พาราสาวะถี

ผ่านวาระแรกไปแบบสบายๆ สำหรับร่างกฎหมายลูกว่าด้วยกกต.และพรรคการเมือง ก่อนที่จะมีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา 2 คณะ โดยมีจำนวนตามที่เคยได้บอกไปก่อนหน้าว่าคณะละ 31 คน กำหนดระยะเวลาในการดำเนินการไม่เกิน 45 วัน นั่นหมายความว่า กระบวนการพิจารณาร่างกฎหมายสำคัญทั้งสองฉบับจะอยู่ในกรอบพอดิบพอดีที่ 60 วัน


อรชุน

ผ่านวาระแรกไปแบบสบายๆ สำหรับร่างกฎหมายลูกว่าด้วยกกต.และพรรคการเมือง ก่อนที่จะมีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา 2 คณะ โดยมีจำนวนตามที่เคยได้บอกไปก่อนหน้าว่าคณะละ 31 คน กำหนดระยะเวลาในการดำเนินการไม่เกิน 45 วัน นั่นหมายความว่า กระบวนการพิจารณาร่างกฎหมายสำคัญทั้งสองฉบับจะอยู่ในกรอบพอดิบพอดีที่ 60 วัน

อย่างไรก็ตาม ยังมีปมที่เดิมทีคิดว่าไม่น่าจะมีปัญหาอะไรแต่กลายเป็นว่ากลับถูกสมาชิกสนช.ทักท้วงกันมากที่สุด นั่นก็คือ ประเด็นว่าด้วยการให้สมาชิกพรรคต้องจ่ายค่าสมาชิกรายปี 100 บาทหรือตลอดชีพไม่เกิน 2,000 บาท โดยสนช.ที่ไม่เห็นด้วย มองว่า มีวิธีการที่จะให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมกับพรรคการเมืองที่หลากหลายมากไปกว่าการจัดเก็บเงินค่าสมาชิกพรรค

ในรายของ “ครูหยุย” วัลลภ ตั้งคณานุรักษ์ ถึงกับบอกว่า เงิน 100 บาทสำหรับสมาชิกผู้ทรงเกียรติในที่ประชุมนั้นถือว่าน้อยนิด แต่สำหรับคนยากจนแล้วถือว่ามีค่ามาก ดังนั้น การที่จะให้ประชาชนเข้าไปร่วมกิจกรรมกับพรรคการเมือง สามารถทำได้หลายวิธี ที่สำคัญการปล่อยให้เงินเข้ามาเป็นปัจจัย พรรคการเมืองที่มีกำลังก็สามารถออกค่าใช้จ่ายแทนประชาชนเพื่อให้ได้จำนวนสมาชิกตามที่กฎหมายกำหนดได้อย่างง่ายดาย

จะกลายเป็นว่าพรรคการเมืองขนาดเล็กจะอยู่ลำบาก เพราะไม่มีทั้งกำลังทรัพย์และความสนใจที่จะเข้าร่วมของประชาชนก็มีจำกัด ทำให้ยากต่อการที่จะหาสมาชิกให้ได้ 5 พันคนในปีแรกและหมื่นคนภายใน 4 ปี ซึ่งนั่นหมายความว่า พรรคเหล่านั้นก็จะถูกยุบในที่สุด แนวทางเรื่องการตั้งยากยุบง่ายจึงไม่น่าจะถูกต้องและไม่สอดคล้องกับหลักประชาธิปไตย

แต่ก็อย่างว่า เมื่อลงเรือแป๊ะและแป๊ะต้องการอย่างนี้นักออกแบบกฎหมายอย่าง มีชัย ฤชุพันธุ์ ต้องจัดให้อย่างถึงใจพระเดชพระคุณท่าน และไม่ต้องให้ไปหาคำอธิบายใดๆ เนติบริกรชั้นครูย่อมรู้ทางหนีทีไล่เป็นอย่างดี งานนี้จึงต้องไปวัดกันในชั้นกรรมาธิการ จะหาทางออกที่ลงตัวหรือสุดท้ายต้องให้แป๊ะมาทุบโต๊ะเปรี้ยงต้องติดตามกันต่อไป

ที่น่าสนใจคงเป็นท่วงทำนองของพรรคประชาธิปัตย์ ทั้งๆ ที่มีสมาชิกพรรคมากกว่าพรรคการเมืองทั้งหมดที่มีอยู่ ก็ไม่ได้รู้สึกดีกับประเด็นค่าสมาชิกพรรคแม้แต่น้อย ล่าสุด ทั้ง องอาจ คล้ามไพบูลย์ และ วัชระ เพชรทอง ต่างก็ออกมาแสดงความเห็นในเรื่องดังกล่าว พร้อมๆ กับการเรียกร้องให้คณะกรรมาธิการของสนช.เปิดเวทีให้พรรคการเมืองได้ร่วมแสดงความเห็นอีกสักครั้ง

ทั้งๆ ที่รู้ว่าเป็นเรื่องยาก แม้สมาชิกสนช.บางรายในที่ประชุมจะแสดงท่าทีไม่เห็นด้วยกับกรธ. แต่ส่วนใหญ่ต้องยอมรับความเป็นจริงว่าก็คือพวกที่เกลียดนักการเมือง ดังนั้น จึงมองเห็นคนเหล่านี้เป็นตัวถ่วง เป็นพวกน่ารังเกียจ การที่จะได้รับโอกาสเข้าไปร่วมเสนอข้อคิดเห็นนั้นจึงเป็นไปไม่ได้ มิเช่นนั้น สัดส่วนของกรรมาธิการคงเปิดที่เปิดทางให้มีตัวแทนจากฝ่ายการเมืองเข้าไปร่วมแล้ว

ไม่ต่างกันกับ นพดล ปัทมะ จากพรรคเพื่อไทย ที่เสนอว่าในชั้นกรรมาธิการของสนช.หวังว่าจะเปิดใจกว้าง รับฟังความคิดเห็นจากภาคส่วนต่างๆโดยเฉพาะพรรคการเมือง เพื่อพัฒนากฎหมายทั้งสองฉบับให้มีความสมบูรณ์ ยิ่งในประเด็นหลังฝ่ายผู้มีอำนาจและผู้ดำเนินการต่างเห็นตรงกันมาตั้งแต่แรกแล้วว่า กฎหมายทั้งหมดที่บังคับใช้อยู่เวลานี้และที่กำลังพิจารณา ถือว่าสมบูรณ์แบบและถูกเลือกแล้วว่าเหมาะสมกับคนไทยเป็นที่สุด

ด้วยเหตุนี้ จึงอย่าได้ไปหวังปาฏิหาริย์หรืออภินิหาร จะเกิดขึ้นกับกฎหมายลูกที่ว่าด้วยพรรคการเมืองหรือแม้แต่กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งทั้งหมด สิ่งต่างๆ เหล่านี้เห็นได้อย่างเด่นชัดว่า เป็นการตั้งธงกันมาเรียบร้อย ส่วนจะสอดรับกับแนวทางการปฏิรูปที่ม็อบเส้นใหญ่ชูกันไว้ก่อนการรัฐประหารหรือไม่นั้น พิจารณาเนื้อหาสาระทั้งหมดแล้วคงจะหาคำตอบกันได้ไม่ยาก

น่าสนใจอีกประการต่อประเด็นค่าสมาชิกพรรค กับข้อเสนอของ สุเทพ เทือกสุบรรณ ที่บอกว่าปีละร้อยบาทนั้นน้อยไป ควรจะเสียสละกันวันละบาทหรือเท่ากับ 365 บาทต่อไป มีข้อทักท้วงจาก วัชระ เพชรทอง ว่า สุเทพบอกเลิกเล่นการเมืองแล้ว แต่พูดเรื่องการเมืองทุกวัน ตัวเองเคยเป็นอดีตเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์เคยพูดกับสมาชิกพรรคไว้ว่า ใครมีแรงออกแรง ใครมีเงินออกเงิน แล้วมาวันนี้ทำไมต้องมาบังคับให้ประชาชนต้องจ่ายเงินค่าสมาชิกพรรค 

ทั้งที่ผ่านมาเคยมีคนที่เชื่อสุเทพแล้วผิดหวังเพราะกลายเป็นมีรัฐบาลทหารมา 3 ปีแล้ว ตนขอคัดค้านเรื่องเงินบำรุงพรรค ไม่ควรเอาเงินมาตั้งเป็นกำแพงขวางกั้นการเป็นสมาชิกพรรคการเมืองของประชาชน เพราะเงิน 100 บาท ที่บังคับจ่ายนี้ชาวสวนยางต้องขายขี้ยางถึง 3 กิโลกรัม ถ้าต้องจ่ายเงินค่าสมาชิกพรรคการเมืองถึงปีละ 365 บาท ชาวสวนยางต้องขายขี้ยางถึง 11 กิโลกรัมกว่าจะได้เป็นสมาชิกพรรคการเมือง 1 ปี

วัชระจึงแนะให้เทพเทือกไปถามชาวสวนยางพาราก่อน อดีตคนกันเองตั้งข้อสังเกตอย่างนี้ ก็น่าจะทำให้เห็นอะไรบางอย่างที่จะเกิดขึ้นในพรรคเก่าแก่ก่อนการเลือกตั้งได้เป็นอย่างดี แต่การเดินเกมเชลียร์ผู้มีอำนาจตั้งแต่ยังห่มกายด้วยผ้าเหลืองของเทพเทือก ก็น่าจะพอกันเอาได้ไม่ยากว่า ถนนสายการเมืองของแกนนำกปปส.นั้นจะเดินกันอย่างไร

สำหรับร่างกฎหมายที่ว่าด้วยกกต. ปมว่าด้วยกกต.จังหวัดยังถูกกังขาจากสมาชิกสนช.หลายราย โดยยังไม่เชื่อว่าผู้ตรวจการเลือกตั้งจะเข้ามาแก้ปัญหาอิทธิพลท้องถิ่นและการทุจริตเลือกตั้งในพื้นที่ได้ มีบางส่วนที่สนับสนุนข้อเสนอของกกต.คือ ให้มีทั้งสองอย่างควบคู่กันไป โดยไม่ให้กกต.จังหวัดเข้าไปเกี่ยวข้องกับการให้คุณให้โทษในการเลือกตั้ง

สรุปแล้วกฎหมายลูกทั้งสองฉบับ แม้จะแยกคณะกรรมาธิการพิจารณา แม้เนื้อหาและบริบทจะแตกต่างกัน แต่โดยภาพรวมเป้าหมายไม่ได้ต่างกัน ทั้งหมดอยู่ที่จะจัดการอย่างไรกับนักการเมืองทั้งในส่วนภูมิภาคและระดับประเทศ เมื่อออกแบบกฎหมายด้วยโจทย์ที่เต็มไปด้วยอคติเสียอย่างนี้แล้ว ก็คงเป็นเรื่องลำบากที่จะทำให้การเลือกตั้งซึ่งจะมีขึ้น ออกมาในรูปแบบที่เป็นไปด้วยความเรียบร้อยและเป็นประชาธิปไตยอย่างสมบูรณ์เหมือนที่บางคนบางฝ่ายต้องการ

Back to top button