กองทุน SSF กับตลาดหุ้น

SSF หรือ (กองทุน) Super Saving Fund


ลูบคมตลาดทุน : ธนะชัย ณ นคร

SSF หรือ (กองทุน) Super Saving Fund

อย่างที่รับทราบกันไปแล้ว กองทุนนี้จะเข้ามาแทนที่กองทุนรวมหุ้นระยะยาว หรือ LTF

นับจากที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติจัดตั้งกองทุน SSF เมื่อวันที่ 3 ธันวาคมที่ผ่านมา

เชื่อว่าหลายคนกำลังหาข้อมูลว่า กองทุนนี้ดีกว่า หรือแย่กว่ากองทุนแอลทีเอฟอย่างไรกันในแง่ของการลดหย่อนภาษี

และผลที่จะเกิดกับตลาดหุ้นไทยด้วย

บล.โนมูระ พัฒนสิน ได้ทำข้อมูล ข้อแตกต่างของสองกองทุนนี้เอาไว้

อ่านดูแล้วน่าสนใจ เลยนำมาเสนอให้อ่านกันอีกครั้ง

เริ่มจาก 1.กองทุน SSF ลงทุนได้ทุกหลักทรัพย์ ส่วนแอลทีเอฟ  กำหนดให้ลงทุนในหุ้นไทยอย่างน้อย 65% ของ NAV

2.กองทุน SSF ได้สิทธิลดหย่อนภาษีสูงสุด 30% ของเงินได้พึงประเมิน และไม่เกิน 2 แสนบาทต่อปี ส่วนแอลทีเอฟให้สิทธิลดหย่อนสูงสุด 15% ของเงินได้พึงประเมิน และไม่เกิน 5 แสนบาทต่อปี

3.กองทุน SSF มีระยะเวลาลงทุน 10 ปี (เต็ม) ขณะที่แอลทีเอฟ มีระยะเวลาการลงทุนเพียง 7 ปีปฏิทิน

4.กองทุน SSF สามารถให้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ตั้งแต่ปี 2563–2567

ปล.ในวันที่ครม.มีมติเรื่อง SSF นั้น

ครม.ยังเห็นชอบปรับหลักเกณฑ์ใหม่ให้กองทุน RMF สามารถลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 30% ของรายได้พึงประเมิน และไม่เกิน 5 แสนบาท

ทว่า ปรับให้ลดหย่อนรวมระหว่าง SSF และ RMF นำมาคำนวณกันไม่เกิน 5 แสนบาท

มาถึงผลกระทบกับตลาดหุ้นไทยกันบ้าง

โนมูระฯ มองว่า ปี 2563–2564 ยังเป็น “บวก”

ถามว่าเพราะอะไร

คำตอบคือ มีการประเมินจาก SSF จะเข้าตลาดหุ้นราว 3.5 หมื่นล้านบาทต่อปี

แต่จะน้อยกว่าแอลทีเอฟ เดิมที่สูงราว 5.5 หมื่นล้านบาทต่อปี

โนมูระฯ อธิบายว่า ปี 2563–2564 ตลาดหุ้นไทยจะยังได้ผลบวกจากยอดซื้อกองทุถน SSF เพื่อการลดหย่อนภาษี เพราะในช่วง 2 ปีดังกล่าว “จะยังไม่มีการขายแอลทีเอฟ” ออกมา

เหตุผลเพราะเป็นจุดเปลี่ยนการถือครองจาก 5 ปีเป็น 7 ปีนั่นเอง

มีการประเมินจากโนมูระฯ ด้วยเกี่ยวกับยอดเงินกองทุน SSF

โดยในแต่ละปีจะอยู่ที่ 3.5 หมื่นล้านบาท น้อยลงจากแอลทีเอฟเดิมประมาณ 3 หมื่นล้านบาท (เปรียบเทียบกับค่าเฉลี่ย 5 ปี ของยอดซื้อกองทุนแอลทีเอฟ ที่ 6.5 หมื่นล้านบาท)

แต่ภายใต้สมมุติฐานว่า NAV ของตลาดหุ้นไทย โดยกองทุน SSF จะคล้ายกับ RMF ที่ 63%

เนื่องจากนโยบายการลงทุนที่เปิดกว้างเหมือนกัน และการจำกัดเพดานลดหย่อนภาษี สูงสุดที่เหลือเพียง 2 แสนบาท กระทบเงินในกลุ่มผู้ลงทุนที่อยู่ในฐานภาษีระดับสูงโดยตรง

มาถึงปี 2565–2567 กันบ้าง

มีการระบุว่า แม้จะมีเงินสุทธิจากแรงซื้อกองทุน SSF

ทว่าแรงขายแอลทีเอฟ ที่ครบกำหนดขาย จะเริ่มออกมาหักล้าง พร้อมกับคาดกระแสเงินในตลาดสุทธิ จะเป็นแรงขายสุทธิที่ – 5 พันล้านบาทต่อปี

แต่ยังมีโอกาสที่ผลกระทบดังกล่าวจะมีจำกัดลง

หากตลาดหุ้นและกองทุนในประเทศ

สามารถรณรงค์ให้คนที่มีสิทธิลดหย่อนภาษีผ่านกองทุน SSF ที่เสียภาษีในฐาน 10-20% ซื้อเพิ่มได้อย่างน้อย 5%

และมีโอกาสเป็นไปได้สูง

สะท้อนจากตัวเลขอัตราการเติบโตเฉลี่ย 5 ปีย้อนหลังของจำนวนบัญชีกองทุนรวมจะอยู่ที่ 11%

จะทำให้ครอบคลุม แรงขายส่วนเกิน 5 พันล้านบาทดังกล่าวได้

และหากเพิ่มกลุ่มดังกล่าวได้ถึง 20%

จะหนุนเงินจากกองทุน SSF เทียบเท่ากับกองทุนแอลทีเอฟ

ยังมีคาดการณ์รวมวงเงินในการลดหย่อนภาษีของกองทุน SSF เข้ากับกองทุนลดหย่อนอื่น ๆ จะกระทบต่อเงินซื้อ RMF มากกว่า

แต่จะไม่กระทบต่อเม็ดเงินเข้าสู่ตลาดหุ้นไทยมากนัก

เพราะนักลงทุนในวัย 25–50 ปี นิยมลงทุนในกองทุนแอลทีเอฟ มากกว่า RMF เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว

จึงน่าจะให้ความสำคัญกับกองทุน SSF มากกว่า RMF

เพราะระยะเวลาการถือครองสั้นกว่า และมีเงื่อนไขไม่ยุ่งยาก

Back to top button