“สุกฤตย์ สุรบถโสภณ” “IRPC กำไรโตเด่น – ราคาหุ้นนิวไฮ”

“สุกฤตย์ สุรบถโสภณ” กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) หรือ IRPC ติด 1 ใน 5 ผู้บริหารบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ที่เข้ามาติด TOP CEO 2017 จากการจัดอันดับของ “ข่าวหุ้นธุรกิจ” โดยเป็นแม่ทัพคนสำคัญที่ผลักดันผลงานในงวดปี 2560 เติบโตโดดเด่นในทุกมิติ ทั้งในเชิงผลประกอบการที่มีฐานกำไรสุทธิสูงต่อเนื่อง และราคาหุ้นล่าสุดที่เพิ่มขึ้นทำนิวไฮในรอบ 10 ปี จนทำให้มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (มาร์เก็ตแคป) พุ่งทะลุ 1.4 แสนล้านบาท


*TOP CEO 2017

“สุกฤตย์ สุรบถโสภณ” กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) หรือ IRPC ติด 1 ใน 5 ผู้บริหารบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ที่เข้ามาติด TOP CEO 2017 จากการจัดอันดับของ “ข่าวหุ้นธุรกิจ” โดยเป็นแม่ทัพคนสำคัญที่ผลักดันผลงานในงวดปี 2560 เติบโตโดดเด่นในทุกมิติ ทั้งในเชิงผลประกอบการที่มีฐานกำไรสุทธิสูงต่อเนื่อง และราคาหุ้นล่าสุดที่เพิ่มขึ้นทำนิวไฮในรอบ 10 ปี จนทำให้มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (มาร์เก็ตแคป) พุ่งทะลุ 1.4 แสนล้านบาท

โดย “สุกฤตย์” ได้เริ่มต้นก้าวเข้ารับตำแหน่ง กรรมการผู้จัดการใหญ่ใน IRPC อย่างเป็นทางการครั้งแรกเมื่อช่วงเดือนต.ค. 2556 เป็นต้นมา ซึ่งตลอดเวลาการทำงานและบริหารงานองค์กร ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญต่อแผนการสร้างองค์กรให้เติบโตแข็งแกร่งในเชิงระยะยาว และตั้งเป้าหมายให้ IRPC มีศักยภาพแข่งขันในอุตสาหกรรมพลังงานได้ในทุกภาวะตลาด

ดังนั้น ในช่วงที่ผ่านมา “สุกฤตย์” จึงเร่งเดินหน้าขับเคลื่อน IRPC ด้วยการสานต่อโปรเจ็กต์ลงทุนผลักดันการเติบโตในเชิงระยะยาวทุกโครงการให้แล้วเสร็จตามแผนที่กำหนดไว้ โดยเฉพาะแผนลงทุนใหญ่มูลค่าเกือบ 4 หมื่นล้านบาท ในโครงการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์สะอาด (Upstream Project for Hygiene and Value Added Products : UHV)

โดยโครงการ UHV ถือเป็นโครงการที่พัฒนาหน่วยกลั่นให้สามารถปรับปรุงคุณภาพน้ำมันเตาให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์มูลค่าสูงได้ และเป็นโครงการสำคัญที่ช่วยพลิกฟื้นชีวิต IRPC เพราะเท่ากับส่งผลให้บริษัทมีศักยภาพสร้างกำไรต่อการเดินเครื่องผลิตสินค้าสูงยิ่งขึ้นกว่าเดิม และขณะเดียวกันยังช่วยลดปริมาณก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ทำให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สุดท้ายแล้วโครงการ UHV ได้ก่อสร้างเสร็จและสามารถเดินเครื่องผลิตเชิงพาณิชย์ (COD) ตามแผนที่วางไว้ตั้งแต่กลางปี 2559 เป็นต้นมา พร้อมกับสร้างผลตอบแทนกลับสู่ IRPC ได้เต็มกำลังตลอดทั้งปี 2560

นอกจากนี้  IRPC ในฐานะที่บริษัทมีสินทรัพย์อยู่ในมือมหาศาลจากหลายสายธุรกิจต่างๆ ได้แก่ ธุรกิจปิโตรเลียม แบ่งเป็น กลุ่มน้ำมันเชื้อเพลิง น้ำมันหล่อลื่นพื้นฐาน แนฟทา ยางมะตอย ธุรกิจปิโตรเคมี แบ่งเป็น สายโอเลฟินส์ สายอะโรเมติกส์ โพลีเมอร์ โพลีออล รวมถึงยังมีกลุ่มธุรกิจสนับสนุนการดำเนินงาน คือ ไฟฟ้าและสาธารณูปโภค ท่าเรือ ถังเก็บผลิตภัณฑ์ และธุรกิจบริหารจัดการสินทรัพย์ ประกอบกับยังมีบุคคลากรในบริษัทเป็นจำนวนมาก

ดังนั้น ภายใต้พอร์ตธุรกิจและทีมงานที่มีประสิทธิภาพ “สุกฤต” จึงได้ประกาศแผนการเพิ่มศักยภาพทำกำไรของบริษัทครั้งใหญ่ ด้วยการเริ่มต้นทำโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและการตลาด (DELTA) เพื่อรีดศักยภาพความสามารถทำอัตรากำไรจากสินทรัพย์ในมือให้สูงยิ่งขึ้น

โดยหลังจากลงมือทำในโครงการ DELTA จนประสบความสำเร็จเป็นอย่างดีแล้ว ยังได้ต่อยอดเพิ่มโอกาสเติบโตขึ้นไปอีกขั้นด้วยการเดินหน้าโครงการ EVEREST เพื่อสานต่อ DELTA ในทันที ซึ่งเป็นโครงการที่มุ่งเน้นการเพิ่มศักยภาพการดำเนินงานของบริษัทแบบต่อเนื่อง มีเป้าหมายสร้างอัตรากำไรให้สูงมากขึ้น จนทำให้ในปัจจุบัน IRPC กลายเป็นบริษัทที่มีความแข็งแกร่งและพร้อมรับมือการแข่งขันกับคู่แข่งในอุตสาหกรรมพลังงานทั้งในสายน้ำมันและปิโตรเคมี

ทั้งนี้ ภายใต้แผนลงทุนทั้งหมดที่สุกฤตย์ได้ลงมือทำตลอดมา ได้เริ่มเห็นการผลิดอกออกผลอย่างเต็มที่ในงวดปี 2560 เพราะนับเป็นช่วงเวลาที่ได้รับผลบวกจากทั้งโครงการ UHV แบบเต็มปีครั้งแรก รวมถึงมีศักยภาพสร้างกำไรขั้นต้นจากการผลิตรวมของกลุ่ม (GIM) ในระดับสูงกว่าอดีตที่ผ่านมา

โดยสะท้อนได้จากภาพรวมผลการดำเนินงาน 9 เดือนแรกปี 2560 ทาง IRPC ทำรายได้รวม 1.52 แสนล้านบาท และมีกำไรขั้นต้นจากผลิตรวมของกลุ่มตามราคาตลาด (Market GIM) มากเกินระดับ 14 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ซึ่งเป็นผลมาจากความสามารถในการทำรายได้และทำกำไรขั้นต้นที่ดียิ่งขึ้น จึงส่งผลให้บริษัทมีกำไรสุทธิในมือสูงถึง 6,841 ล้านบาท และคิดเป็นอัตราทำกำไรสุทธิมากเกือบระดับ 4.5%

ดังนั้น จากผลงานที่ผ่านมาของ “สุกฤต” จึงได้เห็นพัฒนาการของ IRPC ในด้านผลประกอบการที่เติบโตขึ้นก้าวกระโดด เพราะหากเทียบย้อนหลังไปสู่งวดปี 2557 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ “สุกฤต” รับตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่เต็มปีครั้งแรก แม้ในขณะนั้นบริษัทจะมีรายได้รวมสูงถึง 2.87 แสนล้านบาท แต่กลับมีผลขาดทุนสุทธิมหาศาล 5,234 ล้านบาท เพราะ IRPC ยังอยู่ในช่วงเวลาของการเริ่มต้นโครงการลงทุนต่างๆ และยังได้รับผลกระทบจากอุตสาหกรรมพลังงานที่ผันผวน

อย่างไรก็ตาม หลังจากโครงการลงทุน และโครงการเพิ่มประสิทธิภาพทำกำไรทยอยแล้วเสร็จตามแผนที่กำหนดไว้ ได้ส่งผลให้งบปี 2558 เทิร์นอะราวด์โดดเด่นในทันที ซึ่งบริษัทแม้จะมีรายได้เหลือเพียง 2.18 แสนล้านบาท แต่สามารถพลิกกลับมามีกำไรสุทธิสูงถึง 9,401 ล้านบาท คิดเป็นอัตราทำกำไรสุทธิ 4.3% จากนั้นเข้าสู่งวดปี 2559 รายได้บริษัทลดลงเหลือ 1.86 แสนล้านบาท ตามสถานการณ์ราคาน้ำมันที่ชะลอตัว แต่ศักยภาพสร้างกำไรสุทธิบริษัทยังคงโตแข็งแกร่งไม่เปลี่ยนมาอยู่ที่ระดับ 9,720 ล้านบาท และคิดเป็นอัตรากำไรสุทธิ 5.2%

ขณะที่ความเคลื่อนไหวราคาหุ้น IRPC ช่วงรอบหลายปีที่ผ่านมาได้มีพัฒนาการดีขึ้นตามลำดับสอดคล้องพื้นฐานธุรกิจที่เข้าสู่ช่วงการเติบโตอย่างเต็มกำลัง และถือเป็นอีกหนึ่งหลักทรัพย์ที่ได้รับความนิยมจากนักลงทุนทุกกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มสถาบันในประเทศ ต่างชาติ และรายย่อย ที่เข้าเทรดหุ้นกันอย่างคึกคักตลอดทั้งปี 2560 จนส่งผลให้ตั้งแต่ต้นปี 2560 จนถึงปัจจุบัน หุ้น IRPC มีมูลค่าการซื้อขายสะสมไปแล้วถึง 1.56 แสนล้านบาท นั่นจึงเป็นสิ่งตอกย้ำถึงความเชื่อมั่นของนักลงทุนทุกกลุ่มที่มีต่อหุ้น IRPC ภายใต้ฝีมือการบริหารงานของเอ็มดีบริษัทและทีมงานของ IRPC

ดังนั้น จากความเชื่อมั่นของนักลงทุนทั้งหมดจึงได้ผลักดันให้ราคาหุ้น IRPC เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี เริ่มต้นด้วยงวดสิ้นปี 2557 ทำราคาปิดสิ้นปีที่ 3.06 บาท คิดเป็นมาร์เก็ตแคปรวม 6.25 หมื่นล้านบาท ต่อมาในงวดสิ้นปี 2558 ราคาหุ้นปรับเพิ่มเป็น 4.30 บาท เท่ากับมีมาร์เก็ตแคปเพิ่มเป็น 8.78 หมื่นล้านบาท จากนั้นงวดสิ้นปี 2559 ราคาหุ้นและมาร์เก็ตแคปของบริษัทยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่องสอดคล้องกับผลประกอบการที่ขยายตัว

โดยทำราคาปิดงวดสิ้นปี 2559 ที่ระดับ 4.80 บาท ส่งผลให้มาร์เก็ตแคปขยับขึ้นเป็น 9.8 หมื่นล้านบาท และล่าสุดในงวดปี 2560 ราคาหุ้นได้เพิ่มขึ้นมาซื้อขายถึงระดับ 7.10 บาท และนับเป็นจุดนิวไฮในรอบ 10 ปี จนผลักดันให้มาร์เก็ตแคปหุ้นสูงทะลุ 1.4 แสนล้านบาททันที ดังนั้น ภายใต้ฐานราคาหุ้นและมาร์เก็ตแคป IRPC เท่ากับได้เติบโตขึ้นเกินระดับ 100% ภายในช่วงระยะเวลาเพียงแค่ 3-4 ปีเท่านั้น

สำหรับภาพรวมงวดปี 2560 ที่กำลังจะปิดฉากลงภายในไม่กี่วัน “สุกฤต” เองประเมินด้วยความมั่นใจว่า ผลการดำเนินงาน IRPC จะมีโอกาสทำออกมาได้ดีต่อเนื่อง เพราะงวดไตรมาส 4/2560 ได้รับแรงหนุนจากกำไรสต๊อกน้ำมันเป็นจำนวนมาก เพราะสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบในตลาดยังคงอยู่ในระดับสูง

อีกทั้ง เมื่อบวกกับสเปรดผลิตภัณฑ์ปิโตรยังเคลื่อนไหวอยู่ในเกณฑ์ดี จึงกลายเป็นปัจจัยบวกสำคัญต่อผลการดำเนินงาน ประกอบกับงบ 9 เดือนแรกที่ผ่านมายังทำรายได้และกำไรสุทธิระดับสูง จะส่งผลให้ภาพรวมปี 2560 มีศักยภาพทำผลประกอบการเติบโตขึ้นอีกครั้ง

ส่วนในงวดปี 2561 ในเบื้องต้นได้กำหนดแผนธุรกิจเพื่อสนับสนุนการเติบโตของ IRPC ในอนาคต เช่น โครงการ BEYOND EVEREST เพื่อสานต่อความสำเร็จจากโครงการ EVEREST ที่ดำเนินไปแล้วในช่วงที่ผ่านมา เบื้องต้นทางบริษัทได้ตัดสินใจลงทุนในโครงการก่อสร้างโรงงานพาราไซลีน (PX) ขนาด 9 แสนตัน/ปี มูลค่าลงทุนประมาณ 900 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งทุกอย่างจะได้เห็นความชัดเจนภายในไตรมาส 1/2561

นอกจากนี้ ยังวางแผนการลงทุนด้านดิจิทัลเพื่อให้บริษัทก้าวเข้าสู่ยุค IRPC 4.0 ขานรับภาพรวมของภาวะเศรษฐกิจไทยที่กำลังเปลี่ยนแปลงไป ด้วยการนำระบบดิจิทัลและนวัตกรรมทันสมัยต่างๆ เข้ามาร่วมใช้ในขั้นตอนธุรกิจของ IRPC ซึ่งถือเป็นการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันในตลาดของบริษัทให้สูงยิ่งขึ้น ดังนั้น จากปัจจัยบวกทั้งหมดนี้จะช่วยสนับสนุนให้ IRPC ก้าวเดินเข้าสู่ยุคใหม่ต่อไปได้อย่างมั่นคงพร้อมกับรักษาการเติบโตได้ต่อเนื่อง

Back to top button