ไม่ทุเลายึดทรัพย์ยิ่งลักษณ์?

ศาลปกครองกลางมีคำสั่งยกคำขอ ของยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ขอให้ศาลสั่งทุเลาการบังคับคำสั่งกระทรวงการคลังที่ให้ชดใช้ค่าเสียหายจำนำข้าว 3.5 หมื่นล้านบาทไว้ก่อนที่จะมีคำพิพากษา โดยตุลาการเสียงข้างมากเห็นว่ารัฐบาลยังไม่มีการใช้มาตรการบังคับทางปกครองโดยยึดหรืออายัดทรัพย์สิน และขายทอดตลาด จึงรับฟังไม่ได้ว่า หากศาลไม่สั่งทุเลาจะทำให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงที่ยากแก่การเยียวยาแก้ไข


ทายท้าวิชามาร : ใบตองแห้ง

 

ศาลปกครองกลางมีคำสั่งยกคำขอ ของยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ขอให้ศาลสั่งทุเลาการบังคับคำสั่งกระทรวงการคลังที่ให้ชดใช้ค่าเสียหายจำนำข้าว 3.5 หมื่นล้านบาทไว้ก่อนที่จะมีคำพิพากษา โดยตุลาการเสียงข้างมากเห็นว่ารัฐบาลยังไม่มีการใช้มาตรการบังคับทางปกครองโดยยึดหรืออายัดทรัพย์สิน และขายทอดตลาด จึงรับฟังไม่ได้ว่า หากศาลไม่สั่งทุเลาจะทำให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงที่ยากแก่การเยียวยาแก้ไข

คำสั่งนี้ อธิบายได้ว่า ศาลยังไม่ได้สั่ง “ทุเลา” หรือ “ไม่ทุเลา” แต่ศาลเห็นว่ารัฐบาลยังไม่ได้ใช้มาตรการบังคับ จึงยังไม่จำเป็นต้องสั่ง

ซึ่งก็เช่นเดียวกับคดีบุญทรง เตริยาภิรมย์ กับพวก ที่ศาลเห็นว่ารัฐยังไม่ได้ใช้มาตรการบังคับ แต่ก็ทำให้บุญทรงกับอีก 4 คนงวยงง ว่าเมื่อใดกันแน่ ที่ศาลจะถือว่าใช้มาตรการบังคับ และให้ยื่นคำขอทุเลาได้ใหม่ คำสั่งให้ชดใช้ พร้อมหนังสือแจ้งเตือนให้ชดใช้ใน 15 วัน ยังไม่เพียงพออีกหรือ

เข้าใจตรงกันนะครับ ยิ่งลักษณ์ (บุญทรง) ถูกรัฐบาลเรียกค่าเสียหายตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิด กฎหมายนี้ให้อำนาจฝ่ายบริหาร เมื่อเห็นว่าเจ้าหน้าที่รัฐทำให้รัฐเสียหาย โดยทุจริต หรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง สมมติเช่น โกงเงิน,ทำเงินหาย, ทำทรัพย์สินพัง รัฐจะประเมินความเสียหายแล้วเรียกให้ชดใช้ ซึ่งผู้ถูกเรียกค่าเสียหายต้องไปฟ้องศาลปกครอง ให้อำนาจตุลาการตัดสินว่าผิดจริงไหมต้องชดใช้เท่าไหร่ โดยในระหว่างรอคำพิพากษา สามารถขอทุเลาไว้ก่อน

หลักในการพิจารณาของศาล ว่าจะทุเลาหรือไม่ คือหนึ่ง คำสั่งนั้นน่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย สอง ถ้าไม่ทุเลาจะเกิดความเสียหายยากแก่การเยียวยาภายหลัง สาม คือการทุเลาต้องไม่เป็นอุปสรรคแก่การบริหารราชการแผ่นดิน

คดีนี้ ตุลาการเสียงข้างน้อย 2 ท่าน คือนายภานุพันธ์ ชัยรัต รองอธิบดีศาลปกครองกลาง กับนายวชิระ ชอบแต่ง ตุลาการเจ้าของสำนวน มีความเห็นให้สั่งทุเลา โดยชี้ว่าคำสั่งกระทรวงการคลังยังไม่เป็นที่ยุติ ต้องรอคำพิพากษาถึงที่สุดของศาล (ซึ่งมี 2 ชั้นคือศาลปกครองกลาง ศาลปกครองสูงสุด) หากปล่อยให้ยึดอายัดทรัพย์ไปก่อนก็จะเกิดความเสียหายร้ายแรงยากแก่การเยียวยาภายหลัง ทั้งต่อยิ่งลักษณ์ และผู้เกี่ยวข้องทำธุรกรรม การสั่งทุเลาไม่เป็นอุปสรรคที่รัฐจะเตรียมการสืบหายึดอายัดเมื่อศาลตัดสินแล้ว

โดยนายภานุพันธ์ยังตอกย้ำว่า การออกคำสั่งนี้เกิดขึ้น “ภายใต้สถานการณ์การใช้กำลังยึดอำนาจการปกครอง” ศาลซึ่งมีหน้าที่อำนวยความยุติธรรมจึงต้องตระหนักและให้ความสำคัญต่อการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพด้วยการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐแทนรัฐตามหลักนิติธรรมเพื่อป้องกันการใช้อำนาจรัฐตามอำเภอใจ

ความเห็นของท่านชอบธรรมและยุติธรรม จนต้องปรบมือให้ อันที่จริงคำสั่งฝ่ายบริหาร  ไม่ว่ารัฐบาลจากเลือกตั้งหรือยึดอำนาจ ก็เป็นคำสั่งที่ยังไม่ผ่านกระบวนการยุติธรรม จะปล่อยให้ยึดอายัดโดยยังไม่มีคำพิพากษาถึงที่สุดได้อย่างไร

ตุลาการอีก 5 ท่านไม่ได้เห็นด้วยหรือเห็นแย้ง เพราะท่านยังไม่ได้สั่งทุเลาหรือไม่ทุเลา ดังกล่าวข้างต้น แต่มติ 5-2 เป็นประเด็นที่ว่า คำสั่งกระทรวงการคลังถือเป็นมาตรการบังคับแล้วหรือไม่ ซึ่งเสียงข้างน้อย 2 ท่าน เห็นว่า “ผู้ถูกฟ้องได้เริ่มกระบวนการยึดหรืออายัดทรัพย์สินแล้ว” ในขณะที่ 5 ท่านเห็นว่ายังไม่ได้บังคับโดยฝ่ายยิ่งลักษณ์ก็ยังงงๆ ว่าเมื่อไหร่จะถือว่าบังคับ (อาจงงจนโดนยึดทรัพย์ไปก่อน)

Back to top button