‘OR’ เกณฑ์ฟรีโฟลต (ใหม่) ไม่กระทบพื้นฐาน

อาจจะพอรับทราบกันบ้างแล้ว


ลูบคมตลาดทุน : ธนะชัย ณ นคร

อาจจะพอรับทราบกันบ้างแล้ว

ในช่วง 18 มี.ค.-2 เม.ย.2564 ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดรับฟังความคิดเห็น (เฮียริ่ง) เรื่อง “ปรับเกณฑ์” การคำนวณดัชนีตลาดหุ้นใหม่

ตลท.อ้างแนวคิดปรับหลักเกณฑ์

นั่นคือ ของเดิมไม่ได้มีปัจจัยที่สะท้อนถึงสัดส่วนผู้ถือหลักทรัพย์ “รายย่อย” หรือฟรีโฟลต (Free Float) ที่ถูกจัดเป็นหุ้นหมุนเวียนซื้อขายในตลาด

บวกกับไม่สอดคล้องกับแนวโน้มการจัดทำดัชนีในต่างประเทศ

เกณฑ์ที่ (จะ) ปรับเปลี่ยนใหม่เช่น 1.วิธีการคำนวณน้ำหนักของหุ้นในองค์ประกอบของดัชนี จากเดิมที่ใช้มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดในการคำนวณดัชนี (Full Market Capitalization)

เปลี่ยนมาเป็นการใช้ “มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด” (มาร์เก็ตแคป) ที่ปรับด้วย “สัดส่วนผู้ถือหลักทรัพย์รายย่อย” ในการคำนวณดัชนี (Free Float Adjusted Market Capitalization)

2.ปรับปรุงข้อมูลสัดส่วนผู้ถือหลักทรัพย์รายย่อย หรือ FreeFloat ที่ใช้ในการคำนวณดัชนี

– ปรับสัดส่วนผู้ถือหลักทรัพย์รายย่อยที่ใช้ในการคำนวณดัชนีพร้อมรอบการเปลี่ยนแปลงรายชื่อหลักทรัพย์ในดัชนี SET50, SET100, SETCLMV, SETHD, SETTHSI และ SETWB ในเดือน มิ.ย.และ ธ.ค.ของทุกปี

– ปรับสัดส่วนผู้ถือหลักทรัพย์รายย่อย ที่ใช้ในการคำนวณดัชนีหากสัดส่วนผู้ถือหลักทรัพย์รายย่อย เปลี่ยนแปลงจากค่าเดิมอย่างน้อย 5% ขึ้นไปในเดือน มี.ค. และ ก.ย.ของทุกปี

– สัดส่วนผู้ถือหลักทรัพย์รายย่อยที่ใช้ในการคำนวณดัชนีจะปรับเป็นจำนวนเต็ม 1%

แน่นอนว่า การปรับเปลี่ยนวิธีการคำนวณนี้

จะส่งผลกระทบต่อการ “เปลี่ยนแปลงน้ำหนัก” ของทุกหลักทรัพย์เป็นองค์ประกอบของดัชนี (ที่จะเข้าคำนวณดัชนี)

ประเด็นที่น่าสนใจและต้องติดตามอยู่ตรงนี้

หุ้นตัวไหนที่มีสัดส่วนของรายย่อย หรือฟรีโฟลตต่ำ จะมีผลกระทบต่อการคำนวณดัชนี

ขออธิบายเพิ่มว่า “ฟรีโฟลตต่ำ” ที่ว่านี้หมายถึง หุ้นตัวนั้น ๆ ยังคงมีอัตราฟรีโฟลตเกินกว่าเกณฑ์ของตลาดหลักทรัพย์ที่กำหนดไว้ไม่ต่ำกว่า 15%

(หุ้นตัวไหนที่ต่ำกว่านี้ (15%) จะต้องถูกปรับ หรือถูกเพิกถอนออกจากตลาดฯ)

กลับมาที่หุ้นฟรีโฟลตต่ำ

มีหุ้นที่ฟรีโฟลตต่ำหลายตัว และถูกคำนวณอยู่ในดัชนี SET50 ที่จะได้รับผลกระทบจากการปรับเกณฑ์การคำนวณใหม่ หนึ่งในนั้นคือหุ้น OR

ปัจจุบัน OR มีส่วนของฟรีโฟลตอยู่ประมาณ 24-25%

หากเทียบกับหุ้นอีกหลายหลักทรัพย์ในกลุ่ม SET50 ถือว่าสัดส่วนฟรีโฟลตของ OR ค่อนข้างต่ำกว่า

มาดูมาร์เก็ตแคปล่าสุดของ OR กัน

หากเทียบกับราคาปิดวานนี้ที่ 33.00 บาท มาร์เก็ตแคปของ OR อยู่ที่ 383,146 ล้านบาท

และน่าจะอยู่อันดับต้น ๆ ของหุ้นที่คำนวณในดัชนี SET50

หุ้นที่มีมาร์เก็ตแคปสูง ๆ และเป็นอันดับต้น ๆ แบบนี้

กลุ่มนักลงทุนสถาบัน เช่น “กองทุน” เขาก็จะมีการ “ปรับเพิ่มน้ำหนัก” กับหุ้นนั้น หรือจะต้องมีการเข้าลงทุนในหุ้นตัวนั้น ๆ มากเป็นพิเศษ เพื่อให้เป็นไปตามเกณฑ์ของแต่ละกองทุน

รูปแบบของกองทุนนั้น จะมีอยู่ 2 ประเภท

1.Active Fund คือ กองทุนที่ผู้จัดการกองทุนพยายามทำทุกอย่าง เพื่อให้ผลตอบแทนของกองทุนนั้นชนะค่ามาตรฐาน (Benchmark) หรือพยายามที่จะทำ “ผลกำไร” ให้มากสุด

วิธีคือ เลือกสินทรัพย์และสัดส่วนที่เหมาะสม

เช่นหุ้นรายตัว หรือตราสารหนี้ที่ลงทุน รวมถึงคำนึงถึงช่วงเวลาซื้อขายที่เหมาะสม

ส่วนกลยุทธ์การลงทุนก็จะมี 2 วิธีหลัก ๆ ได้แก่ 1.การวิเคราะห์แบบ Top  Down 2.การลงทุนด้วยวิธี Bottom Up

2.Passive Fund เป็นการลงทุนที่เน้นลงทุนให้ได้ผลลัพธ์ใกล้เคียงกับ “ดัชนีอ้างอิง”

หรือหุ้นตัวไหนที่ถูกคำนวณในดัชนีฯ และมีมาร์จิ้น

ปัญหาอยู่ที่ Passive Fund

OR หากถูกคำนวณด้วยเกณฑ์ใหม่ (กำลังทำเฮียริ่ง)

ด้วยฟรีโฟลตที่มีอยู่ค่อนข้างต่ำ จึงทำให้มาร์เก็ตแคปถูกคำนวณออกมาลดลง (แต่ยังอยู่ใน SET50) และจะทำให้กองทุน หรือ Passive Fund ปรับลดน้ำหนักหุ้น OR หรือจะต้องขายหุ้น OR ออกมานั่นแหละ

ทีนี้ต้องมาดูกันว่าสัดส่วนของกองทุน Passive Fund ในหุ้น OR มีจำนวนมากแค่ไหน

ทว่า ในส่วนของโบรกฯ เริ่มมีการคำนวณออกมาล่วงหน้า แบบคาดการณ์ว่า หุ้น OR น่าจะถูกปรับลดน้ำหนักลงจาก 3.5% ลงมาเหลือ 1.8 – 1.9%

หากเป็นแบบนี้ Passive Fund ที่ลงทุนใน OR จะต้องปรับพอร์ต ทยอยขายหุ้นออก

การถูกขายหุ้นจากกองทุน ย่อมกระทบถึงราคาหุ้น OR ในขณะนั้นที่อาจจะเกิด “การเหวี่ยงสูง”

สรุป กระบวนการทั้งหมดที่ (อาจ) กำลังเกิดขึ้น

ไม่ได้มีอะไรที่เกี่ยวข้องกับ “พื้นฐาน” ของหุ้น OR

OR ยังคงเดินหน้าตามแผน เพื่อไปสู่เป้าหมายที่กำหนดไว้แต่ละปีเหมือนเดิม

Back to top button