้างความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับศาสนา ที่อำนาจคณะสงฆ์และอำนาจรัฐขัดกับหลักเสรีภาพทางศาสนาโดยพื้นฐาน และเป็นอำนาจที่ถูกฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งนำมาใช้ขจัดอีกฝ่ายได้ตลอดเวลา

ไม่ต่างอะไรกับสภาพที่นักการเมือง พรรคการเมือง กลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองที่มีความคิดขัดแย้งกันแล้วสามารถอาศัยอำนาจพิเศษมาจัดการกับอีกฝ่ายได้เสมอไป ดังที่เป็นมาตลอดประวัติศาสตร์ และจะเป็นเช่นนี้เรื่อยไป ตราบที่รัฐไทยยังไม่เป็นเสรีประชาธิปไตยและไม่แยกศาสนาจากรัฐ ซึ่งหากมองสถานการณ์ธรรมกาย ดูเหมือนว่าจะหนักข้อขึ้นเสียด้วยซ้ำไป 

บ่นอยู่ตลอดเวลาว่าไม่สืบทอดอำนาจ ล่าสุด พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา กล่าวกับบรรดาข้าราชการระดับสูงในการอบรมหลักสูตรป.ย.ป. “ยิ่งอยู่นานยิ่งทรมาน” และชื่อคณะกรรมการที่ย้าวยาวนั้น อย่าไปอุตริเปลี่ยนชื่อเรียกว่า “ประยุทธ์อยู่ต่อไป” แม้จะยืนกรานแต่ท่านต้องไม่ลืม ครั้งหนึ่งก็มีคนเคยบอกว่าจะไม่รัฐประหาร แล้วสุดท้ายเป็นอย่างไร เห็นๆ กันอยู่

ทฤษฎีตรงข้ามนั้นมันใช้ได้เสมอ หากเป็นคำโบราณท่านก็จะว่าปากอย่างใจอย่าง เพียงแต่การพูดในบางวาระบางโอกาส มันต้องจับทิศทางลมอยู่เหมือนกัน หากสถานการณ์เปลี่ยนไป อันหมายถึงเศรษฐกิจดีขึ้น รัฐบาลได้รับคำสรรเสริญเยินยอ ไม่ใช่ห่อเหี่ยวมองไม่เห็นอนาคตเหมือนปัจจุบัน เมื่อนั้นถ้ามีคนไปถามเชื่อได้เลยว่าคำตอบก็จะเป็นอีกแบบ ดังนั้น อะไรที่ยังไม่แน่ใจก็อย่ารีบปฏิเสธ พวกประเภทเสียสัตย์เพื่อชาติเสียอนาคตกันมาหลายรายแล้ว

การเมืองว่าด้วยการเลือกตั้ง ปีนี้คงไม่มีเกิดขึ้นชัวร์ เพราะแกนนำม็อบที่กวักมือให้เกิดคสช.ยืนยันหนักแน่น อย่างเร็วก็กลางปี 2561 นี่คงไม่ใช่การประเมินสถานการณ์ หากแต่น่าจะเป็นข่าววงในที่คงกระซิบกระซาบกันมาเรียบร้อย เมื่อเป็นเช่นนั้นนักการเมืองจึงต้องร้องเพลงรอกันต่อไป และก็ดูเหมือนว่าแต่ละคนแต่ละพรรคก็ไม่ได้อินังขังขอบใดๆ เลือกเมื่อไหร่ก็เมื่อนั้น เนื่องจากยิ่งนานวันฝ่ายที่เผชิญกับความกดดันอย่างหนักกลับเป็นฝ่ายที่กุมอำนาจนั่นเอง ี

Back to top button