พาราสาวะถี

จุกจิก หยุมหยิม จนหลายคนค่อนขอดว่าไม่น่าจะเป็นนิสัยของชายชาติทหาร ยิ่งพอได้ยินการทักทายนักข่าวหลังแถลงผลการประชุมครม.อย่างเบื่อหน่ายเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา ยิ่งตอกย้ำภาพบางสิ่งบางอย่างกับความเป็น พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้เป็นอย่างดี


พาราสาวะถี : อรชุน

 

จุกจิก หยุมหยิม จนหลายคนค่อนขอดว่าไม่น่าจะเป็นนิสัยของชายชาติทหาร ยิ่งพอได้ยินการทักทายนักข่าวหลังแถลงผลการประชุมครม.อย่างเบื่อหน่ายเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา ยิ่งตอกย้ำภาพบางสิ่งบางอย่างกับความเป็น พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้เป็นอย่างดี

ท่านผู้นำเดินไปยังวงของนักข่าวที่มาเข้าคิวรอถามว่า “พรุ่งนี้เป็นวันสตรีสากล ต้องให้เกียรติสตรีและอย่าทำรุนแรงกับสตรี” จากนั้นก็กล่าวพร้อมกับชี้ไปทางกลุ่มผู้สื่อข่าวผู้หญิงว่า “แล้วสตรีก็อย่ามารุนแรงกับผมด้วย” แหม!ช่างตอดเล็กตอดน้อยตามประสาเสียจริงๆ แต่ก็ด้วยพฤติกรรมเช่นนี้นี่เองที่ทำให้ฝ่ายเกาะติดผู้มีอำนาจต่างประเมินตรงกันว่า ไม่มีทางที่โรดแมปจะเป็นไปตามกำหนดเดิม

แน่นอนว่า ทุกอย่างก็เป็นไปอย่างที่ท่านผู้นำชี้แจง เพราะปีนี้เราจะมีพระราชพิธีที่สำคัญนั่นก็คือ พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ จากนั้นจะต้องมีพระราชพิธีพระบรมราชาภิเษก โดยที่บิ๊กตู่ก็ยืนยันว่า เรื่องขั้นตอนของประชาธิปไตยตนเข้าใจดีทุกอย่าง แต่เหตุการณ์เกิดขึ้นมาโดยที่เราไม่คาดคิด ซึ่งไม่มีใครอยากให้เกิดอยู่แล้ว

นี่ไงที่บอกไปเมื่อสัปดาห์ก่อน บรรดานักการเมืองและพรรคการเมือง ไม่ได้อินังขังขอบว่าโรดแมปจะเป็นไปตามคำพูดที่ท่านผู้นำเคยประกาศไว้หรือไม่ เพราะทุกคนเข้าใจดี ดังนั้น จึงไม่มีใครรีบร้อนให้จัดการเลือกตั้ง ในทางกลับกันอยากให้ท่านผู้นำและคณะอยู่กันไปนานๆ โดยที่สถานการณ์ความเป็นอยู่ของประชาชนยังคงดำเนินไปในลักษณะปัจจุบัน

เพราะนั่นยิ่งจะเป็นตัวบั่นทอนความเชื่อถือเชื่อมั่นที่มีต่อรัฐบาลคสช.ลงไปเรื่อยๆ สิ่งเดียวที่บิ๊กตู่ทำได้คือภาวนาให้บรรดาสารพัดโครงการโดยเฉพาะมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเกิดมรรคผล หรือมากไปกว่านั้นมีลูกฟลุกเศรษฐกิจพลิกฟื้นขึ้นมาทันตาเห็น หากเป็นเช่นนั้นก็ไม่จำเป็นที่จะต้องพูดถึงเรื่องการเลือกตั้งอีกต่อไป

ส่วนบรรยากาศที่ถูกมองว่าไม่เป็นประชาธิปไตยหรืออยู่ภายใต้การปกครองในรูปแบบเผด็จการ มีมุมทางวิชาการที่วิจารณ์บทวิพากษ์ผลงานรัฐบาลของ ธีรยุทธ บุญมี ไว้อย่างน่าสนใจ นั่นก็คือ ยุกติ มุกดาวิจิตร อาจารย์คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่บอกว่า ทันทีที่คสช.ขอบคุณธีรยุทธ นั่นหมายความว่า ธีรยุทธได้วางมาตรฐานใหม่ให้แก่การทำงานวิชาการเพื่อสนับสนุนและแอบอิงไปกับเผด็จการทหาร

แนวทางสำคัญๆ ได้แก่ งานวิชาการที่ไม่ตำหนิความเป็นเผด็จการล้มล้างระบอบประชาธิปไตยของทหาร ไม่ตำหนิว่าทหารไม่เป็นประชาธิปไตย ไม่ตำหนิการได้อำนาจมาอย่างไม่ชอบธรรมด้วยการใช้กำลังขู่เข็ญปล้นอำนาจประชาชน ไม่ประณามการละเมิดสิทธิมนุษยชนของทหาร ไม่เอ่ยถึงการใช้ศาลทหารละเมิดสิทธิมนุษยชน ไม่ตำหนิการข่มขู่คุกคาม การไล่จับกุมโดยอำเภอใจ การใช้กฎหมายบังหน้าการใช้อำนาจโดยอำเภอใจด้วยมาตรา 44

ไม่เอ่ยถึงความรุนแรงและไร้ระบบกฎหมายของกฎหมายในมาตรา 112 ไม่เอ่ยถึงการละเมิดสิทธิมนุษยชนของกระบวนการทางกฎหมายที่เกี่ยวเนื่องกับคดีเรื่องนี้ ซึ่งรัฐบาลคสช.ย่อมต้องมีส่วนรับผิดชอบ แต่นักวิชาการที่เผด็จการจะฟังต้องไม่เอ่ยถึง ไม่ตำหนิความล้มเหลวของกระบวนการทางการเมืองของคสช. ที่ไม่สามารถสร้างความปรองดองได้ ยังไม่พอ แต่ยิ่งกลับเพิ่มการแบ่งขั้วทางการเมือง เพิ่มการดำเนินการทางการเมืองที่ตอกย้ำความร้าวลึกของการแบ่งขั้วการเมือง

ยุยงส่งเสริมให้ทหารใช้อำนาจเผด็จการให้มากยิ่งขึ้น ตามแนวทางที่ตนเองและพรรคพวกเห็นว่าดีที่สุดโดยไม่จำเป็นต้องขอฉันทามติจากประชาชน ไม่ใส่ใจเพิ่มอำนาจต่อรองในการกำหนดนโยบายและการบริหารประเทศ นอกจากจะใช้ลีลาที่ไม่แตะต้องความเลวร้ายของระบอบ หรืออีกนัยหนึ่งคืออิงแอบอาศัยอำนาจตามน้ำทหาร ไม่ว่าทหารจะละเมิดใคร ไม่เห็นหัวประชาชนที่ไหนใครก็ตาม แต่ขอให้ฟังนักวิชาการอย่างฉันเป็นพอ

งานวิชาการแบบนี้จะเจริญรุ่งเรืองในระบอบเผด็จการ และวางรากฐานให้แก่นักวิชาการรุ่นหลังที่อยากไต่เต้าทางการเมืองและเติบโตทางวิชาการในระบอบเผด็จการได้เจริญรอยตามต่อไป ทั้งยังจะช่วยรับรองเผด็จการทหารให้มีอำนาจในสังคมการเมืองไทยไปได้อีกนานเท่านาน

ถือเป็นมุมทางวิชาการที่น่าคิดอยู่ไม่น้อย เพราะบทวิพากษ์ของธีรยุทธเที่ยวล่าสุดนั้นคนโดยทั่วไปเข้าใจว่านี่เป็นการลดทอนความน่าเชื่อถือของรัฐบาลคสช. แต่สำหรับยุกติกลับไม่ได้เห็นเช่นนั้น ประเด็นเช่นนี้ก็ต้องให้ถือเป็นเรื่องทางวิชาการที่จะหยิบยกไปถกเถียงกันได้ เนื่องจากเป็นเวทีที่เปิดกว้างรับฟังความเห็นต่าง (หากยังมีบรรยากาศเช่นนั้นอยู่)

สำหรับกลุ่มขั้วความขัดแย้งคงไม่อาจจะนำความคิดเห็นที่แตกต่างในลักษณะนี้ไปตั้งเป็นคำถามได้ เพราะลำพังเวทีสร้างความปรองดองที่เป็นอยู่ในเวลานี้ ก็ชัดเจนแล้วว่า ขนาดจะเชิญฝ่ายเห็นต่างมาร่วมพูดคุยพร้อมกันยังทำไม่ได้ ซึ่งก็เป็นเรื่องที่น่าแปลก เวทีกลางซึ่งใช้กระทรวงกลาโหมเป็นจุดนัดพบ เชิญกันมาครบและตอบรับกันหมด

แต่เวทีของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรหรือกอ.รมน. ที่จะไปจัดทั้ง 77 จังหวัดทั่วประเทศนั้น กลับไม่พบว่ามีการเชิญกลุ่มขั้วความขัดแย้งไปร่วมวงหารือ เรื่องนี้ยืนยันโดย พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ที่ถึงขนาดสั่งการให้ผู้ว่าราชการแต่ละจังหวัดไปดำเนินการเพื่อให้เกิดภาพการยอมรับอย่างแพร่หลาย

ไม่รู้ว่าเป็นสูตรสำเร็จของคนที่ทำงานด้านนี้หรือเปล่า หากยึดเอาเวทีรับฟังความเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านมา เป็นภาพสะท้อนที่ชัดเจนเรื่องของกลุ่มคนจัดตั้ง ไม่เปิดกว้างอย่างที่ควรจะเป็น แต่นั่นพอจะเข้าใจได้ เพราะอย่างไรก็ต้องให้มันเป็นไปตามที่ใจแป๊ะต้องการ ทว่าเรื่องปรองดองจะไปล็อกเป้า ทำตามใจแป๊ะไม่ได้ ความสามัคคีมันต้องเกิดจากการยินยอมพร้อมใจ จะไปมัดมือชก ชี้นิ้วให้มาเชียร์เหมือนที่ผ่านมาไม่ได้

Back to top button