พาราสาวะถี

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันอังคารรับทราบหมายกำหนดการพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ตามที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชวินิจฉัยแล้ว โดยจะมีพระราชพิธี 5 วัน วันที่ 25 ตุลาคม 2560 พระราชพิธีออกพระเมรุ วันที่ 26 ตุลาคม พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ โดยในวันดังกล่าวครม.มีมติให้เป็นวันหยุดราชการด้วย


อรชุน

 

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันอังคารรับทราบหมายกำหนดการพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ตามที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชวินิจฉัยแล้ว โดยจะมีพระราชพิธี 5 วัน วันที่ 25 ตุลาคม 2560 พระราชพิธีออกพระเมรุ วันที่ 26 ตุลาคม พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ โดยในวันดังกล่าวครม.มีมติให้เป็นวันหยุดราชการด้วย

จากนั้นในวันที่ 27 ตุลาคม พระราชพิธีเก็บพระบรมอัฐิ วันที่ 28 ตุลาคม พระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลพระบรมอัฐิ และวันที่ 29 ตุลาคม พระราชพิธีอัญเชิญพระบรมอัฐิไปยังพระบรมมหาราชวัง สำหรับการปฏิบัติตัวของประชาชนในช่วงพระราชพิธีนั้น วิษณุ เครืองาม แนะให้รอฟังข้อปฏิบัติจากทางราชการอีกครั้ง ยังมีเวลาอีกหลายเดือน

แต่หัวใจสำคัญของงานอยู่ที่ท้องสนามหลวง ซึ่งเป็นสถานที่ประกอบพระราชพิธี และประชาชนส่วนใหญ่ต้องการเข้าไปมีส่วนร่วม ซึ่งโอกาสที่ประชาชนจะเข้าไปถึงพระเมรุมาศได้ทั้งหมดนั้นคงไม่สามารถทำได้ โดยทางสำนักพระราชวังจะเป็นผู้กำหนดบุคคลที่จะเข้าร่วมในพระราชพิธี ทั้งนี้เรื่องใหญ่ที่รัฐบาลเป็นห่วงเรื่องคือการจราจร เพราะคาดว่าจะมีประชาชนหลั่งไหลเข้ามาเป็นจำนวนมาก และอาจเกิดการกระทบกระทั่งกันบ้าง เป็นหน้าที่ของฝ่ายความมั่นคงที่จะต้องดูแลและอำนวยความสะดวก

อย่างไรก็ตาม เมื่อท้องสนามหลวงไม่สามารถรองรับคลื่นมหาประชาชนจำนวนมากได้ รัฐบาลจำเป็นจะต้องจัดซุ้มภาพประดับ ซุ้มดอกไม้จันทน์ โดยขอพระราชทานพระราชานุญาตบันทึกภาพพระบรมโกศบนพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท เพื่อนำภาพมาประกอบร่วมกับพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่บริเวณโดยรอบท้องสนามหลวงและจุดต่างๆ ทั่วกรุงเทพฯ

เช่นเดียวกับต่างจังหวัดและต่างประเทศที่จะมีการจัดซุ้มในรูปแบบเดียวกันเพื่อให้ประชาชนได้ร่วมวางดอกไม้จันทน์ ทั้งนี้ เมื่อใกล้เวลาในการถวายพระเพลิงพระบรมศพ เจ้าหน้าที่สำนักพระราชวังจะเชิญดอกไม้จันทน์จากทุกซุ้มในกรุงเทพฯมาวางที่พระเมรุมาศ เพื่อถวายพระเพลิงพระบรมศพ ส่วนในต่างจังหวัดและต่างประเทศจะนำดอกไม้จันทน์ไปถวายพระเพลิงในจุดที่ได้กำหนดไว้

ส่วนเรื่องการที่จะห้ามประชาชนเดินทางเข้ากรุงเทพฯนั้นคงเป็นเรื่องลำบาก แม้ทุกคนจะเข้าใจว่าโอกาสที่จะได้ไปถึงท้องสนามหลวงในวันที่ 26 ตุลาคมนั้น เป็นไปได้ยาก แต่แค่ได้เห็นยอดปลายของพระเมรุมาศหรือมีส่วนร่วมในพิธีก็พอใจแล้ว ตรงนี้เป็นสิ่งที่รัฐบาลต้องเตรียมการร้องรับเป็นอย่างดี เพราะนี่คือโอกาสสุดท้ายของคนไทยทุกคนที่จะได้แสดงความอาลัยต่อพ่อของแผ่นดิน

หันกลับไปดูการบริหารราชการแผ่นดินภายใต้รัฐบาลคสช. ฮือฮาและถูกตั้งข้อกังขาเวลานี้หนีไม่พ้นปมครม.อนุมัติจัดซื้อเรือดำน้ำจากจีนไปตั้งแต่วันที่ 18 เมษายน แต่ไม่ปรากฏเป็นข่าวและเกิดข้อสงสัยว่าทำไมทีมโฆษกรัฐบาลจึงไม่แถลง ฟังคำชี้แจงของ สรรเสริญ แก้วกำเนิด ยิ่งอธิบายยิ่งเข้ารกเข้าพง การบอกว่าเป็นเอกสารลับมุมแดงแถลงไม่ได้แค่เท่านี้ทุกอย่างก็จะโอเค

แต่เมื่อใส่ความเห็นต่อไปว่าก็นักข่าวไม่ได้ถามเรื่องนี้ จึงมีประเด็นให้ต่อยอดกันต่อมา ถ้าถามแล้วท่านโฆษกปากดีจะตอบไหม ก็บอกไปแล้วว่าเป็นเอกสารมุมแดง พอชี้แจงมุมนี้มันจึงกลายเป็นเรื่องของการตะแบง สีข้างเข้าถูไปเสียฉิบ ยิ่งไปบอกว่าไม่มีงุบงิบ แอบผ่าน สิ่งที่ทำกันอยู่นั่นแหละเขาเรียกว่าพยายามปกปิด

ทั้งๆ ที่เรื่องดังว่าไม่จำเป็นจะต้องมากระมิดกระเมี้ยนหรือต้องไปแอบผ่านกันในครม. ประเด็นเอกสารลับนั้นคนคงไม่เถียงและคงไม่ได้ใครอยากรู้ว่า เรือที่ท่านจะซื้อนั้นมีคุณสมบัติอะไรอย่างไร เพราะอธิบายไปคนก็คงเข้าใจลำบาก แค่เขาอยากรู้ว่าได้อนุมัติจัดซื้อไปแล้วหรือยัง แล้วจะดำเนินการในเรื่องของการร่างสัญญา เซ็นสัญญากันเมื่อไหร่ ใช้งบประมาณแบบไหน เท่านี้ถามว่าต้องเป็นความลับไหม

เมื่อทำเป็นลับๆ ล่อๆ  แอบยกมือผ่านกันไป ก็หนีไม่พ้นทำให้สังคมเกิดความคลางแคลงใจว่ามันมีอะไรซ่อนอยู่หรือเปล่า แทนที่จะแถลงข่าวให้รับรู้แล้วก็จบกันไป ทีนี้เชื่อได้เลยว่าจะมีบุคคลหรือกลุ่มบุคคลไปขุดคุ้ย เปรียบเทียบความคุ้มค่าของเรือดำน้ำจากจีนกับประเทศผู้ผลิตรายอื่น มากไปกว่านั้นอาจจะมีบางคนบางพวกขอใช้ช่องทางผ่านกฎหมายข้อมูลข่าวสารของทางราชการให้เปิดเผยรายละเอียดการจัดซื้อจัดหา เป็นเรื่องวุ่นวายกันไปอีก

ความวัวยังไม่ทันหายก็เกิดความควายเข้ามาอีกเรื่อง ล่าสุด มีการถามถึงร่างพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาว่าด้วยการให้อำนาจในการเข้าถึงพยานหลักฐานของเจ้าหน้าที่ตำรวจในการสืบสวนสอบสวนคดีอาญา ไฮไลต์อยู่ที่การที่เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถดักฟังโทรศัพท์ประชาชนได้ นี่แหละเรื่องใหญ่

ฟังคำอธิบายจากมือกฎหมายรัฐบาลอย่างวิษณุ บอกให้ประชาชนไม่ต้องกังวลแต่น่าจะยิ่งกังวลไปใหญ่ เพราะตอนแรกบอกว่าการจะดักฟังได้ต้องขอหมายศาลก่อน ไม่กระทบประชาชนทั่วไป มาตรการเป็นไปตามหลักนิติธรรมทุกอย่าง เป็นไปตามมาตรฐานต่างประเทศ แต่เรื่องนี้บางประเทศไม่ต้องขอศาลก่อนในบางกรณี เสร็จแล้วค่อยรีบไปขอศาลโดยเร็ว ถ้าศาลสั่งให้เลิกก็เลิก

สรุปที่ว่าดักฟังก่อนแล้วค่อยไปขอศาล มันคือตัวอย่างที่เกิดในบางประเทศหรือว่าประเทศไทยก็จะใช้ในแนวทางแบบนี้ หากเป็นเช่นนั้นมันน่าจะเข้าข่ายการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลแบบเต็มๆ คงไม่ต้องถามว่าเพราะอะไร วันนี้การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจถามว่าโปร่งใส ได้รับความไว้วางใจจากประชาชนแล้วหรือไม่

คำตอบมันชัดเจนอยู่แล้ว เมื่อไม่โปร่งใส หมายความว่าการดักฟังก็จะเกิดขึ้นได้ตลอดเวลากับบุคคลที่ตำรวจสงสัยหรืออาจจะมีปัญหาส่วนตัว เมื่อเห็นมีอะไรที่จะใช้เล่นงานได้ค่อยไปขอศาล แต่หากไม่มีประเด็นจะเอาผิดก็ไม่จำเป็นต้องขอ แต่คนคนนั้นก็ถูกดักฟังไปแล้ว ยิ่งได้ฟังโฆษกตำรวจชี้แจง 4 คดีที่จะดักฟังมีคดีความมั่นคงด้วยแล้ว คงไม่ต้องสาธยายว่าคดีดังว่านั้นมันนิยามกว้างขวางขนาดไหน แค่ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมามีคนโดนคดีนี้ไปเท่าไหร่แล้ว

Back to top button