AAV กับคำมั่นอันเลื่อนลอย

เช้าวันที่ 28 ส.ค. 63 คำมั่นสัญญาที่ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี ให้ไว้กับ 7 ผู้บริหารสายการบิน ที่จะพิจารณาจัดหาสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) วงเงิน 24,000 ล้านบาท ภายในเดือนต.ค. 63 เพื่อช่วยเสริมสภาพคล่องกับสายการบินในประเทศ หลังได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19


เมกะเทรนด์ : สุภชัย ปกป้อง

เช้าวันที่ 28 ส.ค. 63 คำมั่นสัญญาที่ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี ให้ไว้กับ 7 ผู้บริหารสายการบิน ที่จะพิจารณาจัดหาสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) วงเงิน 24,000 ล้านบาท ภายในเดือนต.ค. 63 เพื่อช่วยเสริมสภาพคล่องกับสายการบินในประเทศ หลังได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19

จากวันนั้นถึงวันนี้ไม่มี “ซอฟต์โลน” ออกมาจากภาครัฐแต่อย่างใด ทำให้ทุกสายการบินประสบปัญหาอย่างหนัก โดย 2 ในสายการบินทั้งหมด นั่นคือบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI และบริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ NOK ต้องก้มหน้ารับชะตากรรมเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ

ขณะที่สายการบินบางกอกแอร์เวย์ส ในนามบริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BA ที่ถือว่ามีความมั่งคั่งทางฐานะการเงินมากสุด มีอันต้องปรับโครงสร้างภายในครั้งใหญ่ เพื่อรับมือกับรายได้ที่หดหายลงไปอย่างฉับพลัน ด้วย “โครงการร่วมใจจากองค์กร ปี 2563” เพื่อปรับลดพนักงานและต้นทุนลง

เช่นเดียวกับสายการบินไทยแอร์เอเชีย ในนามบริษัท เอเชีย เอวิเอชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ AAV ที่ยังยืนขาสั่นให้บริการตามรูปแบบ “สายการบินต้นทุนต่ำ” ภายในประเทศ เพื่อเก็บออมกระแสเงินจากการให้บริการการบิน แม้ต้องแบกรับภาระต้นทุนการบินและภาระหนี้สิน ระหว่างรอ “ซอฟต์โลน” ที่นายกรัฐมนตรีชายชาติทหารเคยให้คำมั่นสัญญาไว้

จนล่าสุด “ธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์” ประธานกรรมการบริหาร AAV ออกมายอมรับว่า บริษัทมีสภาพคล่องอยู่ได้ถึงแค่เดือนมี.ค. 64 และอยู่ระหว่างแก้ปัญหาชีวิต ด้วยการเตรียมขอวงเงินกู้จากธนาคารและทำการเพิ่มทุน (มีกองทุนทั้งในและกองทุนต่างประเทศ สนใจเข้าลงทุนหุ้นเพิ่มทุน AAV) เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้เสร็จภายใน 1-2 เดือน หลังการดำเนินการขอเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) จากภาครัฐไม่มีความคืบหน้าและหมดหวังไปแล้ว

ดูจากสถานะทางการเงินและสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ขณะนี้ AAV มีความเสี่ยงสูงและเป็นได้ยากที่สถาบันการเงินจะกล้าปล่อยเงินกู้โดยตรงหรือหากจะปล่อยเงินกู้ก็ต้องแลกด้วยอัตราดอกเบี้ยสูง เพื่อชดเชยความเสี่ยงกับธุรกิจสายการบินที่กำลังเผชิญและยังไม่เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์เลย

ความเป็นไปได้ของ AAV หนีไม่พ้นเข้าสู่โปรแกรม “การออกหุ้นกู้และเพิ่มทุน” โดยเป็นการออกหุ้นกู้ระยะสั้นอายุไม่เกิน 1 ปี เสนอขายต่อสถาบันการเงินต่าง ๆ เพื่อนำมาแก้ปัญหาสภาพคล่องระยะสั้นหรือขัดตาทัพไปก่อน พ่วงด้วยเงื่อนไขออปชั่นที่ AAV ต้องทำการเพิ่มทุนภายใน 1 ปี เพื่อนำเงินมารีไฟแนนซ์หนี้หุ้นกู้ระยะสั้นดังกล่าว

วิธีการดังกล่าวถือว่าไม่ใช่เป็นเรื่องใหม่ ในแวดวงตลาดเงินและตลาดทุน แต่วัตถุประสงค์การออกหุ้นกู้และการเพิ่มทุนของ AAV กับสถานการณ์ธุรกิจการบินที่เป็นอยู่ขณะนี้ ในแง่บริษัทอาจต้องแลกกับภาระต้นทุนทางการเงินที่มากขึ้น เช่นเดียวกับผู้ถือหุ้น ที่ต้องเจอภาวะการณ์เกิดไดลูชั่น เอฟเฟคมากขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

แต่มาถึงวันนี้ AAV ไม่มีทางเลือกอื่นใดอีกแล้ว ดังนั้น “การสูญเสียเพื่อให้คงอยู่ หรือการสูญเสียเพื่อก้าวได้ต่อไป” ยังมีความหวังมากกว่า การรอคอย “ซอฟต์โลน” จากคำมั่นสัญญาของนายกรัฐมนตรีชายชาติทหารซะอีก..!!

Back to top button