พาราสาวะถี

อะไรที่มันไม่เป็นธรรมชาติคนย่อมจับสังเกตได้ กรณี ผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจ ที่เพิ่งปลดสองขุนพลคู่ใจ “พี่ใหญ่แก๊ง 3 ป.” พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ


อะไรที่มันไม่เป็นธรรมชาติคนย่อมจับสังเกตได้ กรณี ผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจ ที่เพิ่งปลดสองขุนพลคู่ใจ “พี่ใหญ่แก๊ง 3 ป.” พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ พ้นจากความเป็นรัฐมนตรี วันวานมีการประชุมคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ ซึ่งพี่ใหญ่มาร่วมประชุมด้วย น้องเล็กก็กล่าวสวัสดีพี่ป้อม โดยพี่ใหญ่ที่นั่งอยู่ในห้องประชุมก่อนหน้าแล้วยกมือรับไหว้ ก่อนที่จะพูดคุยกันประมาณ 2-3 นาที เป็นที่น่าสังเกตว่าตลอดช่วงการพูดคุยท่านผู้นำพูดสลับหัวเราะเป็นระยะ ๆ ประมาณว่าไม่มีอะไรในกอไผ่

ไม่เพียงเท่านั้น น้องเล็กยังมีภาพการโอบกอดกับพี่ใหญ่เหมือนรักใคร่กันที่สุด และหลังจากจบการประชุมก็ได้เดินออกมาส่งพี่ใหญ่ขึ้นรถยนต์ บริเวณหน้าตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล ก่อนจะบอกกับนักข่าวว่าสบายใจทุกวัน พร้อมด้วยประโยคสำคัญ “เลิกสักทีเถอะ ฉันกับพลเอกประวิตร เลิกสักที” เมื่อนักข่าวหันไปถามพี่ใหญ่เข้าใจเหตุผลที่ท่านผู้นำปลด 2 รัฐมนตรีหรือยัง มีเพียงการส่ายหัวเป็นคำตอบพร้อมโบกมือ และหันหลังกลับทันที

ไม่ว่าสิ่งที่แสดงออกจะต้องการสื่อหรือสยบข่าวความไม่ลงรอยกันระหว่างพี่น้อง 3 ป. แต่ในมิติทางการเมืองที่ว่าด้วยเรื่องพรรคสืบทอดอำนาจและการทำงานทางการเมืองของผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจนั้น มันเด่นชัดเป็นอย่างยิ่งว่า ไม่ปล่อยให้พี่ใหญ่จัดการพรรคและดูแลงานการเมืองอย่างเต็มที่เหมือนที่เคยเป็น เห็นได้จากการส่ง อนุชา บูรพชัยศรี อดีตโฆษกรัฐบาลที่มีหัวโขนเป็นรองเลขาฯนายกฯฝ่ายการเมืองไปร่วมประชุมกับวิปรัฐบาล

คนที่เป็นตัวแทนผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจก็ยืนยันว่า การมาร่วมประชุมเช่นนี้เพื่อที่จะเก็บรายละเอียดเรื่องต่าง ๆ หรือปัญหาที่ส.ส.เสนอไปเรียนท่านผู้นำ ไม่ว่าจะเป็นข้อสังเกต ข้อกังวล หรือประเด็นที่จะนำเข้าที่ประชุมสภาทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับงานด้านนิติบัญญัติของส.ส. ทั้งที่ก่อนหน้าจะเกิดกรณี ธรรมนัส พรหมเผ่า ดับเครื่องชนจนเป็นเหตุให้ถูกปลดนั้น งานด้านนี้น้องเล็กยกให้พี่ใหญ่ดูแลเองทั้งหมด หากยังไว้วางใจกันอยู่ก็ไม่ควรที่จะทำเช่นนี้

ยังมีประเด็นที่ทำให้เห็นว่าการรุกคืบทางการเมืองของผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจเพื่อที่ตัวเองจะไม่ได้ถูกหักหลังเหมือนอย่างที่ระบุไว้ก่อนลงมติซักฟอกนั้น คือการถูกมองว่าจะเข้ามาเป็นหัวหน้าพรรคสืบทอดอำนาจด้วยตัวเอง ซึ่งกรณีนี้มองได้สองมุมคือ เพื่อทำให้พี่ใหญ่เชื่อใจและมั่นใจว่าไม่ได้คิดที่จะไปแยกตัวตั้งพรรคตามข่าวที่ปรากฏว่าไปจับมือกับพี่รองเพื่อแยกตัวไปจากพรรคสืบทอดอำนาจ หลังการเกษียณอายุราชการของ ฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย

ข่าวนี้เป็นที่รับรู้กันในวงกว้างมายาวนานแล้ว ขณะที่ประเด็นต่อมาการเข้ามากุมบังเหียนในพรรคสืบทอดอำนาจ ก็เท่ากับการรุกไล่ให้คนทรยศไม่มีที่ยืน แต่กรณีนี้ต้องได้รับไฟเขียวหรือความยินยอมจากพี่ใหญ่ก่อน โดยที่มาถึงตรงนี้แม้จะมีการปลดธรรมนัส และนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ พ้นจากความเป็นรัฐมนตรี แต่ทั้งคู่ยังได้รับความไว้วางใจให้ทำหน้าที่ในพรรคต่อไป ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องง่ายหากผู้นำเผด็จการต้องการที่จะเอาคืนแบบทบต้นทบดอก

เว้นเสียแต่ว่าคนใจนักเลงอย่างธรรมนัสจะไม่อยากอยู่ต่อ ขอไปตายเอาดาบหน้านั่นก็อีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งความวุ่นวายในลักษณะเช่นนี้ มันจะตามมาด้วยการอยู่ไม่ครบเทอมของรัฐบาล และทันทีทันใดเมื่อปรากฎข่าวว่าผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจ เตรียมที่จะลงพื้นที่ตรวจราชการบ่อยครั้งขึ้นหลังจากนี้ ก็ถูกโยงว่าเป็นการเตรียมความพร้อมวัดเรตติ้งทางการเมือง ก่อนนำมาประกอบการตัดสินใจยุบสภาเพื่อให้มีการเลือกตั้งใหม่ภายใต้กติกาเดิม

ประเด็นนี้ก็น่าสนใจและถือเป็นสิ่งที่พันกันกับเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หลังจากที่ประชุมรัฐสภามีมติผ่านร่างแก้ไขในวาระ 3 ทำให้ระบบเลือกตั้งภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขต้องเปลี่ยนไปใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ คำถามที่ตามมาคือ หากสถานการณ์ทางการเมืองดำเนินไปในลักษณะนี้ พรรคสืบทอดอำนาจจะถือว่าอยู่ในจุดที่ได้เปรียบเช่นนั้นหรือ มันน่าจะเป็นไปในทางตรงข้ามมากกว่า ดังนั้น เพื่อไม่ให้ตัวเองเสียเปรียบการยุบสภาจึงน่าจะเป็นทางออกของปัญหานี้

แต่คำถามที่ตามมาคือ หลังการยุบสภาไม่ใช่ว่าจะเลือกตั้งได้ทันทีอย่างน้อยต้องภายใน 45-60 วัน ระหว่างนั้นหากรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขมีผลบังคับใช้จะทำอย่างไร การเลือกตั้งก็ต้องว่ากันไปตามระบบบัตรสองใบ กรณีนี้อาจไม่เป็นเช่นนั้น เหมือนที่มีหลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตไว้ก่อนหน้า การแก้ไขรัฐธรรมนูญรอบนี้ไม่ใช่แค่ว่าแก้ระบบเลือกตั้งแล้วใช้ได้ทันที เพราะยังมีกฎหมายลูกประกอบที่จะต้องสอดคล้องกันกับระบบเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นด้วย

ประเด็นนี้ สมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตกกต.เคยดักคอไว้ก่อนแล้ว ล่าสุด วิษณุ เครืองาม เนติบริกรของรัฐบาลสืบทอดอำนาจก็ให้ความเห็นไว้เช่นกัน ถ้ากฎหมายลูกเกี่ยวกับการเลือกตั้งยังแก้ไขไม่เสร็จสิ้น ยอมรับว่าจะเป็นปัญหา เพราะแต่เดิมร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้จะให้กกต.เป็นผู้กำหนด แต่คณะกรรมาธิการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ได้ตัดประเด็นดังกล่าวออกไป ส่วนกฎหมายลูกเกี่ยวกับการเลือกตั้งจะใช้เวลาพิจารณาเท่าไหร่ก็ตอบไม่ถูกก็ต้องทำตามขั้นตอน

ดังนั้น ข้อสังเกตที่ว่าแก้รัฐธรรมนูญแบบนี้ไม่ได้จบง่าย ๆ อย่างที่คิดนั้นจึงเป็นเรื่องจริง เพราะวิษณุเองก็ยอมรับว่ากฎหมายลูกยังไม่เสร็จก็จะยุ่งมาก อย่างไรก็ตาม สไตล์เนติบริกรยืนยันว่า จะแก้ปัญหาให้ได้ก็แล้วกัน มีทางออกแต่ตอบไม่ถูกเพราะกกต.ต้องเป็นคนบอก ก่อนที่จะบอกใบ้ด้วยว่า มีการแอบคิดทางออกไว้หลายออปชั่น สุดท้ายแล้วหากเกิดปัญหาก็มีทางออกแต่ก็เสี่ยงหน่อย ที่ว่าเสี่ยงคือเสี่ยงต่อการคัดค้านจากภาคส่วนต่าง ๆ ที่คิดไม่เหมือนกัน ซึ่งประเด็นเสียงต้านนั้นสำหรับเผด็จการสืบทอดอำนาจไม่เคยแยแสอยู่แล้ว

Back to top button