ตีแผ่ บจ.ดัง : BIG กับมาตรฐาน กลต.

คุณสมศักดิ์ จากคลองจั่น กรุงเทพฯ พูดถึงข่าวที่สำนักงาน กลต. ลงโทษผู้บริหาร บริษัท บิ๊ก คาเมร่า คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ BIG ผมมองเป็นเรื่องที่น่าเห็นใจผู้บริหารมากๆ เพราะเป็นการซื้อหุ้นลงทุนระยะยาว ไม่ได้เป็นการซื้อหุ้นมาแล้วขายออกในทันที บวกกับเพื่อนฝูงในตลาดหุ้นตั้งคำถามว่า หากผู้บริหารมั่นใจในฝีมือการบริหารของตัวเอง การซื้อหุ้นเก็บไว้ในพอร์ต โดยไม่ขายหุ้นออกมาเลย ก็ไม่น่าจะมีความผิด จึงอยากให้อาจารย์ช่วยวิเคราะห์สิ่งที่เกิดขึ้นด้วย เพราะผมรู้สึกสับสนไปหมดครับ


ก่อนที่จะไปวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึก อยากตัดข้อความสัก 2-3 ย่อหน้ามาฉายให้นักลงทุนดูซ้ำอีกครั้งหนึ่ง เพื่อประกอบกับข้อมูลที่อาจารย์มีอยู่ในมือก็จะรู้ว่า มาตรฐานของคำตัดสินในคราวนี้ถูกต้องตามหลักขนาดไหน? และสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นธรรมขนาดไหน?

โดยข่าวที่ทุกคนเห็นเหมือนกันคือ  “ธนสิทธิ์ เธียรกาญจนวงศ์” พร้อม “ชิตชัย เธียรกาญจนวงศ์”  ออกมาให้ข่าวว่า น้อมรับคำตัดสินของสำนักงาน ก.ล.ต. พร้อมปฏิบัติตามเกณฑ์เพื่อร่วมสร้างบรรทัดฐานที่ดีแก่ตลาดทุน ชี้แจงกรณีซื้อหุ้น BIG เพราะเชื่อมั่นธุรกิจเติบโตได้อย่างมั่นคง โดยเป็นการซื้อขาเดียวตั้งแต่ต้นปี 2559 จนกระทั่งขณะนี้ยังไม่ได้ขายเลย เหตุเพราะต้องการลงทุนระยะยาวไม่เคยคิดเล่นเก็งกำไร แต่เพื่อเป็นการยืนยันเจตนารมณ์ร่วมสร้างธรรมาภิบาล และจะวางระเบียบภายในให้รัดกุม เพื่อป้องกันความผิดพลาดของกรรมการ และผู้บริหารทุกคนที่มีส่วนเกี่ยวข้อง จึงยินดีให้ความร่วมมือกับทั้ง ก.ล.ต. และ ตลท. ทุกประการเพื่อร่วมพัฒนาตลาดทุนไทย

พร้อมกันนั้นยังได้บอกเล่ารายละเอียดดังกล่าวว่า  แม้จะได้ชี้แจงข้อเท็จจริงว่า ผู้บริหารทั้ง 2 รายซื้อหุ้น BIG เพราะต้องการลงทุนระยะยาวอย่างแท้จริง ไม่ได้คิดที่จะเก็งกำไรจากการลงทุนแต่อย่างใด เนื่องจากประเมินเองว่าแนวโน้มธุรกิจในอนาคตจะสามารถขยายตัวได้อีกมาก และสร้างผลประกอบการที่ดีต่อเนื่องแก่บริษัทฯ ประกอบกับตลอดทั้งปี 2558 ที่ผ่านมาบริษัทฯ ก็ได้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าผลประกอบการทั้งรายได้และกำไรได้เติบโตอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด แต่ ก.ล.ต. ได้แจ้งว่าคำชี้แจงของผมไม่มีน้ำหนักเพียงพอที่จะหักล้างข้อสันนิษฐานของ ก.ล.ต.ได้

สำหรับเหตุผลที่ทำให้คำชี้แจงดังกล่าวฟังไม่ขึ้น เพราะการตรวจจับอินไซด์ไม่ได้มีเฉพาะการซื้อขายหุ้นเท่านั้น แต่ครอบคลุมถึงการ “ซื้ออย่างเดียว” หรือ “ขายอย่างเดียว” ซึ่งสำนักงานมีระเบียบวิธีปฎิบัติที่ชัดเจนพอสมควร รวมทั้งสามารถตรวจสอบการทำรายการย้อนหลังได้อีกด้วย อาจารย์ถึงเชื่อว่า คำตัดสินในเที่ยวนี้เป็นการพิจารณาจากข้อมูลที่อยู่ ไม่น่าจะเป็นการยัดข้อหาความผิดนะครับ

ถ้าจะผิดจริงๆ ก็คงเป็นที่ผู้บริหาร BIG ไม่ได้ปฎิบัติตามขั้นตอนให้ครบถ้วน จึงกลายเป็น “ความบกพร่องโดยสุจริต” ซึ่งสามารถป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยได้ และบริษัทจดทะเบียนเจ้าอื่นๆ ควรดูกรณีไว้เป็นตัวอย่างนะครับ

หากต้องการรายละเอียดที่มากกว่าที่เป็นอยู่ อาจารย์ขอแนะนำให้เข้าไปที่เว็บไซต์ กลต. www.sec.or.th  แล้วเลื่อนลงมาดูหัวข้อ Announcement ก็จะเห็นหัวข้อ สื่อวีดีโอเพื่อสื่อสารเรื่อง พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ ฉบับใหม่  ต่อจากนั้นคลิ๊กเข้าไปดูก็จะเห็น วีดีโอถาม-ตอบ “ไขข้อข้องใจ พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ ฉบับที่ 5” จำนวน 7 ตอน ก็จะเข้าใจระเบีย และวิธีปฎิบัติของผู้บริหารได้ชัดขึ้นครับ

Back to top button