แบงก์ใหญ่กำไรหด – แบงก์เล็กกำไรผงาด     

ธนาคารพาณิชย์ทั้ง 11 แห่งที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นไทย มีการประกาศผลการดำเนินงานไตรมาส 3 ปี 60 และงวด 9 เดือนออกมาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว กลับพบว่า ภาพรวมของตัวเลขกำไรสุทธิรวมทั้งกลุ่มดันถดถอย


เส้นทางนักลงทุน

ธนาคารพาณิชย์ทั้ง 11 แห่งที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นไทย มีการประกาศผลการดำเนินงานไตรมาส 3 ปี 60 และงวด 9 เดือนออกมาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว กลับพบว่า ภาพรวมของตัวเลขกำไรสุทธิรวมทั้งกลุ่มดันถดถอย

โดยธนาคารพาณิชย์ทั้ง 11 แห่ง ในงวดไตรมาส 3 ปี 60 มีกำไรสุทธิรวมแค่ 47,485.53 ล้านบาท ขณะที่ไตรมาส 3 ปี 59 มีกำไรสุทธิมากถึง 52,327.19 ล้านบาท ประกอบกับงวดเก้าเดือนปี 60 ทำกำไรสุทธิรวมแค่ 145,182.92 ล้านบาท ขณะที่งวดเก้าเดือนปี 59 มีกำไรสุทธิมากถึง 150,567.70 ล้านบาท

เหตุที่ทำให้ภาพรวมของกำไรสุทธิธนาคารพาณิชย์ลดลงนั้น เกิดจากแบงก์ขนาดใหญ่อย่าง SCB, KBANK, KTB มีกำไรสุทธิลดลงจากงวดเดียวกันของปีก่อน รวมถึงธนาคารอย่าง LHBANK และ CIMBT มีกำไรสุทธิลดลงเช่นกัน

สำหรับธนาคารขนาดใหญ่เช่น SCB และ KTB มีปัจจัยกดดัน เนื่องจากการตั้งสำรองที่สูง โดยการตั้งสำรองพิเศษ (General provision) เพื่อเพิ่ม Coverage Ratio และเตรียมพร้อมสำหรับมาตรฐานบัญชี IFRS9 ส่งผลให้ทั้งสองธนาคารมีผลการดำเนินงานที่น่าผิดหวัง

ส่วนของ KBANK ค่อนข้างอ่อนแอจาก 2 ประเด็นลบหลัก คือ 1) รายได้จากการรับประกันภัยต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ เนื่องจากเผชิญความท้าทายทั้งความต้องการซื้อที่ลดลง, Product Mix ที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้ค่าใช้จ่ายประกันภัยสูงขึ้น, การแข่งขันรุนแรง, และความเข้มงวดของกฎเกณฑ์ทางการ และ 2) ค่าใช้จ่ายสำรองยังสูง เนื่องจาก NPL เพิ่มและการตั้งสำรองเพิ่มเพื่อรองรับกฎเกณฑ์ใหม่

การเติบโตของกำไรที่ค่อนข้างต่ำ ถือเป็นปรากฏการณ์ชั่วคราว ไม่ใช่เรื่องที่น่าวิตกกังวลแต่อย่างใด เพราะเชื่อกันว่า แนวโน้มผลประกอบการในไตรมาส 4/60 กลับมาฟื้นตัว

แม้ว่าภาพรวมกลุ่มธนาคารพาณิชย์ดูแย่ โดยเฉพาะธนาคารขนาดใหญ่ แต่กลับแฝงไว้ด้วยความสวยงามของธนาคารขนาดกลาง-เล็กอยู่บ้าง โดยมี 6 ธนาคาร สามารถทำกำไรเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน อาทิ TISCO, TCAP, TMB, BAY, KKP และ BBL

ด้านธนาคารที่กำไรสุทธิเด่นๆ อาทิ TISCO, TCAP, KKP โดย TISCO เติบโตจากการดำเนินงานหลัก Core operation โดยเฉพาะรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ย (Non-Nll) และการตั้งสำรองที่ลดลง ส่วนของ TCAP มีปัจจัยหนุนจากการขายหุ้น MBK และ KKP ลดการตั้งสำรองอย่างมีนัยสำคัญเพื่อรักษากำไรในระยะสั้น

ปัจจัยดังกล่าวทำให้นักลงทุนสถาบันในประเทศ และนักลงทุนต่างชาติ กลับเข้ามาซื้อหุ้นกลุ่มนี้อย่างต่อเนื่อง ทำให้ราคาหุ้นกลุ่มนี้ลงไม่เป็น และยังมีแนวโน้มที่จะปรับตัวขึ้นได้อีก!!

Back to top button