ฟันด์โฟลว์ถอนจากอาเซียน

แล้วก็เป็นที่ยืนยันชัดเจนว่า ฟันด์โฟลว์ถอนตัวชั่วคราวจากตลาดอาเซียน ตัวเลขจาก MSCI บอกเช่นนั้น ก็คงไม่มีใครกล้าเถียง ที่น่าสนใจคือ การถอนตัวของฟันด์โฟลว์ปีนี้ ค่อนข้างคล้ายกับปี 2558 ทั้งปริมาณและคุณภาพ แล้วก็ยังเป็นการถอนตัวออกจากทั้งภูมิภาค ไม่ใช่ประเทศใดประเทศหนึ่ง (ดูตารางประกอบ)


พลวัตปี 2018 : วิษณุ โชลิตกุล

แล้วก็เป็นที่ยืนยันชัดเจนว่า ฟันด์โฟลว์ถอนตัวชั่วคราวจากตลาดอาเซียน ตัวเลขจาก MSCI บอกเช่นนั้น ก็คงไม่มีใครกล้าเถียง ที่น่าสนใจคือ การถอนตัวของฟันด์โฟลว์ปีนี้ ค่อนข้างคล้ายกับปี 2558 ทั้งปริมาณและคุณภาพ แล้วก็ยังเป็นการถอนตัวออกจากทั้งภูมิภาค ไม่ใช่ประเทศใดประเทศหนึ่ง (ดูตารางประกอบ)

ในกรณีของตลาดหุ้นไทย ฟันด์โฟลว์ต่างชาติขายสุทธิสี่เดือนแรก 7.8 หมื่นล้านบาทมากกว่าปี 2559 ทั้งปี แต่ยังไม่ถึงครึ่งของตัวเลข 2 แสนล้านบาทในปี 2558

คำถามเบื้องต้น ไม่ใช่เรื่องว่าเมื่อสิ้นปี 2561 ฟันด์โฟลว์จะขายสุทธิเท่ากับหรือมากกว่าปี 2558 หรือไม่ เพราะยากจะรู้ชัด แต่เป็นคำถามว่า ทำไมฟันด์โฟลว์ถึงถอนตัวออกจากอาเซียน

คำตอบที่นักวิเคราะห์และผู้จัดการกองทุนของฟันด์โฟลว์สรุปร่วมกันคือ ราคาหุ้นในอาเซียนแพงเกินเมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่น

แรงขายที่ตลาดหุ้นไทย แม้จะมีปริมาณมากกว่าตลาดหุ้นอาเซียนอื่น ๆ อาจจะมากที่สุด แต่ไม่ได้เป็นสัดส่วนที่มากเมื่อเทียบกับขนาดของตลาด ทำให้ดัชนี SET ของตลาดหุ้นไทยไม่ร่วงหนักเมื่อเทียบกับตลาดหุ้นอื่นที่ร่วงแรง โดยเฉพาะตลาดหุ้นเวียดนาม ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเชีย

ดัชนี MSCI ASEAN Index เดือนเมษายน ร่วงลงไป 0.5% และร่วงต่อเนื่องเป็นเดือนที่สามแล้ว แม้ว่าจะยังไม่ร่วงหนักเหมือนปี 2559 ที่ร่วงแรง 4 เดือนติดมากถึง 8.4%

ตอนแรกสุดเมื่อสหรัฐฯ-จีน เริ่มต้นทำสงครามการค้าในกลางเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้ คนจำนวนมากเชื่อว่าน่าจะเป็นเหตุสำคัญที่ทำให้อาเซียนได้รับอานิสงส์ทางบวกจากความขัดแย้งที่เกิดขึ้น แต่เมื่อสถานการณ์ผ่านไป คำตอบที่ชัดเจนก็ออกมาว่าเพราะฟันด์โฟลว์เริ่มถอนตัวออกต่อเนื่อง หลังจากที่ค่าพี/อีล่วงหน้า สูงกว่า ​15 เท่า เทียบกับค่าพี/อี เฉลี่ยของเอเชียรวมที่ระดับ 12 เท่า

ตัวเลขเปรียบเทียบ ที่ตอกย้ำว่าตลาดหุ้นอาเซียนรวมทั้งไทยยังแพงกว่าที่อื่น ทำให้ความน่าเชื่อถือของบรรดานักวิเคราะห์ “ขาเชียร์” ที่พากันบอกว่าการพักฐานหรือ market correction เป็นแค่การ “ลงเพื่อขึ้น” ตามปกติ เพราะต่างชาติยังจะเข้าตลาดหุ้นไทยอีกมหาศาล เนื่องจากปีที่ผ่านมาและปีนี้ ต่างชาติเข้าตลาดหุ้นไทยน้อยกว่าตลาดอื่น ๆ ในภูมิภาค และในเอเชีย

หลายเดือนมานี้ บรรดาผู้จัดการกองทุนขนาดใหญ่ข้ามชาติ ที่ควบคุมกระแสฟันด์โฟลว์ ต่างเริ่มแสดงความกังวลว่า สภาพตลาดกระทิงในปัจจุบัน เข้าข่ายตลาดเริ่มมีสภาพเป็นฟองสบู่ขึ้นมากชัดเจน เมื่อค่า พี/อี ของตลาดสูงเกินระดับสมเหตุสมผล และยังมีแนวโน้มว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟด น่าจะขึ้นเร็วกว่าที่คาด

พี/อี ที่สูงเกิน หมายความว่าโอกาสขาขึ้นจะต่ำโดยเปรียบเทียบเสมอ ประเด็นสำคัญกว่าอยู่ที่ว่า หากฟันด์โฟลว์ถอนตัวแล้ว 1) จะกลับมาหรือไม่ 2) กลับมาเร็วหรือช้า 3) กลับมามากน้อยแค่ไหน

หากมองจากภาพรวม ปีนี้อีก 8 เดือนที่เหลือ ดูเหมือนจะมีตัวแปรที่ส่งผลต่อการเคลื่อนตัวของฟันด์โฟลว์มากกว่าปีก่อน นับแต่

  • การขึ้นดอกเบี้ยของเฟด และหลายชาติ เนื่องจากการลดลงของปริมาณเงินกระตุ้นเศรษฐกิจและเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่แกร่งขึ้นชัดเจน จนกระทั่งเงินเฟ้อทะลุใกล้เป้าหมายของเฟด ส่งผลต่อค่าดอลลาร์ให้แข็งขึ้นเทียบเงินสกุลอื่น ๆ
  • ราคาน้ำมันดิบที่มีแนวโน้มทรงตัวเหนือ 65 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
  • สถานการณ์ในคาบสมุทรเกาหลีที่การทูตนำหน้าการทหาร

ทั้งสามตัวแปรนี้ ทำให้ฟันด์โฟลว์พร้อมจะเคลื่อนย้ายออกจากอาเซียนไปยังเอเชียตะวันออก และสหรัฐฯ ที่มีข่าวบวกมากกว่า ในขณะที่ในอาเซียนเอง (ยกเว้นสิงคโปร์) ดูเหมือนว่า เริ่มพบหนทางตีบตันของราคาหุ้น สำคัญช่วงที่ผ่านมา ประคองตัวอยู่ได้ เพราะวิศวกรรมการเงินมากกว่าเกิดจากผลประกอบการล้วน ๆ

การถอนตัวของฟันด์โฟลว์อาจจะไม่ทำให้หุ้น และดัชนีตลาดหุ้นล่มหนัก แต่การที่ตลาดมีขีดจำกัดขาขึ้นก็ถือเป็นข่าวร้ายแล้ว

เตรียมรับมือกันให้ดี ตลาดมีขึ้น มีลง

ตอนขึ้นก็น่ายินดี แต่ตอนลงก็ต้องมีเหตุผลในการลงทุนรับมือความเสี่ยง

Back to top button