ปตท.ก้าวสู่ตลาดรถ EV

ถือเป็นอีกก้าวกับการเข้าสู่ “ตลาดรถ EV” ชัดเจน.! เมื่อบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือพัฒนาธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle :EV) กับ WM Smart Mobility Technology (Shanghai) Company Limited (WM Motors) ที่ถือเป็น EV Startup อันดับหนึ่งในประเทศจีน


พลวัตปี 2019 : สุภชัย ปกป้อง

ถือเป็นอีกก้าวกับการเข้าสู่ “ตลาดรถ EV” ชัดเจน.! เมื่อบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือพัฒนาธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle :EV) กับ WM Smart Mobility Technology (Shanghai) Company Limited (WM Motors) ที่ถือเป็น EV Startup อันดับหนึ่งในประเทศจีน

สำหรับ WM Motors เป็นผู้ผลิตรถ EV แบรนด์ Weltmeister ที่มียอดขายมากกว่า 10,000 คัน และมีเป้าหมายการต่อยอดธุรกิจด้าน Services ต่าง ๆ ให้เป็น Mobility as a Service (MAAS) Platform

โดยปตท.และ WM Motors จะร่วมมือกันศึกษาโอกาสการพัฒนาธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle) ด้านต่าง ๆ อาทิ การลงทุนโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย เพื่อผลิต Localized Model เป็นการต่อยอดธุรกิจด้านแบตเตอรี่และผลิตภัณฑ์พลาสติกเครือปตท.

พร้อมศึกษาความเป็นไปได้กับการเป็นผู้แทนจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้าของ WM Motors สำหรับเป็นศูนย์กลางส่ง ออกรถยนต์ไฟฟ้า สำหรับประเทศกลุ่มเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และความร่วมมือเพื่อการวิจัยและพัฒนาแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า และโครงการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย

นับเป็นอีกความท้าทายของปตท. หลังจากปี 2555 ปตท.เริ่มต้นศึกษาวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีรถยนต์ไฟฟ้า (EV) เพื่อสนับสนุนโยบายส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนและเตรียมความพร้อมระบบและโครงสร้างพื้นฐานสนับสนุนการใช้พลังงานไฟฟ้าในภาคยานยนต์ให้เกิดขึ้นจริง ตามเป้าหมายปี 2579 (อีก 18 ปีข้างหน้า) ประเทศไทย ตั้งเป้าว่าจะมีรถยนต์ไฟฟ้าสะสมจำนวน 1.2 ล้านคัน และมีสถานีชาร์จจำนวน 690 สถานี

ทว่ารถยนต์ EV ยังไม่ใช่คำตอบสุดท้ายของปตท. แต่นั่นเป็นการต่อยอด “ธุรกิจแบตเตอรี่” ที่ปตท.อยู่ระหว่างการเจรจากับพันธมิตรเพื่อตั้งโรงงานผลิตแบตเตอรี่ในประเทศไทย เนื่องจากแบตเตอรี่ถือเป็นหัวใจของรถ EV เพราะเป็นส่วนประกอบหลักที่มีผลต่อต้นทุนรถ ตลอดจนระยะเวลาการชาร์จ และระยะทางการขับขี่ ผู้ผลิตรถยนต์หลาย ๆ ค่าย จึงเร่งพัฒนาเทคโนโลยีแบตเตอรี่ที่มีประสิทธิภาพสูงและต้นทุนต่ำลง

เช่นเดียวกับ “สถานีชาร์จไฟฟ้า” ที่กำลังดำเนินการขยายอยู่ในปัจจุบัน เป็นอีกหนึ่งจิ๊กซอว์..ที่จะให้ปตท.กลายเป็นผู้ประกอบการรถยนต์ EV ครบวงจร ตั้งแต่ “ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ” นั่นเอง..!?

ทว่า..ฝันที่ไกลของปตท. จะไปถึงหรือไม่ เชื่อว่าไม่นานคงได้คำตอบกัน..!??

 

(หมายเหตุ)

5 ประเภทรถ EV ในปัจจุบัน

1)รถยนต์ไฟฟ้าไฮบริด (Hybrid Electric Vehicle : HEV) คือรถยนต์ที่ผสมผสานการทำงานระหว่างเครื่องยนต์และมอเตอร์ไฟฟ้า รถยนต์ประเภทนี้เครื่องยนต์จะเป็นหัวใจหลักของการขับเคลื่อนอยู่

2)รถยนต์ไฟฟ้าปลั๊กอินไฮบริด (Plug-in Hybrid Electric Vehicle :PHEV) คือรถยนต์ไฮบริด สามารถเก็บไฟฟ้าในแบตเตอรี่ได้มากขึ้นและชาร์จไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานภายนอกได้

3)รถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มระยะ (Extended Range Electric Vehicle : EREV) คือรถยนต์ที่มีแบตเตอรี่ขนาดค่อนข้างใหญ่ใหญ่เท่ากับรถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่และมีเครื่องยนต์ขนาดเล็กติดตั้งอยู่ด้วยโดยการขับเคลื่อนจะใช้พลังงานไฟฟ้าเป็นหลัก ส่วนเครื่องยนต์ทำหน้าที่ให้กำเนิดพลังงานไฟฟ้าเท่านั้น

4)รถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ (Battery Electric Vehicle : BEV) คือ รถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้าเท่านั้น ไม่มีเครื่องยนต์และชาร์จไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานภายนอกได้

5)รถยนต์ไฟฟ้าเซลล์เชื้อเพลิง (Fuel Cell Electric Vehicle :FCEV) คือรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า โดยมีเซลล์เชื้อเพลิงผลิตกระแสไฟฟ้าติดตั้งอยู่ในรถและไม่มีการปล่อยมลพิษจากการขับขี่เช่นกัน

Back to top button