น้ำมันและราคาการเมือง

คำว่าราคาน้ำมันดิบที่ "เหมาะสม" ของซาอุดีอาระเบียกับอิหร่านมีความหมายไม่ตรงกันเสียอีกแล้ว ใครที่เชื่อว่าราคาน้ำมันดิบเป็นไปตามกลไกตลาด คงต้องคิดใหม่


พลวัตปี 2018 : วิษณุ โชลิตกุล

คำว่าราคาน้ำมันดิบที่ “เหมาะสม” ของซาอุดีอาระเบียกับอิหร่านมีความหมายไม่ตรงกันเสียอีกแล้ว ใครที่เชื่อว่าราคาน้ำมันดิบเป็นไปตามกลไกตลาด คงต้องคิดใหม่

สุดสัปดาห์ที่ผ่านมา รัฐมนตรีน้ำมันของซาอุดีอาระเบีย ออกมาบอกว่าราคาน้ำมันที่เหมาะสมน่าจะอยู่ที่ระดับ 80 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล แต่ถูกรัฐมนตรีอิหร่านออกมาสวนทางทันทีว่า ราคาที่เหมาะสม น่าจะอยู่แถว 60-65 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

ราคาเป้าหมายที่ต่างกัน 15-20 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ไม่ใช่เรื่องปกติธรรมดาแน่นอน และที่ยิ่งไม่ปกติยิ่งขึ้นไปอีกตรงที่ความเห็นเพิ่มเติมว่าอิหร่านจะไม่เป็นชาติที่พึงพอใจกับราคาน้ำมันดิบที่สูงเกินจริง เพราะทำให้ตลาดเกิดภาวะไร้เสถียรภาพในระยะยาว

แม้ท่าทีของอิหร่านยังไม่มีผลทันที หลังจากที่ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกพุ่งแตะจุดสูงสุดในรอบ 42 เดือน เพราะมีแรงกระตุ้นเชิงบวก 2 เรื่องพร้อมกัน คือ การที่สหรัฐฯอาจขยับตัวคว่ำบาตรต่ออิหร่านครั้งใหม่หรือไม่ภายในวันที่ 12 พฤษภาคมนี้ และการประชุมโอเปกกลางปีปลายเดือนนี้ที่เวียนนา เพื่อทบทวนท่าทีต่อสถานการณ์น้ำมันโลกครึ่งหลังของปี

เป็นที่คาดหมายกันทั่วโลกว่า วันที่  12 พ.ค.นี้ สหรัฐฯมีแนวโน้มประกาศจะถอนตัวจากข้อตกลงนิวเคลียร์ที่ทำไว้กับอิหร่านในสมัยบารัก โอบามา ซึ่งเท่ากับการเปิดทางให้สหรัฐฯใช้มาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่ออิหร่านรอบใหม่ และจะกดดันต่ออุปทานน้ำมันตลาดโลก

ท่าทีของรัฐบาลอิหร่านในสถานการณ์ราคาน้ำมันพุ่งแรงระลอกใหม่ ไม่ได้เกิดจากความหวาดกลัวต่อสหรัฐฯอย่างลนลาน หรือเพื่อตีรวนซาอุดีอาระเบียที่มีปัญหากันในกรณีเยเมนและซีเรีย เพราะโดยประสบการณ์โชกโชนในเวทีระหว่างประเทศ อิหร่านเคยมีบทเรียนมาแล้วจากการถูกคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจจากกรณีการสร้างเตาปฏิกรณ์ปรมาณูเมื่อหลายปีก่อนจนเศรษฐกิจทรุดโทรมรุนแรง แต่นั่นก็เป็นอดีตไปแล้ว เพราะอิหร่านอาจจะขายน้ำมันให้กับจีนที่ปัจจุบันเป็นชาตินำเข้าน้ำมันดิบรายใหญ่สุดของโลกแทนได้

หากจะมองว่านี่คือการเล่นเกม เกมราคาน้ำมันของอิหร่านก็ดูสมเหตุสมผล เพราะราคาน้ำมันที่พุ่งขึ้นในปีนี้ มาจากการสร้างราคาจากกลุ่มชาติส่งออกน้ำมันเป็นสำคัญ หลังจากที่ประสบความสำเร็จในการหยุดยั้งขาลงของราคาน้ำมันเมื่อ 2 ปีก่อน โดยมีรัสเซียและซาอุดีอาระเบียชักใยเบื้องหลัง

ประสบการณ์ในช่วงเกือบ 2 ปีนี้ของชาติส่งออกน้ำมัน และตลาดเก็งกำไรทั่วโลก คือ เมื่อใดที่กระแสข่าวหล่อเลี้ยงตลาดว่าการหารือกันเพื่อวางแผนที่จะเปิดการประชุมเพื่อตรึงผลผลิตน้ำมันดิบยังมีต่อไป โอกาสที่ราคาจะถูกดันขึ้น จะเกิดได้เสมอ จากความร่วมมือสร้างเอกภาพที่ไม่ใช่ชาติส่งออกน้ำมันดิบ โดยที่อิหร่านและอิรัก ซึ่งเป็นผู้ผลิตอันดับ 2 และ 3 ของโอเปก ยังคงยืนกรานร่วมมือลดกำลังการผลิตลง

วันนี้ เมื่ออิหร่านหันมารับบท “ผู้ร้าย”  ในสายตาโอเปก แต่เป็น “พระเอก” ในสายตาชาวโลก (ยกเว้นผู้นำสหรัฐฯ) คำถามว่าราคาที่เหมาะสมสำหรับอนาคตอันใกล้ควรอยู่ที่เท่าใด จึงน่าสนใจมากเป็นพิเศษ

Back to top button