EKH ฟื้นตัวปี 64 เร่งตัวจาก ‘IVF’

มีการวิเคราะห์กันว่า ผลการดำเนินงานของ EKH ในปี 2564 จะสามารถฟื้นตัวได้จากปีก่อนที่ชะลอตัวเนื่องจากจากการแพร่ระบาดโควิด-19


คุณค่าบริษัท

มีการวิเคราะห์กันว่า ผลการดำเนินงานของบริษัท เอกชัยการแพทย์ จำกัด (มหาชน) หรือ EKH ในปี 2564 จะสามารถฟื้นตัวได้จากปีก่อนที่ชะลอตัวเนื่องจากจากการแพร่ระบาดโควิด-19 โดยประเด็นที่คาดว่าผลการดำเนินงานมีการฟื้นตัวมีประเด็นดังต่อไปนี้

1.ผู้บริหารตั้งเป้ารายได้ปี 2564 โตเพิ่มขึ้น 20% จากงวดเดียวกันของปีก่อน และคาดกำไรโตเพิ่มขึ้น 30% จากงวดเดียวกันของปีก่อน ปัจจัยการเติบโตหลัก ๆ มาจากเด็กหลอดแก้ว (IVF) ซึ่งบริษัทสามารถรองรับลูกค้า IVF ได้มากถึง 100 เคสต่อเดือน ขณะที่บริษัทคาดจะเห็นการเปิดให้ต่างชาติเข้าประเทศได้ในครึ่งหลังของปี 2564

2.แนวโน้มรายได้ไตรมาส 1/2564 ยังดีต่อเนื่อง จากการตรวจ COVID-19 เฉลี่ย 100 รายต่อวัน ในช่วงม.ค.-ก.พ. 2564 ปรับตัวลดลงจากไตรมาส 4/2563 ที่ 500 รายต่อวัน (ช่วงเริ่มต้นของการระบาดรอบใหม่) ปัจจุบัน จ.สมุทรสาคร มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ลดลงอยู่ในระดับ 38 รายต่อวัน จากเดิมที่ 800 รายต่อวัน

3.IPD utilization rate อยู่ในระดับสูงถึง 80% เป็นผลจากการรักษาผู้ป่วย COVID-19 ในช่วงเดือน ม.ค-ก.พ. 2564 ซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่ในเกณฑ์ของประกันสังคม

ผลดังกล่าวทำให้ บล.เคทีบีเอสที คาดคงกำไรสุทธิปี 2564 ที่ 95 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 31% จากงวดเดียวกันของปีก่อน แม้ว่าประเมินกำไรมีแนวโน้มไตรมาส 1/2564 หดตัวจากไตรมาสก่อน จากทิศทาง gross profit margin ชะลอตัวจากไตรมาส 4/2563 ที่ 40.4% เป็นผลจากการปรับลดรายได้ตรวจ COVID-19 ลงเป็น 2,500 บาท จากเดิม 4,500 บาท ในไตรมาส 4/2563 และการตั้งเบิกค่าใช้จ่ายในการรักษาผู้ป่วย IPD COVID-19 กับภาครัฐ

อย่างไรก็ตาม ภาพรวมทั้งปียังคงเห็นการเติบโตของกำไร จากกลับมาเปิดให้ต่างชาติเดินทางเข้าประเทศได้ในช่วงครึ่งหลังของปี 2564 และคาดว่าประเทศจีนจะเป็นประเทศแรกที่เดินทางเข้ามา ซึ่งจะช่วยหนุนการเร่งตัวของรายได้ IVF

แม้ว่าผลการดำเนินงานปี 2563 สิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2563 บริษัทมีรายได้รวมขยับขึ้นมาอยู่ที่ 658.73 ล้านบาท จากงวดเดียวกันของปีก่อน 905.43 ล้านบาท โดยปัจจัยหลักเป็นผลจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2563 ส่งผลทำให้ทั้งผู้ป่วยใน ผู้ป่วยนอก และชาวต่างชาติ จากศูนย์ผู้มีบุตรยาก เข้ารับบริการลดลง ส่งผลให้กำไรลดลงเหลือ 72.10 ล้านบาท หรือ 0.1205 บาทต่อหุ้น จากงวดเดียวกันของปีก่อน 160.30 ล้านบาท หรือ 0.2672 บาทต่อหุ้น

อย่างไรก็ตาม บริษัทมีความคล่องตัวทางการเงินสูง ทำให้การขยับขยายงานเป็นไปอย่างราบรื่น เนื่องจากมีสินทรัพย์หมุนเวียนมากถึง 259.92 ล้านบาท เมื่อนำมาเทียบกับหนี้สินหมุนเวียนเพียง 98.14 ล้านบาท ได้ค่า CURRENT RATIO อยู่ที่ระดับ 2.65 เท่า แสดงว่าบริษัทมีเงินไว้จับจ่ายใช้สอยอย่างเหลือเฟือ แบบที่ไม่ต้องพึ่งพิงเงินกู้จากสถาบันการเงิน

เมื่อบริษัทมีความคล่องตัวทางการเงินค่อนข้างสูง จึงไม่ต้องกังวลกับปัญหาหนี้สินที่มีอยู่ และเมื่อนำหนี้สินรวมที่มีอยู่ 144.93 ล้านบาท เทียบกับส่วนของผู้ถือหุ้น 857.56 ล้านบาท ได้ค่า D/E อยู่ที่ระดับ 0.17 เท่า แสดงว่าบริษัทนี้ปลอดจากภาระหนี้สินจริง ๆ เพราะแทบไม่มีเลย

ทั้งนี้ จากข้อมูลข้างต้นหวังลูกค้าต่างชาติโดยเฉพาะจีนกลับมาเร็วกว่าคาดหลังการฉีดวัคซีนประสบความสำเร็จ บล.เคทีบีเอสที แนะนำ “ซื้อ” ราคาเป้าหมายที่ 6.40 บาท

ผู้ถือหุ้นรายใหญ่

  1. นางอรสา ตั้งสัจจะพจน์ 38,510,480 หุ้น 6.42%
  2. นายอำนวย เอื้ออารีมิตร 29,052,900 หุ้น 4.84%
  3. นางกาญจนา เอื้ออารีมิตร 21,636,600 หุ้น 3.61%
  4. นายกิตติพัฒน์ เอื้ออารีมิตร 20,267,000 หุ้น 3.38%
  5. น.ส.นิษฐา เอื้ออารีมิตร 19,760,000 หุ้น 3.29%

รายชื่อกรรมการ

  1. พล.ร.อ.สุรศักดิ์ หรุ่นเริงรมย์ ประธานกรรมการ, กรรมการอิสระ
  2. นายอำนวย เอื้ออารีมิตร ประธานกรรมการบริหาร, กรรมการ
  3. นางอรสา ตั้งสัจจะพจน์ กรรมการ
  4. นางกาญจนา เอื้ออารีมิตร กรรมการ
  5. นายสุทธิพงศ์ ตั้งสัจจะพจน์ กรรมการ

Back to top button