พาราสาวะถี

ไม่รู้จะเรียก “ปาหี่” ได้หรือเปล่า แต่การเข้าพบ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ของ 8 แกนนำกปปส. เพื่อเคลียร์ใจว่าไม่ได้เลื่อยขาเก้าอี้หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ก็เป็นการกรุยทางเพื่อกลับบ้านเก่าหลังจากได้ยื่นใบลาออกเพื่อไปปฏิบัติภารกิจล้มรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จนประสบความสำเร็จ โบกมือดักกวักมือเรียกรัฐประหารฉีกทิ้งรัฐธรรมนูญ 2550 ที่ถูกมองว่าเสียของเรียบร้อย


อรชุน

ไม่รู้จะเรียก “ปาหี่” ได้หรือเปล่า แต่การเข้าพบ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ของ 8 แกนนำกปปส. เพื่อเคลียร์ใจว่าไม่ได้เลื่อยขาเก้าอี้หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ก็เป็นการกรุยทางเพื่อกลับบ้านเก่าหลังจากได้ยื่นใบลาออกเพื่อไปปฏิบัติภารกิจล้มรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จนประสบความสำเร็จ โบกมือดักกวักมือเรียกรัฐประหารฉีกทิ้งรัฐธรรมนูญ 2550 ที่ถูกมองว่าเสียของเรียบร้อย

แน่นอนว่า หัวหน้ามาร์คก็ไม่ได้มีปัญหาและเป็นประชาธิปัตย์สไตล์ หลังจากให้สัมภาษณ์แกนนำกปปส.ทั้งหมดมีสิทธิ์กลับมาพรรคอดีตต้นสังกัดได้ เพราะทั้งหมดไม่เคยบอกว่าจะไม่กลับมา ตีกินกันแบบเนียนๆ เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น การไปล้มรัฐบาลเลือกตั้งพร้อมกับการเปิดทางให้เผด็จการเข้ามาบริหารประเทศและร่างรัฐธรรมนูญทำลายอำนาจอธิปไตยของประชาชน ก็ไม่ได้เกิดจากน้ำมือคนพรรคของตัวเอง

ดังนั้น จึงไม่มีอะไรต้องสงสัยกันอีกต่อไป ความเคลื่อนไหวของประชาธิปัตย์และกปปส.เป็นไปในทิศทางเดียวกันหรือไม่ ไม่ว่าจะเล่นลิเก จำอวดกันอย่างไร เด็กอมมือมันยังรู้และดูออก ส่วนตัวปัญหาอย่าง สุเทพ เทือกสุบรรณ ไม่ใช่เรื่องใหญ่ไม่ใช่ไม่อยากกลับมา แต่วาทกรรมที่สร้างไว้ช่วงก่อม็อบ จะขอหันหลังให้การเมืองเป็นเรื่องที่จะพลิกลิ้นหรือยอมเสียสัตย์เพื่อชาติเหมือนอดีตที่ผ่านมาไม่ได้

แม้จะไม่เข้ามาในพรรค ถามว่าบทบาทของเทพเทือกหมดไปแล้วจริงหรือไม่ บรรดาลิ่วล้อที่สอพลอหัวหน้าพรรคเพื่อหวังสกัดพลพรรคฝั่งหัวหน้ากปปส.คงรู้ดีว่าความเป็นจริงภายในพรรคนั้นเป็นอย่างไร ที่จะหวังให้เกิดการเปลี่ยนแปลง อภิสิทธิ์ตื่นรู้ด้วยตัวเอง ยืนด้วยลำแข้งเป็นคุณหนูที่เลิกเป็นลูกแหง่นั้น มันคงเป็นเรื่องยาก

เมื่อเป็นเช่นนี้ ข้อเสนอของ พิชัย รัตตกุล คนที่หวังดีต่อพรรคมาโดยตลอดที่จะให้ 4 พรรคการเมือง ทั้ง เพื่อไทย ประชาธิปัตย์ ชาติไทยพัฒนาและภูมิใจไทย จับมือกันตั้งรัฐบาลหลังเลือกตั้งครั้งหน้า เพื่อลบภาพนักการเมืองชั่วนักการเมืองเลวนั้น แค่ฝันก็ยังผิด เพราะแนวคิด แนวทางการดำเนินงานทางการเมืองของสองพรรคใหญ่นั้นแตกต่างกันลิบลับ

ถามว่าต่อให้เจรจากันลงล็อก ก็จะเป็นการถูกคอกันแค่ประเดี๋ยวประด๋าว หลังทำงานร่วมกันไปได้สักระยะก็จะเกิดการเหยียบตาปลาปีนเกลียวกันล้านเปอร์เซ็นต์ ต้องไม่ลืมว่าฝ่ายหนึ่งไม่ได้เดินตามแนวทางประชาธิปไตยเต็มรูปแบบ ยังคงอิงแอบกับอำนาจนอกระบบ สมคบกับคนมีสีพร้อมที่จะก้าวขึ้นมามีอำนาจตลอดเวลา โดยไม่เลือกว่าจะได้มาด้วยวิธีการใด

ขณะที่อีกพรรคแม้จะมีความเป็นสมัยใหม่ แต่การที่ยึด ทักษิณ ชินวัตร เป็นศูนย์กลางจักรวาล เหตุการณ์ในอดีตที่ผ่านมาตั้งแต่การขายหุ้นชินคอร์ปจนนำมาสู่การล่มสลายของรัฐบาลพรรคเดียวอย่างไทยรักไทย และการดันทุรังนิรโทษกรรมสุดซอยก็นำมาซึ่งการล้มอย่างไม่เป็นท่าของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ อัตลักษณ์แบบนี้ยากเป็นอย่างยิ่งที่คนของพรรคเก่าแก่จะยอมรับได้

ด้วยเหตุผลที่เป็นเพียงน้ำจิ้มก็ทำให้เห็นแล้วว่าเป็นเรื่องยากแค่ไหนที่จะเกิดรัฐบาลแห่งชาติ แต่หากปู่พิชัยเสนอว่าให้ประชาธิปัตย์ไปจับมือกับพรรคการเมืองของทหารแล้วรวมกับชาติไทยพัฒนาและภูมิใจไทยตั้งรัฐบาล เออ!อย่างนี้ยังมีความเป็นไปได้สูงกว่า แต่ทว่าเมื่อมองไปยังคำถาม 4 ข้อของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา แล้ว ไม่แน่ว่าบางทีสองพรรคการเมืองใหญ่อาจได้เป็นแค่ฝ่ายค้านในสภาเท่านั้น

มีการวิเคราะห์กันไปไกลว่า 4 คำตอบที่บิ๊กตู่อยากจะได้นั้น ความจริงไม่ได้หมายถึงความกังวลว่าจะได้พรรคเพื่อไทยกลับมาเป็นรัฐบาล แต่เป็นการหยั่งเชิง วัดกระแสของตัวเองแบบเพียวๆ เพื่อดูว่าถ้ากระแสตอบรับดี มีแนวโน้มที่ตัวเองจะลงเลือกตั้งผ่านกระบวนการเลือกของประชาชนได้ ก็จะได้ตั้งพรรคการเมือง เพื่อส่งคนดีเป็นทางเลือกให้สังคมตัดสิน

นั่นเป็นเพราะกลไกจากรัฐธรรมนูญโดยเฉพาะวิธีการเลือกตั้งแบบสัดส่วนผสม มันเอื้อที่จะทำให้ท่านผู้นำปัจจุบัน สามารถรวมไพร่พลตั้งพรรคแล้วมีโอกาสได้รับชัยชนะถล่มทลาย ถ้าเป็นเช่นนั้นก็จะได้กลับมาเป็นผู้นำประเทศแบบเท่ๆ ไม่ต้องพกเอาความเป็นผู้นำเผด็จการหรือหัวคณะรัฐประหารไปบนเวทีนานาชาติให้ต่างประเทศเขาหัวเราะเยาะเหมือนที่ผ่านมา

ส่วนพรรคนายใหญ่ถ้าว่ากันตามสัดส่วนจำนวนประชากรพื้นที่ซึ่งเป็นฐานเสียงสำคัญทั้งอีสานและเหนือ ยังถือเป็นตัวทีเด็ดทีขาดที่จะทำให้ได้ส.ส.เป็นกอบเป็นกำ แต่ด้วยระบบที่ไม่เอื้อและกระบวนการที่ถูกเซ็ตอัพกันมาเป็นอย่างดีขององคาพยพแม่น้ำ 5 สาย เชื่อกันได้ว่า ไม่ใช่งานง่ายที่เพื่อไทยจะฝ่าด่านอรหันต์ทองคำ ขึ้นมาเป็นผู้นำในการจัดตั้งรัฐบาลได้ อย่างไรเสีย หลังเลือกตั้งครั้งหน้า ผู้บริหารประเทศต้องขั้วอำนาจปัจจุบันเท่านั้น

ความคืบหน้าว่าด้วยเหตุระเบิดโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า อาจจะเรียกได้ว่าอยู่ในภาวะมะงุมมะงาหราเสียมากกว่า แม้ พลตำรวจเอกจักรทิพย์ ชัยจินดา นายใหญ่สีกากีจะยืนยันว่ารู้ตัวคนร้ายถึงขั้นระบุชื่อได้ แต่ขออุบไว้เพื่อไม่ให้กระทบการทำงาน แต่พอไปฟัง พลตำรวจเอกศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล หัวหน้าชุดคลี่คลายคดี กลับบอกว่าคดีมีความคืบหน้าไม่ถึง 20 เปอร์เซ็นต์

เป็นเสียอย่างนี้ เลยไม่รู้จะเชื่อใคร ด้านคนที่กุมบังเหียนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ก็บอกว่ามีการเรียกบุคคลมาสอบสวนแล้ว 40-50 คน แต่ยังไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นฝีมือของคนกลุ่มไหน แต่คำถามที่นักข่าวชงไปยังทั้ง 3 รายที่เหมือนกันและต้องขีดเส้นใต้คือ มีคนในโรงพยาบาลเกี่ยวข้องด้วยหรือไม่

ตรงนี้น่าสนใจ นักข่าวไปได้ข้อมูลเชิงลึกมาจากไหน ถ้าเป็นเรื่องภายในจริง อันหมายถึงความขัดแย้งกันแห่งผลประโยชน์ นั่นหมายความว่า สิ่งที่เจ้าหน้าที่ตำรวจโดยเฉพาะผบ.ตร.พยายามเพ่งเล็งไปยังกลุ่มการเมืองจะด้วยเป้าหมายใดก็ตามแต่ จะเป็นการคลำหาเป้าที่ผิดพลาดโดยสิ้นเชิง นี่ไงคือสิ่งที่เตือนไว้ตั้งแต่แรก คนที่มีอำนาจสูงสุดหรือผู้บริหารอย่าไปพูดชี้นำอย่างหนึ่งอย่างใด ทำให้เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานไขว้เขวหรือเป็นการชี้นำ เพราะมันจะทำให้บทสรุปแห่งคดีมันบิดเบี้ยวไปจากความจริงที่ควรจะเป็น

Back to top button