เทกระจาดแบงก์

หุ้นกลุ่มธนาคารกลับมาถูกเทขายกันอีกครั้ง


หุ้นกลุ่มธนาคารกลับมาถูกเทขายกันอีกครั้ง

ปัจจัยลบจาก คณะรัฐมนตรีมอบหมายให้กระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

ไปหารือกับธนาคารพาณิชย์ เพื่อผ่อนปรนการชำระคืนเงินต้นและดอกเบี้ย หรือเลื่อนงวดการชำระเงินต้นและดอกเบี้ย หรือพักหนี้ ให้ทั้งประชาชนและผู้ประกอบการรายย่อย

ข่าวนี้แม้ยังไม่มีความชัดเจนออกมา

แต่นักลงทุนต่าง “ปรับพอร์ต” ลดความเสี่ยงกันไปก่อน

พาเหรดกันขายหุ้นแบงก์กันออกมาจ้าละหวั่น

วานนี้เราจึงเห็นหุ้นกลุ่มธนาคาร เข้ามากดดันดัชนีภาพรวมให้ปิดในแดนลบ

แบงก์ขนาดใหญ่ 4 แห่ง BBL SCB KBANK และ SCB วูบถ้วนหน้า

หุ้นต่างถูกสาดออกตั้งแต่เปิดตลาดในช่วงเช้าทันที

ระหว่างวันราคาแทบไม่ผงกหัว

และมาปิดตลาดในแดนลบทั้งหมด

BBL ปรับลง 1.86%, KBANK ปรับลง 1.72% และ SCB ปรับลง 1.32%

ส่วนกรุงไทย หรือ KTB ลงมานิดหน่อย 0.96%

หุ้นกลุ่มแบงก์ ราคาเพิ่งจะรีบาวน์ขึ้นมาได้เล็กน้อยก่อนหน้านี้

หลังมีนักลงทุนเข้ามาเก็งกำไรรับผลประกอบการงวดไตรมาส 2/2564 ที่จะประกาศกันในช่วงต้นสัปดาห์หน้า หรือระหว่างวันที่ 19-21 ก.ค.2564

BBL กับ KBANK ถูกคาดหมายว่า กำไรจะออกมาดี

โดยเฉพาะ KBANK กำไรน่าจะเติบโตกว่า 300% เมื่อเทียบกับไตรมาส 2/2563

คือ ไตรมาส 2 ปีก่อน ทาง KBANK ตั้งสำรองฯ สูงมาก และไตรมาสถัด ๆ มาได้ตั้งสำรองฯ ระดับสูงต่อเนื่อง

พอมาถึงปีนี้ จึงตั้งสำรองฯ ลดลง ทำให้กำไรกลับมาโดดเด่น

เช่นเดียวกับทางด้าน BBL ที่ตั้งสำรองฯ สูง คล้ายกับ KBANK

นักวิเคราะห์ ประเมินว่า จากมาตรการล่าสุดที่เป็นมติ ครม.

หากแบงก์พาณิชย์เอกชนต้องพักหนี้จริง

อาจจะยังไม่ส่งผลกระทบโดยทันที

สาเหตุเพราะงบยังมีการบันทึกรายได้จากดอกเบี้ยอยู่ แม้จะมีการพักชำระหนี้ก็ตาม

ทว่าดอกเบี้ยก็ไม่ได้หยุดตาม

ดังนั้นผลประกอบการยังคงไม่ได้รับผลกระทบในทันที

แต่ภายหลังจากการพักชำระหนี้แล้ว หากลูกหนี้ไม่สามารถชำระหนี้ได้ ในส่วนที่ลงบันทึกเป็นรายได้ไว้ก่อนหน้านี้ก็จะต้องตัดออกไป และต้องตั้งสำรองเพิ่ม

และแน่นอนว่า จะส่งผลต่องบแบงก์หลังจาก “หยุดพักชำระหนี้”

ปัจจัยกดดันล่าสุดนี้

ยังไม่รวมกับที่นายกรัฐมนตรี ให้แบงก์ชาติออกประกาศปรับลดดอกเบี้ยสินเชื่อบุคคลลงมาอีก

หลังจากที่เคยปรับลดลงมาแล้วในช่วงโควิด-19 ระบาดใหม่ ๆ เมื่อ 1 ปีที่แล้ว

แต่เรื่องนี้ยังไม่มีความคืบหน้า

และยังคงเป็นปัจจัยกดดันหุ้นแบงก์มาตลอด กระทั่งมาเจอกับประเด็นปัจจัยลบล่าสุดเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา

ก่อนหน้านี้ ผู้บริหารแบงก์ชาติออกมาบอกว่า

ธนาคารพาณิชย์ของไทยต่างมีความแข็งแกร่งมาก

เงินกองทุน การตั้งสำรองหนี้ฯ ต่างอยู่ในระดับสูง และไม่มีอะไรน่าห่วง

พร้อมกับให้ธนาคารต่าง ๆ กลับมาจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลได้ ภายใต้เงื่อนไขที่แบงก์ชาติได้แจ้งไว้

แนวรับสำคัญของ BBL ภายใต้ปัจจัยกดดันต่าง ๆ ยังอยู่ที่ 100.00 บาท เช่นเดียวกับ KBANK ที่จะมีแนวรับ 110.00 บาท ส่วน SCB หลังจากหลุด 100.00 บาท มีแนวรับถัดไป 92.00 บาท

ส่วนกรุงไทย KTB ราคาหุ้นน่าจะยังยืนเหนือ 10.00 บาทได้

นักวิเคราะห์ประเมินว่า ราคาหุ้นแบงก์ น่าจะยัง “แกว่ง” ต่อไป

แต่ก็ไม่น่าเลวร้ายเหมือนกับปี 2563

Back to top button