หลงทางไปกับ สนิมในเนื้อของ AEC

การแก้ปัญหาชนิดถลำลึกมากของบล. เออีซี ล่าสุด ด้วยการเพิ่มทุนใหญ่เพื่อล้างขาดทุนสะสมในรอบหลายปี ยังเป็นแค่จุดเริ่มต้นของการค้นหาชะตากรรมที่เหมาะสมของธุรกิจหลักทรัพย์ที่มีลักษณะ “ลูกแกะหลงทาง” ว่าจะสามารถกลับมาบนเส้นทางที่เหมาะสมได้มากน้อยเพียงใด


พลวัตปี 2021 : วิษณุ โชลิตกุล

การแก้ปัญหาชนิดถลำลึกมากของบล. เออีซี ล่าสุด ด้วยการเพิ่มทุนใหญ่เพื่อล้างขาดทุนสะสมในรอบหลายปี ยังเป็นแค่จุดเริ่มต้นของการค้นหาชะตากรรมที่เหมาะสมของธุรกิจหลักทรัพย์ที่มีลักษณะ “ลูกแกะหลงทาง” ว่าจะสามารถกลับมาบนเส้นทางที่เหมาะสมได้มากน้อยเพียงใด

อย่างน้อยเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก็เป็นบทเรียนให้รู้ว่าการทำธุรกิจนั้น ต้องการความสามารถมากกว่าสายสัมพันธ์

ข่าวเรื่องการปรับโครงสร้างทุนบริษัทหวังล้างขาดทุนสะสม 873.1 ล้านบาท ไม่มีส่วนต่ำมูลค่าหุ้นของบริษัทหลักทรัพย์ ที่ต้องใช้เงินเพิ่มทุนใหม่มหาศาล ทำให้มีคำถามว่าเกิดความผิดพลาดอะไรขึ้น ทำให้ธุรกิจที่ควรมีกำไรจากธุรกรรม ต้องจมปลักกับการขาดทุนต่อเนื่องชนิดถมไม่เต็มปีแล้วปีเล่า

ชะตากรรมลุ่ม ๆ ดอน ๆ ของบล.เออีซี จำกัด (มหาชน) ที่ประพล มิลินทจินดา และพวกไปรับเซ้งต่อมาจาก บล.ยูไนเต็ด (เดิม) ที่ไม่เคยบันทึกกำไรสุทธิเลยนับตั้งแต่เริ่มดำเนินการมาเมื่อ 7 ปีก่อน จนกระทั่งถูก ก.ล.ต. ออกคำสั่ง “ระงับดำเนินกิจการบางส่วน” แม้ว่าในปี 2563 จะมีการเพิ่มทุนระลอกใหญ่มากถึงกว่า 3 พันล้านบาท ก็ยังเอาไม่อยู่ คือภาพสะท้อนความอ่อนหัดที่ตอกย้ำว่าสายสัมพันธ์ทางอำนาจ อาจจะไม่ได้ช่วยเท่าใดนักเมื่อธุรกิจของกิจการออกมาต่ำกว่ามาตรฐาน

คำสั่งล่าสุดของก.ล.ต.แม้จะไม่ใช่ “คำสั่งประหารชีวิต” แต่ก็น่าจะถือได้ว่าเป็นการ “ตัดแขนขา” ที่จะทำให้ยากจะดำเนินการต่อไปในอนาคต

เหตุผลของ ก.ล.ต. ก็ชัดเจนที่สะท้อนภาพล่าสุดของบล.เออีซี ภายใต้การบริหารของ “มืออาชีพ” ที่ประพล “ไม่ได้รับผิดชอบโดยนิตินัย” (แม้ยังคงสถานะผู้ถือหุ้นรายใหญ่เช่นเดิม)

ก.ล.ต.ระบุ เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2563 ว่า AEC มีเงินกองทุนสภาพคล่องสุทธิ (NC) ต่ำกว่าศูนย์ติดต่อกันเกิน 5 วันทำการ จึงเป็นเหตุให้บริษัทต้องระงับการดำเนินธุรกิจตามเกณฑ์ของสำนักงาน ก.ล.ต. และขอให้บริษัทชี้แจงการดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว

ข้อมูลดังกล่าวกระทบต่อฐานะการเงินของบริษัทอย่างมีนัยสำคัญ รวมถึงความสามารถในการประกอบธุรกิจของบริษัทในฐานะบริษัทหลักทรัพย์ ยังผลให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ ขึ้นเครื่องหมาย “H” หลักทรัพย์ของ AEC เพื่อห้ามการซื้อขายหลักทรัพย์ของบริษัทชั่วคราว และเมื่อเปิดทำการซื้อขายมา ราคาหุ้นของ AEC ก็ร่วงลงมาต่ำกว่า 0.20 บาท

ในที่สุด ผลลัพธ์จึงออกมาล่าสุดเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา คือการเพิ่มทุนครั้งใหม่ และการปรับเปลี่ยนโครงสร้างผู้บริหารทั้งกระบิ

ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท ครั้งที่ 2/2564 มีมติอนุมัติให้นำเสนอต่อที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2564 อนุมัติการเพิ่มทุนจดทะเบียนของบริษัท จากทุนจดทะเบียนเดิม 5,815,182,788 บาท เป็นทุนจดทะเบียนใหม่ 5,815,182,792 บาท โดยออกหุ้นสามัญเพิ่มทุน 4 หุ้น  มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 1 บาท

วิศวกรรมการเงินด้วยการเพิ่มทุนจดทะเบียนดังกล่าวได้โดยไม่ต้องลดทุน โดยวิธีที่ตัดหุ้นจดทะเบียนที่ยังไม่ได้ ออกจำหน่าย เนื่องจากหุ้นที่เหลือทั้งหมดจำนวน  1,530,311,260 หุ้น ที่ออกไว้เพื่อรองรับการใช้สิทธิของใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นสามัญของบริษัท รุ่นที่ 6 (AEC-W6)

บริษัทฯ มีความจำเป็นต้องเพิ่มทุนในครั้งนี้ เพื่อไม่ให้เกิดเศษหุ้น ภายหลังการเปลี่ยนแปลงมูลค่าที่ตราไว้จากการรวมมูลค่าที่ตราไว้ (รวมพาร์)  เนื่องจากปัจจุบันบริษัท มีความประสงค์ที่จะปรับโครงสร้างทุนของบริษัท โดยการเปลี่ยนแปลงมูลค่าที่ตราไว้ของหุ้นของบริษัทฯ และการลดทุนจดทะเบียนและทุนชำระแล้ว เพื่อล้างส่วนต่ำมูลค่าหุ้น และลดขาดทุนสะสมซึ่งบริษัทฯ มีผลขาดทุนสะสมรวม เป็นจำนวนทั้งสิ้น 873,105,544 บาท โดยอ้างอิงตามงบแสดงฐานะทางการเงินของบริษัทฯ ที่ผ่านการตรวจสอบจากผู้สอบบัญชีของบริษัทฯ สิ้นสุด ณ วันที่ 31 ธ.ค. 2563

ทั้งนี้ เพื่อทำให้ฐานะการเงินของบริษัทฯ ที่แสดงในงบการเงินสะท้อนสถานะทางการเงินที่แท้จริง ซึ่งจะทำให้บริษัทฯ สามารถจ่ายเงินปันผลในอนาคตได้ เมื่อบริษัทฯ มีกำไรสุทธิและกระแสเงินสดเพียงพอ และคณะกรรมการบริษัทเห็นควรตามนโยบายการจ่ายเงินปันผลของบริษัทฯ ภายใต้กฎหมาย และกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง

นอกจากนี้ คณะกรรมการบริษัทมีมติอนุมัติการโอนทุนสำรองตามกฎหมาย จำนวน 17,207,886 บาท และทุนสำรองส่วนล้ำมูลค่าหุ้น จำนวน 0 บาท (โดยบริษัทฯ มีส่วนล้ำมูลค่าหุ้นติดลบ) เพื่อชดเชยผลขาดทุนสะสมของบริษัทฯ

พร้อมกันนั้นก็ยังมีความซับซ้อนในการเพิ่มพาร์และลดพาร์ในหุ้นเข้าไปอีก เพื่อให้ออกมา “ดูดี” ก่อนลงเอยที่เป็นข้อสรุปดังกล่าว พร้อมแจกวอร์แรนต์ที่ 6 ออกมาที่จะกระทบราคาหุ้นในอนาคตอีกยาวนาน

คำถามล่าสุดนอกจากเรื่องราคาหุ้นและการเพิ่มทุนเพื่อเอาตัวรอดเฉพาะหน้าคือ ความผิดพลาดที่ผ่านมามีข้อสรุปหรือยังว่าเกิดจากปัญหาความสามารถที่ต่ำเกินของผู้บริหาร หรือเกิดจากโมเดลธุรกิจที่ผิดพลาดจนทำให้ขาดทุนถึงขั้นต้องเพิ่มทุนหลายระลอก

ถ้าคำตอบไม่ชัดเจน ก็บอกได้ล่วงหน้าเลยว่า AEC จะเป็นกิจการที่ไร้อนาคต และการเพิ่มทุนแบบถมไม่เต็ม จะแก้ปัญหาอะไรไม่ได้เลยเพราะ “สนิมเกิดแต่เนื้อในตน”

พูดได้แค่นี้ สำหรับคนที่น่ารักอย่างประพล มิลินทจินดา ที่โดยส่วนตัวไม่มีอะไรโกรธเคืองกัน

Back to top button