‘จ้อ’ จนได้ ‘โล่’

ในยุคที่โซเชียลมีเดียกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตไปแล้ว ข่าวสารที่เราได้รับในทุกวันนี้ สังเกตเห็นว่าส่วนใหญ่เป็นข่าวที่เกิดมาจากคอมเมนต์ต่างๆในโซเชียล มีเดีย ซึ่งหลายครั้งได้ทำให้เรื่องเล็กๆ ขยายวงเป็นเรื่องใหญ่ หรือจากเรื่องไม่เป็นเรื่องก็มีเรื่องจนได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคอมเมนต์ของคนมีชื่อเสียงแล้ว มักกลายเป็นกระแสสังคมทั้งในทางลบและทางบวกอย่างไม่ขาดสาย และหนึ่งในคนดังที่ชอบแสดงความเห็นผ่านโซเชียลมีเดียมากสุดในโลกคนหนึ่งก็คือประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์


พลวัตปี 2019 : ฐปนี แก้วแดง

ในยุคที่โซเชียลมีเดียกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตไปแล้ว ข่าวสารที่เราได้รับในทุกวันนี้ สังเกตเห็นว่าส่วนใหญ่เป็นข่าวที่เกิดมาจากคอมเมนต์ต่างๆในโซเชียล มีเดีย ซึ่งหลายครั้งได้ทำให้เรื่องเล็กๆ ขยายวงเป็นเรื่องใหญ่ หรือจากเรื่องไม่เป็นเรื่องก็มีเรื่องจนได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคอมเมนต์ของคนมีชื่อเสียงแล้ว มักกลายเป็นกระแสสังคมทั้งในทางลบและทางบวกอย่างไม่ขาดสาย และหนึ่งในคนดังที่ชอบแสดงความเห็นผ่านโซเชียลมีเดียมากสุดในโลกคนหนึ่งก็คือประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์

งานวิจัยครั้งแรกของโลกที่ศึกษาการใช้งานทวิตเตอร์ของผู้นำต่าง ๆ ทั่วโลก โดยบริษัท Burson-Marsteller พบว่าสองในสามผู้นำประเทศทั่วโลกต่างก็ใช้ทวิตเตอร์เพื่อเหตุผลทางการเมือง ซึ่งมีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า “Twiplomacy” นอกจากนี้ยังพบว่า ผู้นำแถวหน้าของโลกกว่า 264 คนต่างก็มีทวิตเตอร์เป็นของตัวเองเช่นผู้นำ G-20 ใช้ทวิตเตอร์ในเชิงการทูตอย่างสม่ำเสมอถึง 16 คน  และมีผู้นำไม่ต่ำกว่า 30 คนที่ทำการทวีตข้อความด้วยตัวเอง โดยทวีตมากกว่า 350,000 ครั้งไปยังคนที่ติดตามซึ่งมีรวม ๆ แล้วเกือบ 52 ล้านคน

แต่จะว่าไปแล้วเป็นทรัมป์น่าจะเป็นผู้นำคนแรก ๆ ของโลกที่ใช้ทวิตเตอร์เป็นสื่อกลางในการระบายความในใจและแสดงความเห็นโดยไม่กระมิดกระเมี้ยนหรือระมัดระวังคำพูดใด ๆ แถมยังมีความถี่มากกว่าที่ผู้นำใด ๆเคยทำ ขนาดพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังออกทีวีพบประชาชนแค่วันละครั้ง (เอง)

ด้วยเหตุนี้ เจ.พี.มอร์แกน จึงได้สร้างดัชนีเพื่อติดตามผลกระทบจากการทวีตของประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่มีต่อตลาดการเงิน โดยใช้ชื่อว่าดัชนี ‘Volfefe’   ชื่อดัชนีนี้ เจ.พี.มอร์แกน ต้องการให้นึกถึง ‘covfefe’ ซึ่งเป็นทวีตที่ทรัมป์เขียนไม่เสร็จเมื่อปี 2560 แต่โด่งดังและยังคงเป็นปริศนาอยู่ทุกวันนี้

เจ.พี.มอร์แกนได้พยายามวัดผลกระทบจากการทวีตของทรัมป์ที่มีต่อตลาดพันธบัตร โดยได้คิดดัชนี ‘Volfefe’ เพื่อวิเคราะห์ว่าการทวีตของเขามีอิทธิพลต่อความผันผวนของอัตราดอกเบี้ยในสหรัฐฯ เพียงไร ดัชนีตัวนี้อธิบายถึงการเคลื่อนไหวที่สามารถวัดได้จากความผันผวนของอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรกระทรวงการคลังสหรัฐฯ อายุไถ่ถอน 2 ปี และ 5 ปี

การทวีตของทรัมป์ที่ทำให้ตลาดเคลื่อนไหวมากคือการทวีตในเดือนสิงหาคมเมื่อเขาประกาศเก็บภาษีสินค้าจีนและตามจิกกัดธนาคารกลางสหรัฐเรื่องดอกเบี้ย

รายงานของเจ.พี.มอร์แกน ชี้ว่ามีเหตุผลที่การทวีตส่วนใหญ่ของทรัมป์โฟกัสไปที่ธนาคารกลางสหรัฐและความตึงเครียดทางการค้า เพราะว่ามีผลกระทบเป็นอันดับแรกและสำคัญที่สุดต่อภาวะเศรษฐกิจในระยะใกล้และต่อปฏิกิริยาของเฟดที่มีต่อพัฒนาการเช่นนั้น

ข้อความของทรัมป์ที่ทำให้ตลาดเคลื่อนไหวมักพูดถึงนโยบายการค้าและนโยบายเงิน โดยมีคีย์เวิร์ดสำคัญเช่น “จีน” “พันล้าน” และ “ผลิตภัณฑ์” “ดอลลาร์” “ภาษี” และ “การค้า” แต่ทวีตเหล่านี้กลับได้รับ “ไลค์” หรือ “รีทวีต” น้อยลงมากขึ้นจากคนที่ติดตาม

นับตั้งแต่ได้รับเลือกตั้งในปี 2559 ทรัมป์ได้ทวีตเฉลี่ยมากกว่า 10 ครั้งต่อวัน โดยมีผู้ติดตามเกือบ 64 ล้านคน และมีการทวีตเกี่ยวกับเรื่องส่วนตัวจำนวนทั้งหมด 14,000 ครั้งโดยมากกว่า 10,000 ครั้งเกิดขึ้นหลังจากเข้ารับตำแหน่ง

จากการทวีตของทรัมป์ที่เกิดขึ้นประมาณ 4,000 ครั้งในชั่วโมงการซื้อขายตั้งแต่ปี 2561 จนถึงปัจจุบัน มีเพียง 146 ครั้งเท่านั้นที่ทำให้ตลาดเคลื่อนไหว

การทวีตของทรัมป์ส่วนใหญ่เกิดขึ้นในเวลาระหว่างเที่ยงวันจนถึงบ่ายสองโดยทวีตตอนบ่ายโมงประมาณ 3 ครั้งเนื่องจากน่าจะเดินทางไปถึงทำเนียบขาวในช่วงบ่ายหรือค่ำ

นอกจากนี้ยังพบว่า ทรัมป์ทวีตในเวลาตีสามมากกว่าบ่ายสามซึ่งอาจสร้างความรำคาญให้กับตลาดดอกเบี้ยสหรัฐฯ ได้ เนื่องจากตลาดในช่วงกลางคืนอาจมีความลึกน้อย และสันนิษฐานว่าทรัมป์นอนตั้งแต่ตี 5 ถึง 10 โมงเช้า เนื่องจากไม่มีการทวีตในช่วงนี้

ไม่ได้มีแต่เจ.พี.มอร์แกนรายเดียวที่ติดตามผลกระทบจากการทวีตของทรัมป์ แบงก์ ออฟ อเมริกา เมอร์ริลล์ ลินช์ ก็ได้ทำรายงานเรื่องนี้เช่นกัน ซึ่งพบว่า ในวันที่ทรัมป์ทวีตหลายครั้งมักเกี่ยวข้องกับผลตอบแทนในตลาดหุ้นที่ติดลบเช่นกัน

อย่างไรก็ดี ในขณะที่การทวีตของทรัมป์สามารถทำให้ตลาดวุ่นวายเมื่อได้โจมตีอย่างกะทันหันต่อการค้าต่อจีนหรือต่อธนาคารกลางสหรัฐ แต่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้ส่งผลดีต่อตลาดหุ้นโดยรวม ดัชนีดาวโจนส์ปรับตัวขึ้น 42% นับตั้งแต่มีการเลือกตั้งประธานาธิบดีในปี 2559 และปรับตัวขึ้น 31% นับตั้งแต่เข้ารับตำแหน่ง

เรื่องนี้ก็อยู่ในสายตาของนักวิเคราะห์ของซิตี้กรุ๊ปเช่นกัน โดยได้ข้อสรุปว่า สกุลเงินหลาย ๆ คู่มีความผันผวนสูงกว่าที่คาด ภายในหนึ่งชั่วโมงหลังจากที่ทรัมป์ทวีต เมื่อเร็ว ๆ นี้ทรัมป์ได้แสดงความไม่พอใจต่อการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ และผลจากการทวีตของเขา ค่าเงินดอลลาร์อ่อนตัวลงเมื่อเทียบกับเงินยูโรและเงินเยน

การเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ ขนาดอยู่เฉย ๆ ก็ยังได้รับความสนใจจากคนทั่วโลกทุกฝีก้าวอยู่แล้ว แต่นี่พี่ท่านเล่นทวีตรายวันและวันละหลายรอบอีก ก็ย่อมกระเทือนซางเป็นธรรมดา… “จ้อ” เก่งอย่างนี้ ไม่น่าจะได้แค่ “ดัชนี” แต่สมควรได้ “โล่” ครับท่าน

 

Back to top button