ชู 2 หุ้นแบงก์เล็กน่าสอย

สำหรับภายใต้นโยบายของธปท.ที่ให้แบงก์มีการปรับค่าธรรมเนียมให้สมเหตุสมผลมากขึ้น เชื่อว่าจะมีผลกระทบแน่นอน โดยเฉพาะค่าธรรมเนียมการให้สินเชื่อและทวงหนี้


เส้นทางนักลงทุน

จากกระแสข่าวว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะรื้อโครงสร้างค่าธรรมเนียมธนาคารพาณิชย์ทั้งหมด 200-300 รายการ ครอบคลุมลูกค้าทุกประเภททั้งลูกค้ารายใหญ่ SME และรายย่อย โดยเตรียมออกข้อปฏิบัติในไตรมาส 3/2563 แต่ขณะนี้ยังไม่มีรายละเอียดว่าเป็นรายการใดและเปลี่ยนแปลงอัตราค่าธรรมเนียมอย่างไร !!!

หากการประกาศใช้แนวทางการคิดค่าธรรมเนียมของ ธปท. อาจส่งผลกระทบต่อรายได้ของธนาคาร แต่จะสร้างความเป็นธรรมให้กับลูกค้าและสร้างมาตรฐานให้กับสถาบันการเงินทั้งระบบ

ขณะที่ทางศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี หรือ TMB Analytics เปิดเผยว่า หากดูสถิติค่าธรรมเนียมของทั้งระบบธนาคารพาณิชย์ สิ้นปี 2562 ที่ผ่านมา มีราว 1.91 แสนล้านบาท หรือ 29% หากเทียบกับรายได้ดอกเบี้ยที่มีรายได้ราว  4.8 แสนล้านบาท หรือ 71% และหากดูรายได้ค่าธรรมเนียมตามหมวดหมู่พบว่า 20.5% เป็นค่าธรรมเนียมจากการขายประกันกองทุน ส่วนอีก 20% คือ ค่าธรรมเนียมในส่วนบัตรเครดิต, 18.4% ค่าธรรมเนียมการให้สินเชื่อและทวงหนี้, 18.3% ค่าธรรมเนียมบัตรเอทีเอ็ม และบัตรเดบิต และ 10.3% เป็นค่าบริการโอนเงิน จ่ายบิล เป็นต้น

แล้วหากดูสถิติค่าธรรมเนียมของ 5 แบงก์ใหญ่ พบว่า แบงก์ที่มีรายได้ค่าธรรมเนียมมากคือ KBANK ราว 5 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็นราว 33% ของรายได้ทั้งหมด รองลงมาคือ BBL ราว 3.9 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็นราว 30% ของรายได้ทั้งหมด ต่อมา SCB ราว 3.9 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็นราว 28% ของรายได้ทั้งหมด ส่วน BAY ราว 2.9 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็นราว 28% ของรายได้ทั้งหมด และ KTB ราว 2.9 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็นราว 25% ของรายได้ทั้งหมด

สำหรับภายใต้นโยบายของธปท.ที่ให้แบงก์มีการปรับค่าธรรมเนียมให้สมเหตุสมผลมากขึ้น เชื่อว่าจะมีผลกระทบแน่นอน โดยเฉพาะค่าธรรมเนียมการให้สินเชื่อและทวงหนี้ที่อาจเห็นค่าธรรมเนียมส่วนนี้ของแบงก์ปรับลดลงต่อเนื่อง รวมถึงค่าธรรมเนียมค่าบริการบัตรเดบิต บัตรเอทีเอ็มเช่นกัน

ทางด้าน บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส ระบุว่า ยังไม่สามารถบอกได้ว่าจะมีผลกระทบต่อรายได้และกำไรของธนาคารพาณิชย์แค่ไหน ! แต่ในเบื้องต้นคาดว่าจะเป็นลบต่อรายได้และกำไรของธนาคาร และประเมินว่าธนาคารใหญ่จะได้รับผลกระทบมากกว่าธนาคารขนาดเล็ก

ดังนั้นใช้กลยุทธ์การลงทุน แบบ Wait & See และการซื้อใหม่เน้นเมื่อราคาอ่อนตัว !!! โดยหุ้น Top Pick ของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ คือ ธนาคารเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน) หรือ KKP รองลงมาเป็น บริษัท ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TISCO

นอกจากนี้ด้วยหุ้น KKP และ TISCO เป็นหุ้น Top Pick ของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ที่ทาง บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส คัดให้แล้วก็ยังมีสิ่งที่น่าสนใจ อย่าง ธนาคารเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน) หรือ KKP ตั้งเป้าสินเชื่อปี 2563 ขยายตัว 7-9% ส่วน NIM ทรงตัว โดยจะเน้นไปยังสินเชื่อรายย่อยที่ไม่ใช่เช่าซื้อรถยนต์มือแรก ซึ่งรวมถึงเช่าซื้อรถยนต์มือสอง, สินเชื่อส่วนบุคคล, สินเชื่อจำนำทะเบียนรถ ฯลฯ ส่วนการปล่อยสินเชื่อ RE จะเลือกลูกค้ามากขึ้น นอกจากนั้นยังจะขยายสินเชื่อลอมบาร์ดด้วย

ด้านคุณภาพสินทรัพย์จะดีขึ้น คาด NPL ratio สิ้นปี 2563 จะลดลงเป็นต่ำกว่า 3.9% (สิ้นปี 2562 อยู่ที่ 4.0%) ส่วน Credit cost อยู่ที่ 140-160bps (ปี 2562 เท่ากับ 133bps) แต่ในปี 2563 จะยังมีผลขาดทุนจากการขายรถยึดสูง (ปี 2562 ขาดทุนส่วนนี้ 1.4 พันล้านบาท)

ขณะที่ทาง KKP มี Potential upside จาก TFRS 9 ทั้งนี้สิ้นปี 2562 ธนาคารมีสำรองส่วนเกินจากมาตรฐาน TFRS 9 อยู่ 1.2-1.5 พันล้านบาท ซึ่งทำให้มีโอกาสที่จะตั้งสำรองฯ น้อยกว่าที่ให้ Guidance ไว้ได้ และทำให้คาดการณ์กำไรของเราจะเพิ่มขึ้นจากปัจจุบัน

ทั้งนี้คงคำแนะนำ “ซื้อ” ให้ราคาพื้นฐาน 83 บาท เทียบเท่ากับ P/BV ปี 2563 ที่ 1.5 เท่า โดยคาดว่าธุรกิจธนาคารและตลาดทุนจะเติบโตได้ในปี 2563 และจ่ายปันผลสูง คาด Dividend yield ปี 2563 ไว้ไม่น้อยกว่า 6%

ส่วน บริษัท ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TISCO เนื่องจากในปี 2563 จะโฟกัสเรื่อง ROE ด้วยภาวะเศรษฐกิจซบเซา ธนาคารคาดสินเชื่อรวมปี 2563 จะทรงตัว (สินเชื่อจำนำและ High yield ที่เติบโตไปชดเชยกับสินเชื่อประเภทอื่นที่จะหดตัว) แต่กำไรจะโตได้จาก NIM ที่ขยับขึ้น รายได้ค่าธรรมเนียมเติบโตจากการขายประกันและธุรกิจบลจ. และค่าใช้จ่ายดำเนินงานลดลงเพราะไม่มีการตั้งสำรอง Employee benefit ก้อนใหญ่เหมือนในปี 2562 การตั้งสำรองฯ อยู่ที่ 50-60bps (เพิ่มจาก 29bps ในปี 2562) ซึ่งคาดว่ากรณีเหล่านี้จะทำให้ ROE ปี 2563 ยังสูงต่อได้

ทั้งนี้คงคำแนะนำ “ซื้อ” ให้ราคาพื้นฐาน 110 บาท เทียบเท่ากับ P/BV ปี 2563 ที่ 2.0 เท่า ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่มเพราะ TISCO มี ROE สูงที่ 18.9% ด้านปันผล คาดการณ์ Yield ปันผลปี 2562-2563 ไว้ที่ 5.8% และ 6.3% ตามลำดับ

สรุปว่า สำหรับ KKP และ TISCO ยังคงเป็น Top Pick ของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ เนื่องจากเป็นหุ้นขนาดเล็กที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากนโยบายของธปท.ที่ให้แบงก์มีการปรับค่าธรรมเนียมน้อยกว่าธนาคารขนาดใหญ่นั่นเอง

Back to top button