ปตท.กับคาเฟ่ อเมซอน

คาเฟ่ อเมซอน (Cafe Amazon) เป็นธุรกิจสำคัญของ ปตท. (PTT)


ลูบคมตลาดทุน : ธนะชัย ณ นคร

คาเฟ่ อเมซอน (Cafe Amazon) เป็นธุรกิจสำคัญของ ปตท. (PTT)

ปตท.ตั้งเป้าหมายทางการตลาดของธุรกิจนอนออยล์ และธุรกิจน้ำมันว่า จะมีสัดส่วนรายได้เพิ่มขึ้นมาเป็น 50 : 50 จากล่าสุด ณ 30 มิถุนายน 2561 อยู่ที่ 30 : 70

โดยรายได้ที่จะเพิ่มขึ้นมาเป็น 50% มีเป้าหมายจะทำให้ได้ภายในปี 2565 หรืออีก 4 – 5 ปีข้างหน้า โดยคาเฟ่อเมซอนจะสามารถสร้างรายได้คิดเป็นเกือบ 60% ของรายได้จากธุรกิจนอนออยล์ของ ปตท.

ผ่านมาถึงวันนี้ คาเฟ่ อเมซอนเติบใหญ่อย่างมาก

ปี 2557 มีรายได้รวม 3,500 ล้านบาท

ปี 2558 รายได้เพิ่มเป็น 5,400 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 54.28%

ปี 2559 รายได้ 8,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 48.14%

และปี 2560 รายได้ขึ้นมาเป็น 10,256 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 28%

ส่วนแผนงานปี 2561 ปตท.ตั้งเป้ายอดขายกาแฟ คาเฟ่ อเมซอนว่าจะเติบโตขึ้นอีก 25% คิดเป็นรายได้ 12,820 ล้านบาท จากยอดขายกว่า 180 ล้านแก้วในปี 2560

ปตท.ยังตั้งเป้าหมายด้วยว่า จะมีสาขาคาเฟ่ อเมซอนเพิ่มขึ้นเป็น 2,300 แห่ง ในปี 2561 และ 4,000 แห่ง ภายในปี 2565

ส่วน ณ วันที่ 31 สิงหาคม 2561

คาเฟ่ อเมซอน (ในประเทศ) มีจำนวน 2,260 สาขา

แบ่งเป็น จำนวนร้านในสถานีบริการ 1,579 สาขา

และจำนวนร้านนอกสถานีบริการทั้งที่อยู่ในศูนย์การค้า และสแตนด์ อโลน จำนวน 682 สาขา

ส่วนต่างประเทศมีอยู่ประมาณ 135 – 140 สาขา ในหลายประเทศ ย่านเอเชีย

ในจำนวนร้านคาเฟ่ อเมซอนทั้งหมดนั้น เป็นของ ปตท. เพียง 10% เท่านั้น หรือราว ๆ 230 สาขา และที่เหลือจะบริหารในรูปแบบของ “แฟรนไชส์”

ผ่านมาถึงวันนี้ของคาเฟ่ อเมซอน

ทราบกันไหมว่า มีส่วนแบ่งการตลาดมากกว่า “สตาร์บัคส์” แบรนด์กาแฟชื่อดังของโลกจากสหรัฐฯ ไปแล้ว

ส่วนแบ่งตลาดที่มากกว่าสตาร์บัคส์ เริ่มจากในปี 2558 สตาร์บัคส์มีรายได้ 4,998 ล้านบาท ขณะที่คาเฟ่ อเมซอนมีรายได้รวม 5,400 ล้านบาท

ผ่านมาถึงปี 2559 รายได้ของสตาร์บัคส์แม้จะเพิ่มขึ้นมาเป็น 6,051 ล้านบาท

ทว่ารายได้ของคาเฟ่ อเมซอนก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน จำนวน 7,006 ล้านบาท หรือฉีกหนีสตาร์บัคส์ ห่างขึ้นไปอีก

พอมาในปี 2561 สตาร์บัคส์คาดยอดขายไว้ 8,400 ล้านบาท แต่คาเฟ่ อเมซอน วางเป้าหมายไว้เกินกว่า 1 หมื่นล้านบาท (12,820 ล้านบาท)

ปตท.ยังได้ต่อยอดธุรกิจ ร้านกาแฟคาเฟ่ อเมซอนด้วย

หรือเริ่มตั้งแต่ “ต้นน้ำ” จนถึง “ปลายน้ำ”

โดยมีการลงทุนก่อสร้างโรงคั่วกาแฟ พัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ เช่น Healthy drink ผงผสมเครื่องดื่ม และเบเกอรี่แห้ง รวมถึงการสร้างศูนย์กระจายสินค้า เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงาน

ปตท. บอกว่า การเติบโตของคาเฟ่ อเมซอน จะช่วยสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรของไทยด้วย

เพราะกาแฟที่นำมาขาย มาจากเกษตรกรของไทย

นี่ยังไม่รวมสินค้า ขนมอื่น ๆ ที่วางขายในร้านกาแฟ ที่มาจากผู้ประกอบการเอสเอ็มอี

ทุกวันนี้ การยึดติดอยู่กับธุรกิจใดธุรกิจหนึ่ง อาจส่งผลต่อความมั่นคงขององค์กร หรือสินค้าแบรนด์นั้น ๆ

การแตกไลน์ธุรกิจเพื่อหารายได้เพิ่มจึงเป็นเรื่องสำคัญ และรายได้ของปตท.ก็ไม่ได้ไปไหน เพราะฝั่งรัฐยังคงถือหุ้นใหญ่ 65% ซึ่งเฉลี่ยต่อปีนำส่งรายได้เข้าคลังจำนวนมาก

ส่วนข้อสงสัย ของอดีตรมว.คลัง “กรณ์ จาติกวณิช” ว่า คาเฟ่ อเมซอน  เป็นของรัฐ และมาแข่งกับเอกชนนั้น

จะว่าไปแล้ว “สินค้า” หรือ “บริการ” ของรัฐที่แข่งกับเอกชนก็มีเยอะมาก แต่ส่วนใหญ่จะสู้เอกชนไม่ได้ เช่น ไปรษณีย์ไทย กับ เคอรี่ เอ็กซ์เพรส โดยทุกวันนี้เคอรี่ฯ ค่อย ๆ กินส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้น

เพราะผู้บริโภคต้องการทางเลือกที่หลากหลาย

และดีสุดสำหรับเขา

Back to top button