จีนและกับดักธุสซีดิดีส 

เมื่อวานนี้ มีปรากฏการณ์สำคัญที่น่าจะเป็นการเปลี่ยนโฉมหน้าประวัติศาสตร์ของค่าเงินหยวนอย่างมีนัยสำคัญในอนาคตอย่างยิ่ง นั่นคือการที่ตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ด้านพลังงานเซี่ยงไฮ้ (The Shanghai International Energy Exchange) ทำการเปิดวันแรกในการชำระเงินค่าน้ำมันส่งมอบล่วงหน้าด้วยสกุลเงินหยวน ซึ่งได้รับการสำรองด้วยทองคำ โดยให้เหตุผลว่าจีนเป็นผู้นำเข้าน้ำมันดิบอันดับหนึ่งของโลก และเป็นส่วนหนึ่งของแผนการเปิดประตูสู่การเป็นเงินสกุลสากลของเงินหยวน 


พลวัตปี 2018 : วิษณุ โชลิตกุล

เมื่อวานนี้ มีปรากฏการณ์สำคัญที่น่าจะเป็นการเปลี่ยนโฉมหน้าประวัติศาสตร์ของค่าเงินหยวนอย่างมีนัยสำคัญในอนาคตอย่างยิ่ง นั่นคือการที่ตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ด้านพลังงานเซี่ยงไฮ้ (The Shanghai International Energy Exchange) ทำการเปิดวันแรกในการชำระเงินค่าน้ำมันส่งมอบล่วงหน้าด้วยสกุลเงินหยวน ซึ่งได้รับการสำรองด้วยทองคำ โดยให้เหตุผลว่าจีนเป็นผู้นำเข้าน้ำมันดิบอันดับหนึ่งของโลก และเป็นส่วนหนึ่งของแผนการเปิดประตูสู่การเป็นเงินสกุลสากลของเงินหยวน

หลังจากปิดตลาดวันแรกไป พบว่ามียอดการซื้อขายน้ำมันล่วงหน้า 18,450 สัญญา โดยมีราคาปิด 427.90 หยวนต่อบาร์เรล 

แม้มูลค่าจะยังไม่มากพอถึงระดับที่น่าตื่นเต้น แต่ก็ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี เพราะได้รับความสนใจจากนักลงทุนต่างชาติจริงจัง บรรลุแผนที่จะเปิดมายาวนาน แต่เพิ่งมาเริ่มดำเนินการได้จริงวานนี้ หลังจากที่มีการทบทวนความเสี่ยงบางอย่างเกี่ยวกับแผนการปรับราคาน้ำมันในสกุลเงินหยวน รวมทั้งการรั่วไหลของเงินลงทุนและสกุลเงิน ซึ่งมีคนเปรียบเปรยว่าคล้ายกับการแหวกว่ายน้ำกลางคลื่นทะเลกว้างที่เวิ้งว้างไร้ฝั่ง

เจ้าหน้าที่จีนที่กำกับดูแลเรื่องนี้ อ้างว่าจุดเด่นของตลาดน้ำมันล่วงหน้าเซี่ยงไฮ้อยู่ที่ความสามารถในการแปลงค่าราคาน้ำมันส่งมอบล่วงหน้าเชื่องมยงเข้ากับราคาทองคำ เป็นข้อได้เปรียบในการแข่งขันเหนือมาตรฐาน Brent ของลอนดอน และ West Texas Intermediate (WTI) ของนิวยอร์ก เพราะเท่ากับย้อนกลับไปสู่ระบบอิงค่าเข้ากับทองคำที่ยกเลิกไปแล้วเมื่อ ค.ศ. 1971

ชาติที่ให้การสนับสนุนให้จีนเปิดตลาดค้าน้ำมันเป็นสกุลหยวน คือ รัสเซีย หลังจากที่ปลายปีที่ผ่านมา Gazprom บริษัทผู้ผลิตน้ำมันใหญ่อันดับ 3 ของรัสเซีย ประกาศจะใช้เงินหยวนในการซื้อขายน้ำมันดิบทั้งหมดกับจีนที่ผ่านทางท่อ East Siberian Pacific Ocean คิดเป็นมูลค่ากว่า 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี หรือกว่า 6.2 พันล้านหยวน และรัสเซียยอมรับให้จีนใช้เงินหยวนสำหรับชำระค่าสัญญาส่งก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียผ่านท่อก๊าซ Power of Siberia ขนาดรวม 3.8 หมื่นล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี เป็นระยะเวลา 30 ปี มีมูลค่ารวม 2.5 ล้านล้านหยวน หรือราว 4 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ

การเปิดตลาดน้ำมันล่วงหน้าสกุลหยวน มีความหมายที่ชัดเจนว่าจีนกำลังท้าทายอำนาจของดอลลาร์สหรัฐที่ครองความยิ่งใหญ่เหนือธุรกิจซื้อขายน้ำมันดิบทั่วโลกมายาวนาน นับตั้งแต่ข้อตกลงถือกำเนิดปิโตรดอลลาร์ วันที่ 8 มิถุนายน 1974 ระหว่าง นายเฮนรี่ คิสซิงเกอร์ รมว.ต่างประเทศสหรัฐฯ และเจ้าชาย ฟาอัด ที่รู้จักกันในชื่อ U.S.-Saudi Arabian Joint Commission on Economic Cooperation ในช่วงชุลมุนหลังวิกฤตน้ำมันครั้งแรก ค.ศ. 1973 หรือ พ.ศ. 2516 ซึ่งมีผลทำให้กระบวนทัศน์ของมนุษย์ในเรื่องพลังงานได้

รัฐบาลสหรัฐฯทำการเจรจาลับกับรัฐบาลราชวงศ์ซาอูด ของซาอุดีอาระเบีย โดยมีเงื่อนไขสำคัญว่า อเมริกาจะช่วยเหลือทางด้านเทคโนโลยีการผลิตน้ำมัน และทางทหารเพื่อปกป้องราชวงศ์ซาอูดไปยาวนาน แลกกับการที่ซาอุดีอาระเบียจะยอมขายน้ำมันให้กับสหรัฐฯ หรือชาติอื่นๆ ในรูปเงินดอลลาร์สหรัฐเท่านั้น แล้วยังมีข้อตกลงลับเพิ่มว่า ซาอุดีอาระเบียจะโน้มน้าวให้ชาติสมาชิกโอเปกยินยอมขายน้ำมันสู่ตลาดโลกโดยใช้เงินดอลลาร์สหรัฐเป็นตัวกลางซื้อขาย และนำเงินทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศหรือปิโตรดอลลาร์ที่ล้นเกินไปซื้อพันธบัตรรัฐบาลอเมริกา ทำให้ชาติโอเปกไม่มีปัญหาเงินเฟ้อ และอเมริกาสามารถก่อหนี้อย่างเต็มที่ และรักษาดุลชำระเงินให้เป็นบวกตลอดเวลา

ผลพวงจากการที่กลุ่มโอเปก ยอมรับให้การซื้อขายน้ำมันในตลาดโลกในรูปดอลลาร์สหรัฐอย่างเดียว มีผลทำให้มาตรฐานราคาน้ำมันโลก เป็นมาตรฐานดอลลาร์โดยปริยายจนถึงทุกวันนี้ และยังทำให้ชาติสมาชิกโอเปก กลายเป็น “ทาสที่ปล่อยไม่ไป” จากการที่ไม่สามารถจะหาเงินสกุลอื่นมาทำการค้าน้ำมันทดแทนดอลลาร์สหรัฐได้

จากนั้นมา ทุกชาติในโลกที่ต้องซื้อ หรือขายพลังงาน ล้วนต้องถือเงินดอลลาร์เอาไว้เป็นเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ ซึ่งเปิดทางให้ เฟด กลายเป็นผู้กำหนดชะตากรรมทางเศรษฐกิจของโลกโดยปริยาย

ความพยายามท้าทายปิโตรดอลลาร์ มีคนเคยเสนอมาหลายระลอก แต่ล้มเหลวทุกครั้ง จนล่าสุด ซึ่งเมื่อมีอุปสงค์น้ำมันใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก คิดเป็นสัดส่วน 13% ของความต้องการน้ำมันทั่วโลก ได้กลายเป็นประเทศผู้นำเข้าน้ำมันดิบรายใหญ่ที่สุดของโลก ซึ่งแซงหน้าสหรัฐฯไปแล้วเมื่อเดือนเมษายน ค.ศ. 2015 และเมื่อสิ้นสุดปีที่ผ่านมามียอดนำเข้าเฉลี่ย 8.4 ล้านบาร์เรลต่อวัน เทียบกับสหรัฐฯ 7.9 ล้านบาร์เรลต่อวัน ก็เกิดเป็นโมเมนตัมที่จะลดอำนาจของปิโตรดอลลาร์ได้ชะงัดมากขึ้น

การเปิดตลาดค้าน้ำมันล่วงหน้าสกุลหยวน จึงมีความหมายเชิงประวัติศาสตร์ (ที่หลายคนชิงเรียกก่อนว่า ปิโตรหยวน) ให้มีอิทธิพลเทียบเคียงและท้าทายอำนาจของปิโตรดอลลาร์โดยตรง ในยามที่ค่าดอลลาร์เริ่มไร้เสน่ห์กลายสภาพเป็น “แบงก์กงเต็ก” ในอัตราเร่ง

จุดผกผันเช่นนี้ นักทฤษฎีเกมทางเศรษฐศาสตร์การเมืองระดับโลก บอกว่า จีนกำลังย่างเท้าก้าวสู่ “กับดักของธุสซีดิดีส” (Thucydides’s Trap) ที่ดัดแปลงจากประโยคอมตะนักเขียนละครลือนามในยุคกรีกโบราณที่ว่า “สงครามเลี่ยงได้ยาก เพราะการเติบใหญ่ของรัฐเอเธนส์ ทำให้คนในรัฐสปาร์ตาสั่นกลัว”

สงครามการค้าที่สหรัฐฯเริ่มต้นเล่นงานจีน แต่ถูกตอบโต้ด้วยสงครามการเงินที่มีผลซึมลึกมากกว่าเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของสงครามใหญ่กว่าอย่างบูรณาการในอนาคตที่ยากจะคาดเดา

Back to top button