‘โควิด’ ยังไม่ใกล้จบ

เกือบจะสองปีแล้วที่เราต้องทนทุกข์และเครียดกับการระบาดของโควิด-19 ทั้งที่มีการคาดการณ์ว่า สถานการณ์จะดีขึ้นเมื่อมีวัคซีน แต่กลับกลายเป็นว่า เมื่อมีวัคซีนให้ฉีดแล้ว หลาย ๆ ส่วนของโลก ได้เกิดการระบาดกลับมาใหม่ พร้อมกับสายพันธุ์ใหม่ ๆ ที่ติดเชื้อกันได้ง่ายกว่าเดิม การสร้างความหวังและกำลังใจว่าเดี๋ยวมันจะผ่านไปและจบลง นับวันยิ่งเป็นแค่ฝันอันเลือนราง และมีแนวโน้มว่าจะจบได้ยากมากขึ้น เมื่อได้ฟังความเห็นจากนักระบาดวิทยาชื่อดังขององค์การอนามัยโลกเมื่อไม่กี่วันมานี้


เกือบจะสองปีแล้วที่เราต้องทนทุกข์และเครียดกับการระบาดของโควิด-19 ทั้งที่มีการคาดการณ์ว่า สถานการณ์จะดีขึ้นเมื่อมีวัคซีน แต่กลับกลายเป็นว่า เมื่อมีวัคซีนให้ฉีดแล้ว หลาย ๆ ส่วนของโลก ได้เกิดการระบาดกลับมาใหม่ พร้อมกับสายพันธุ์ใหม่ ๆ ที่ติดเชื้อกันได้ง่ายกว่าเดิม การสร้างความหวังและกำลังใจว่าเดี๋ยวมันจะผ่านไปและจบลง นับวันยิ่งเป็นแค่ฝันอันเลือนราง และมีแนวโน้มว่าจะจบได้ยากมากขึ้น เมื่อได้ฟังความเห็นจากนักระบาดวิทยาชื่อดังขององค์การอนามัยโลกเมื่อไม่กี่วันมานี้

นายแพทย์ ลาร์รี่ บริลเลียนท์ นักระบาดวิทยาซึ่งเป็นหนึ่งในทีมองค์การอนามัยโลกที่เคยช่วยกำจัดโรคไข้ทรพิษ กล่าวว่า การระบาดจะไม่จบลงในเร็ว ๆ นี้ เนื่องจาก มีประชากรส่วนน้อยในโลกที่ได้ฉีดวัคซีน และระบุว่า สายพันธุ์เดลต้าอาจจะเป็นไวรัสที่ติดต่อได้มากสุดเท่าที่เคยมี

องค์การอนามัยโลกประกาศว่ามีการระบาดของโควิด-19 ทั่วโลกเมื่อเดือนมีนาคมของปีที่ผ่านมา หลังจากที่การระบาดที่เกิดขึ้นครั้งแรกในจีนเมื่อปลายปี 2562 ได้แพร่กระจายไปทั่วโลก

แต่ในช่วงไม่กี่เดือนมานี้ สหรัฐฯ อินเดีย จีน และประเทศอื่น ๆ ในยุโรป แอฟริกา และเอเชีย ได้พยายามจัดการกับการระบาดของสายพันธุ์ “เดลต้า” ที่สามารถแพร่เชื้อได้มากอย่างรวดเร็ว

ดร.บริลเลียนท์ กล่าวว่า มีข่าวดีที่วัคซีนคุมสายพันธุ์เดลต้าได้อยู่ โดยเฉพาะวัคซีนที่ใช้เทคโนโลยี mRNA และวัคซีนของจอห์นสัน แต่ข่าวร้ายคือ มีประชากรเพียง 15% ของโลกเท่านั้นที่ได้ฉีดวัคซีนแล้ว และมีมากกว่า 100 ประเทศที่ได้ฉีดวัคซีนไม่ถึง 5% ของประชากร

ตามความเห็นของ ดร.บริลเลียนท์ โลกกำลังใกล้ที่จะเริ่มต้นการระบาด มากกว่าใกล้ที่จะจบ และนั่นไม่ได้เป็นเพราะว่าสายพันธุ์ที่เรากำลังจับตามองในขณะนี้จะระบาดเป็นเวลานาน แต่เป็นเพราะว่า จะยังคงมีสายพันธุ์ใหม่ ๆ มาอีก หากไม่ฉีดวัคซีนให้กับทุกคนในกว่า 200 ประเทศ และคาดการณ์ว่า ในที่สุดแล้ว ไวรัสโคโรนาจะกลายเป็น “ไวรัสนิรันดร์กาล” เหมือนอย่างไข้หวัดใหญ่

แบบจำลองของ ดร.บริลเลียนท์เกี่ยวกับการระบาดของโควิดในซานฟรานซิสโก และนิวยอร์ก ทำนายถึง “กราฟการระบาดเป็นรูปตัววีกลับหัว” ซึ่งแสดงว่าการติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่ก็จะลดลงอย่างรวดเร็วเช่นกัน หากการคาดการณ์ของดร.บริลเลียนท์ถูกต้อง ก็หมายความว่า สายพันธุ์เดลต้าจะแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วจนไม่มีคู่แข่ง

มีแพทเทิร์นคล้ายกันในอังกฤษและอินเดีย ซึ่งการระบาดของสายพันธุ์เดลต้าได้ลดลงหลังจากที่ได้พุ่งสูงเมื่อเร็ว ๆ นี้ โดยจากข้อมูลของ Our World in Data ผู้ติดเชื้อต่อวันที่มีการรายงานในอังกฤษ เฉลี่ยในรอบ 7 วัน ได้ลดลงจากที่สูงสุดประมาณ 47,700 คน เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม เหลือประมาณ 26,000 คน ในวันที่ 5 กรกฎาคม ส่วนในอินเดีย ผู้ติดเชื้อต่อวันที่มีการรายงานในรอบ 7 วัน ต่ำกว่า 50,000 คน มาตั้งแต่ปลายเดือนมิถุนายน จากที่พุ่งสูงสุดมากกว่า 390,000 คน ในเดือนพฤษภาคม

นั่นหมายความว่า นี่เป็นปรากฏการณ์ในรอบหกเดือนในประเทศหนึ่ง มากกว่าที่จะเป็นปรากฏการณ์สองปี อย่างไรก็ดี ดร.บริลเลียนท์เตือนว่า นี่คือสายพันธุ์เดลต้า และยังมีตัวอักษรกรีกให้ตั้งชื่อสายพันธุ์ที่จะเกิดขึ้นอีก

ยังดีที่ ดร.บริลเลียนท์ กล่าวว่า มีความเป็นไปได้น้อยที่อาจจะเกิด “สายพันธุ์พิเศษ” ที่วัคซีนเอาไม่อยู่ แต่ในขณะที่มันเป็นเรื่องยากที่จะคาดการณ์ ก็มีความเป็นไปได้ที่ไม่สามารถปฏิเสธได้ และหากมันเกิดขึ้น จะเป็นหายนะที่เราจะต้องทำทุกอย่างเท่าที่เป็นไปได้ เพื่อป้องกันไม่ให้มันเกิดขึ้น

นั่นหมายถึงว่า ทุกคนต้องฉีดวัคซีน ไม่ใช่แค่เพื่อนบ้าน ไม่ใช่แค่คนในครอบครัว ไม่ใช่แค่คนในประเทศ แต่คนทั่วโลกต้องฉีดวัคซีน

บางประเทศที่มีอัตราการฉีดวัคซีนค่อนข้างสูง อย่างเช่น สหรัฐฯ และอิสราเอล กำลังวางแผนฉีดวัคซีนกระตุ้น ในขณะที่ประเทศอื่น ๆ เช่น เฮติ เพิ่งได้รับวัคซีนเข็มแรก องค์การอนามัยโลกได้เรียกร้องให้ประเทศร่ำรวย ระงับการฉีดวัคซีนกระตุ้น เพื่อให้โอกาสประเทศที่มีรายได้ต่ำ ได้ฉีดวัคซีนให้ประชาชนบ้าง

นอกเหนือจากการส่งเสริมให้ฉีดวัคซีนในประเทศที่มีอัตราการฉีดวัคซีนต่ำแล้ว ดร.บริลเลียนท์ แนะนำว่า กลุ่มคนหนึ่งที่ต้องฉีดวัคซีนกระตุ้น “ทันที”  คือผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป เนื่องจากหลังได้รับการฉีดวัคซีนครบ 6 เดือนแล้ว มีระบบภูมิคุ้มกันลดลง และพบว่า คนกลุ่มนี้ ได้สร้างการกลายพันธุ์หลายครั้งเมื่อไวรัสเข้าสู่ร่างกาย

ได้ฟังอย่างนี้ ก็พอสรุปได้ว่า ต้องฉีดวัคซีนเท่านั้นจึงจะระงับการระบาดได้ แต่การระบาดจะยุติลงได้อย่างไรในเมื่อมีวัคซีนให้ฉีดไม่เพียงพอ คงต้องทนทุกข์ และเครียดกันต่อไป การมองโลกสวย และหลอกตัวเองด้วยการเอา “ตัวเลขรักษาหาย” มาปลอบใจไปวัน ๆ ไม่น่าจะช่วยให้หนีพ้นจากความเป็นจริงที่เป็นอยู่ได้ว่า “ยอดผู้เสียชีวิต” ทำสถิติใหม่ทุกวัน

Back to top button