เส้นทางนักลงทุน : กลุ่มขนส่งและโลจิสติกส์โชว์งบ Q1/60

ธุรกิจการขนส่งและโลจิสติกส์ เป็นอีกธุรกิจหนึ่งที่มีมูลค่ามหาศาล ส่งผลให้ธุรกิจนี้มีการแข่งขันสูง ในแต่ละวัน และธุรกิจจะต้องเผชิญกับปัญหาสารพัน ทั้งอัตราการแข่งขันที่สูงขึ้น ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นจากภาวะค่าใช้จ่ายเชื้อเพลิงที่สูงขึ้น ปัญหาพนักงาน ตลอดจนความต้องการในการขยายตัวด้านบริการให้ครอบคลุมความต้องการของลูกค้าที่มากขึ้น


สิ่งที่เกิดขึ้นล้วนแล้วยังคงทำให้บริษัทที่ทำธุรกิจขนส่งและโลจิสติกส์ยังต้องแปลกรับภาระที่เกิดขึ้นตามสถานการณ์ของแต่ละช่วง โดยเฉพาะผลการดำเนินงานไตรมาสแรกส่วนใหญ่ออกมายังน่าผิดหวัง  

สำหรับผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ (หมวดขนส่งและโลจิสติกส์) ที่มีการซื้อขายในตลาดรอง SET แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ฯอัพเดตงบไตรมาส 1 สิ้นสุดวันที่ 31 มีนาคม 2560 พบว่า บริษัทที่มีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้น จากงวดเดียวกันของปีก่อน ได้แก่ WICE,  KWC, TSTE และ BEM ส่วนบริษัทที่พลิกมีกำไรสุทธิ จากงวดเดียวกันของปีก่อนที่ขาดทุนสุทธิ ได้แก่ TTA

ขณะที่บริษัทมีกำไรสุทธิลดลง จากงวดเดียวกันของปีก่อน ได้แก่ JWD, NYT, ASIMAR, AAV, THAI และ BA  อีกทั้งบริษัทขาดทุนสุทธิลดลง จากงวดเดียวกันของปีก่อนที่ขาดทุนสุทธิ ได้แก่ PSL, NOK, BTC และ JUTHA  และบริษัทขาดทุนสุทธิเพิ่มขึ้น จากงวดเดียวกันของปีก่อนที่ขาดทุนสุทธิ ได้แก่ RCL

จากข้อมูลผลประกอบการไตรมาส 1 ของหมวดขนส่งและโลจิสติกส์ทั้งหมด มีบริษัทที่ทำกำไรได้เด่น และยังเป็นบริษัทที่มีเสน่ห์ในกลุ่ม คงเป็น บริษัท ไวส์ โลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) หรือ WICE รายงานผลการดำเนินงานไตรมาส 1 สิ้นสุดวันที่ 31 มีนาคม 2560 มีกำไรสุทธิ 24.18 ล้านบาท หรือ 0.04 บาทต่อหุ้น เพิ่มขึ้น 145.66% จากงวดเดียวกันของปีก่อน 9.84 ล้านบาท หรือ 0.02 บาทต่อหุ้น เกิดจากกำไรจากการลงทุนในบริษัท Sun Express Logistics Pse. Ltd. คิดเป็นร้อยละ 32.58 และเกิดจากกำไรจากการดำเนินงานภายในของบริษัทคิดเป็นร้อยละ 67.42 ซึ่งเป็นกำไรจากยอดขายที่เพิ่มขึ้น

ตัวต่อมา เชื่อว่าเป็นบริษัทที่นักลงทุนตั้งหน้าตั้งตารอคอย รอลุ้นกับผลประกอบการที่ประกาศออกมา ว่าเมื่อไรจะฟื้นเพราะเป็นบริษัทที่เคยมีเสน่ห์ในอดีต คือ บริษัท โทรีเซนไทย เอเยนต์ซีส์ จำกัด (มหาชน) หรือ TTA รายงานผลการดำเนินงานไตรมาส 1 สิ้นสุดวันที่ 31 มีนาคม 2560 ออกมาอย่างร้องโอ้โห เพราะสามารถพลิกมีกำไรสุทธิ 87.22 ล้านบาท หรือ 0.05 บาทต่อหุ้น เพิ่มขึ้น 137.81% จากงวดเดียวกันของปีก่อนที่ขาดทุนสุทธิ 230.68 ล้านบาท หรือ 0.13 บาทต่อหุ้น เนื่องจากรายได้จากการบริการค่าระวางเพิ่มขึ้น อีกทั้งค่าใช้จ่ายในการบริการจากธุรกิจนอกชายฝั่งลดลง  ด้วยผลการดำเนินงานที่ดีขึ้น เชื่อว่า วัฎจักรโดยธรรมชาติจะทำให้ TTA หวนกลับมามีเสน่ห์อีกครั้ง

เมื่อมีบริษัทที่ทำผลงานดี ก็ยอมมีบริษัทที่ทำผลงานที่ถดถอย ส่วนใหญ่ล้วนยังอยู่ในกลุ่มสายการบิน อย่างเช่น บริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ NOK รายงานผลการดำเนินงานไตรมาส 1 สิ้นสุดวันที่ 31 มีนาคม 2560 ที่ยังขาดทุนสุทธิอยู่ 295.56 ล้านบาท หรือ 0.47 บาท จากงวดเดียวกันของปีก่อนที่ขาดทุนสุทธิ 405.82 ล้านบาท หรือ 0.65 บาทต่อหุ้น โดยผลขาดทุนมาจากต้นทุนการดำเนินงานของบริษัทสูงกว่ารายได้จากค่าโดยสาร ซึ่งต้นทุนการดำเนินงานเพิ่มขึ้นสาเหตุหลักมาจากตามการปรับตัวของราคาน้ำมันอากาศยานสำหรับเครื่องบิน ประกอบกับการขยายเส้นทางการบินเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ต้นทุนของน้ำมันอากาศยานเพิ่มสูงขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า

ต่อมาเป็น บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ  BA รายงานผลการดำเนินงานไตรมาส 1 สินสุดวันที่ 31 มีนาคม 2560 มีกำไรสุทธิลดลงเหลือ 548.37 ล้านบาท หรือ 0.26 บาทต่อหุ้น จากงวดเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 1,552.88 ล้านบาท หรือ 0.74 บาทต่อหุ้น ทั้งนี้เป็นผลหลักมาจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่ปรับตัวสูงขึ้น

ส่วน บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI รายงานผลการดำเนินงานไตรมาส 1 สินสุดวันที่ 31 มีนาคม 2560 มีกำไรสุทธิลดลงเหลือ 3,157.19 ล้านบาท หรือ 1.45 บาทต่อหุ้น จากงวดเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 5,999.18 ล้านบาท หรือ 2.75 บาทต่อหุ้น เนื่องจากบริษัทมีรายได้รวมลดลง โดยรายได้จากผู้โดยสารเฉลี่ยต่อหน่วยลดลง ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการแข็งค่าของเงินบาท ขณะที่ค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะค่าน้ำมันเครื่องบิน เนื่องจากราคาน้ำมันสูงขึ้นรวมถึงบริษัทมีการขยายการผลิตทำให้ปริมาณการใช้น้ำมันเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ยังมีค่าซ่อมแซมและบำรุงอากาศยานเพิ่มขึ้น

ขณะที่ บริษัท เอเชีย เอวิเอชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ AAV รายงานผลการดำเนินงานไตรมาส 1 สินสุดวันที่ 31 มีนาคม 2560 มีกำไรสุทธิลดลงเหลือ 570.32 ล้านบาท หรือ 0.1176 บาทต่อหุ้น จากงวดเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 1,009.08 ล้านบาท หรือ 0.2081 บาทต่อหุ้น เนื่องจากต้นทุนต้นทุนขายและการให้บริการเพิ่มขึ้น โดยส่วนใหญ่มาจากต้นทุนค่าน้ำมันเชื้อเพลิงค่าบริการในสนามบินและลานจอด ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับพนักงาน ค่าเช่าเครื่องบิน รวมถึงค่าซ่อมแซมและบำรุงรักษา เพิ่มขึ้นตามขนาดฝูงบินที่ขยายตัว

นี่เป็นเพียงตัวอย่างของบริษัทที่สามารถสร้างกำไรสุทธิก้าวกระโดด และกำไรสุทธิถดถอย  เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนเท่านั้น ส่วนตัวเลขกำไรทั้งหมดใน (หมวดขนส่งและโลจิสติกส์)  ดูรายละเอียดที่น่าสนใจจากตารางประกอบ

ทั้งนี้ เชื่อว่ากลุ่มขนส่งและโลจิสติกส์อาจต้องเจอผลกระทบจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่คาดว่ายังปรับตัวสูงขึ้นในอนาคต

Back to top button