พาราสาวะถี

ไม่ว่าบทสรุปจากที่ประชุมสนช.ต่อร่างพระราชบัญญัติปิโตรเลียม ในประเด็นมาตรา 10/1 เรื่องการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติจะมีบทสรุปอย่างไร คำอธิบายที่พยายามชี้แจงกันออกมานั้น มันจะดีกว่านี้ไม่น้อย หากคิดแล้วถามสังคมให้เกิดการถกเถียงกันอย่างกว้างขวาง ไม่ใช่นำไปลักไก่ยัดไส้ไว้ในร่างกฎหมายปิโตรเลียมแบบลอยๆ


อรชุน

 

ไม่ว่าบทสรุปจากที่ประชุมสนช.ต่อร่างพระราชบัญญัติปิโตรเลียม ในประเด็นมาตรา 10/1 เรื่องการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติจะมีบทสรุปอย่างไร คำอธิบายที่พยายามชี้แจงกันออกมานั้น มันจะดีกว่านี้ไม่น้อย หากคิดแล้วถามสังคมให้เกิดการถกเถียงกันอย่างกว้างขวาง ไม่ใช่นำไปลักไก่ยัดไส้ไว้ในร่างกฎหมายปิโตรเลียมแบบลอยๆ

เสียงวิจารณ์ในมุมสนับสนุนนั้น หลายคนหลายกลุ่มก็รู้อยู่ว่ามีวาระซ่อนเร้นอย่างไร ยิ่งข้ออ้างที่ว่ากรรมาธิการเสียงข้างน้อยมีปัญหากับเสียงข้างมาก จึงอยากจะให้ที่ประชุมสนช.เป็นผู้ตัดสินยิ่งเลอะเทอะกันไปใหญ่ ก็รู้กันอยู่แล้วหากเป็นความประสงค์ของผู้มีอำนาจ สมาชิกลากตั้งทำตัวไม่ต่างอะไรไปจากสภาตรายาง ยกมือผ่านมันดะทุกเรื่องโดยไม่มีการอภิปรายโต้แย้งซักแอะ

กรณีนี้ก็เช่นเดียวกัน ประเภทที่ว่ากฎหมายไม่ได้เขียนระบุเงื่อนเวลาไว้จะต้องจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติให้แล้วเสร็จเมื่อไหร่ มีแค่ถ้อยคำแค่ว่าเมื่อมีความพร้อม ยิ่งไปกันใหญ่ มันไม่ได้หมายความว่าจะล่าช้าออกไปเป็น 100 ปีก็ตั้งไม่ได้ เหมือนที่ วัลลภ ตังคณานุรักษ์ หรือ ครูหยุย พยายามจะสื่อสารกับสังคม เพราะหากรัฐบาลต่อไปยังเป็นผู้มีอำนาจชุดเดิม บอกว่าพร้อมมันก็คือ ตั้งได้ทันทีใช่ไหม หรือแม้แต่รัฐบาลนี้มีความพร้อมก็ตั้งได้ทันทีเช่นกัน

ยิ่งได้ฟังคำอธิบายยิ่งเข้ารกเข้าพงกันไปใหญ่ ดังนั้น จึงขออนุญาตทำตัวเป็นพวกแผ่นเสียงตกร่องอีกหน นำเอาความเห็นของ อนุสรณ์ ธรรมใจ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ และคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ที่พูดถึงเรื่องนี้ได้อย่างน่าสนใจ แม้จะคล้ายๆ กับหลายๆ คนที่เคยบอกไปก่อนหน้า แต่มันคงต้องมาตอกย้ำกันอีกกระทอก เพื่อชี้ให้เห็นถึงความไม่เข้าท่าของเรื่องดังกล่าว

แนวคิดจัดตั้งบรรษัทพลังงานแห่งชาติ โดยให้รัฐเข้าไปจัดการกิจการพลังงานทั้งหมดนั้น เป็นแนวคิดสะท้อนการถอยหลังของนโยบายสาธารณะด้านการจัดการพลังงานของประเทศไทยอย่างน้อย 50-60 ปี แนวคิดแบบนี้ประสบความล้มเหลวในหลายประเทศ เพราะก่อให้เกิดการยึดกิจการเอกชนมาเป็นของรัฐ จะเป็นการดำเนินกิจการพลังงานที่ผูกขาดโดยรัฐ

หากนึกภาพไม่ออกก็ขอให้นึกถึงกิจการปั๊มสามทหาร กับปั๊มของปตท.และบางจากต่างกันอย่างไร ขอให้นึกถึงโรงกลั่นน้ำมันของหน่วยงานพลังงานทหาร กับ โรงกลั่นของไทยออยล์ ไออาร์พีซีและบางจากบริหารจัดการต่างกันอย่างไร

การกำกับดูแลโดยรัฐบาลผ่านทางคณะกรรมการบรรษัทพลังงานแห่งชาติ ซึ่งในช่วงแรกจะมีกรมพลังงานทหารเป็นผู้ดำเนินการ ปัจจุบันโครงสร้างระบบการกำกับดูแลโดยองค์กรอิสระนั้นถูกวางระบบไว้ดีระดับหนึ่งแล้ว ส่วนจุดอ่อนจุดด้อยที่ยังมีอยู่นั้นเป็นปัญหาในรายละเอียดไม่ใช่ทิศทางหรือหลักการใหญ่ ระบบที่ผูกขาดโดยอำนาจรัฐที่มาแทนที่ระบบการแข่งขัน ด้วยการเพิ่มบทบาทภาคเอกชนและการเปิดเสรีจะนำมาสู่ ความไร้ประสิทธิภาพ การคอร์รัปชั่นและหนี้สาธารณะของประเทศในอนาคต

หากมีการจัดตั้ง บรรษัทพลังงานแห่งชาติ ตามร่างที่จะนำเสนอสนช. ประเทศไทยจะมีความเสี่ยงทางการคลังในอนาคตอย่างแน่นอน ขอให้ดูกรณีของประเทศเวเนซุเอลาที่ประสบความล้มละลาย เกิดวิกฤติทางการคลัง จนต้องยอมทำสัญญาขายน้ำมันดิบล่วงหน้ากับจีน เพื่อแลกเงินกู้มาจ่ายเงินเดือนราชการและบริหารประเทศ ทั้งที่เวเนซุเอลาเคยเป็นประเทศที่ส่งออกน้ำมันและมีฐานะทางการคลังที่มั่นคงมาก่อน

หากจะยกตัวอย่างกรณีบรรษัทพลังงานแห่งชาติแบบเปโตรนาสของมาเลเซียว่าประสบความสำเร็จก็ไม่ สามารถพูดได้เต็มปากเพราะ เปโตรนาส เป็นทั้งผู้ทำหน้าที่กำกับดูแล หรือ Regulator และ เป็นผู้ทำธุรกิจ หรือ Operator ด้วยในขณะเดียวกันจึงทำให้มีกำไรสูง แต่ระบบนี้ดีที่สุดกับประชาชนมาเลเซียหรือไม่ยังมีข้อสงสัย

การไม่แยกระหว่างการเป็นผู้กำกับดูแลกับผู้ทำธุรกิจ ยังขัดกับหลักธรรมาธิบาลหรือการกำกับดูแลกิจการที่ดี โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการตรวจสอบถ่วงดุลอีกด้วย สิ่งที่เราเห็น ก็คือ การทุจริตคอร์รัปชั่นของกลุ่มผู้นำทางการเมืองที่ควบคุมดูแลบรรษัทพลังงานแห่งชาติ โดยนายกฯมาเลเซียคนปัจจุบันมีข้อครหาพัวพันกับกองทุน 1-MDB ที่ถูกกล่าวหาว่าทุจริตและยังมีกรณีพัวพันกับการทุจริตให้สินบนของบริษัท Unaoil อีกด้วย และไม่มีใครไปกล้าตรวจสอบบัญชีของเปโตรนาสได้

ขณะที่ ปตท. ถูกตรวจสอบทั้งจากสตง.ในฐานะรัฐวิสาหกิจ และ คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์หรือก.ล.ต. รวมทั้งผู้ถือหุ้น นักลงทุนสถาบัน นักลงทุนต่างประเทศ การบริหารจัดการมีประสิทธิภาพและโปร่งใสกว่า แม้ไม่สมบูรณ์แบบก็ตาม ทั้งนี้ ขอให้ดูตัวอย่างความหายนะทางเศรษฐกิจและกิจการพลังงานของประเทศเม็กซิโกก่อนหน้านี้ด้วย ในที่สุดก็ยกเลิกระบบผูกขาดโดยรัฐ มาเป็นระบบเสรีเปิดให้มีการแข่งขันของภาคเอกชนผู้รับสัมปทานหรือแบ่งปันผลผลิต

คงไม่ต้องไปเรียกร้องหรือบอกว่าคิดกันให้ดี สิ่งเหล่านี้มันไม่ใช่แค่คิดแล้วทำทันที แต่มันผ่านกระบวนการที่มีขบวนการคิดกันมาแล้ว ดังนั้น จึงไม่ต้องแปลกใจในบทสรุป เช่นเดียวกับเรื่องการสร้างความปรองดองที่ไม่ว่าสังคมจะตั้งคำถามอย่างไรและโดยเฉพาะอย่างยิ่งพรรคเพื่อไทยออกมาเรียกร้องเรื่องความเป็นอิสระ ฝ่ายผู้มีอำนาจจึงตอบโต้กลับในทำนองประชดประชันรายวัน

ด้วยเหตุนี้ความเห็นของ พวงทอง ภวัครพันธุ์ จึงชวนให้คิดเป็นอย่างมาก รัฐบาลที่เป็นประชาธิปไตยที่ชาญฉลาดพอควรจะตั้งคำถามใหม่ว่า เราจะแก้ปัญหาสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยของไทยอย่างไร เพื่อไม่ให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่ถูกนานาชาติวิพากษ์วิจารณ์ซ้ำแล้วซ้ำเล่า คำถามต้องกลับไปแก้ที่ต้นตอของปัญหา ไม่ใช่คำถามที่จะแก้ไขภาพพจน์ โดยที่ไม่ถามว่าอะไรที่ทำให้ภาพพจน์ของไทยย่ำแย่

นี่ไม่ใช่การปรองดอง มันเป็นการใช้อำนาจในการที่จะทำให้คนอื่นยอมทำตามตนเอง กลุ่มที่เข้าไปร่วมปรองดองก็อาจจะได้รับรางวัล เช่น ได้กลับเข้าไปเป็นรัฐบาลอีกครั้ง เราก็ดีแต่เอาคำพูดสวยหรูของฝรั่งมาใช้ แต่เนื้อหานั้นก็เป็นเนื้อหาที่กลุ่มอำนาจของไทยต้องการ เพื่อคงไว้ซึ่งอำนาจ ภายใต้คำพูดที่สวยหรูดูดีเท่านั้นเอง มุมอย่างนี้คงมีข้อโต้แย้งเหมือนที่ผู้มีอำนาจย้ำนักย้ำหนาว่าทหารไม่ใช่คู่ขัดแย้งของใคร ที่สำคัญคงมีความรู้สึกเหมือนที่ประธานกรรมาธิการพลังงานสนช.เคยลั่นวาจาหลังถูกตีเรื่องบรรษัทน้ำมันแห่งชาติว่า ไม่กลัวใคร

Back to top button