‘อินเดีย’ ขุมทรัพย์ใหม่ทุนไทย

รัฐบาลอินเดีย นเรนทร โมดี นายกรัฐมนตรีหัวก้าวหน้า เปิดตัวแคมเปญ Make in India ที่มีเป้าหมายเพื่อพัฒนาอินเดียให้เป็นศูนย์กลางการผลิตของโลก


รัฐบาลอินเดีย นเรนทร โมดี นายกรัฐมนตรีหัวก้าวหน้า เปิดตัวแคมเปญ Make in India ที่มีเป้าหมายเพื่อพัฒนาอินเดียให้เป็นศูนย์กลางการผลิตของโลก

ช่วงปลายปี 2557 ที่ผ่านมา รัฐบาลอินเดีย โดยนเรนทร โมดี นายกรัฐมนตรีหัวก้าวหน้าและนักคิดนอกกรอบ เปิดตัวแคมเปญ Make in India ที่มีเป้าหมายเพื่อพัฒนาอินเดียให้เป็นศูนย์กลางการผลิตของโลก (Manufacturing Hub) โดย Make in India มีเป้าหมายดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างชาติ (FDI)

โดยแนวคิดหลัก คือ การเปลี่ยนแปลงภาพลักษณ์และทัศนคติระบบราชการอินเดีย จากเดิมยึดระบบ License Raj คือข้าราชการใช้อำนาจให้อนุญาตหรือไม่อนุญาตให้เอกชนทำธุรกิจได้เต็มที่ ทำให้การทำธุรกิจในอินเดีย มีขั้นตอนที่ยุ่งยากซับซ้อน จึงต้องสร้างภาพลักษณ์ความเป็นหุ้นส่วนกับภาคเอกชนในการเข้าไปลงทุนทำธุรกิจในอินเดีย

เน้นบทบาทให้การสนับสนุนมากกว่าเป็นผู้อนุญาต ด้วยการลดขั้นตอนระบบราชการ (red tape) และเปลี่ยน เป็นการปูพรมแดง (red carpet) ต้อนรับเอกชน เพื่อการสร้างบรรยากาศที่เอื้อต่อการทำธุรกิจ และมีการจัดตั้งหน่วยพิเศษ (special cell)  เพื่อให้คำแนะนำและคำปรึกษาแก่เอกชนต่างชาติที่ต้องการลงทุนในอินเดีย อีกทางหนึ่งด้วย

ปรากฏว่าปี 2563 ที่ผ่านมา อินเดียสามารถดึงดูด FDI ไหลเข้าประเทศสูงเป็นอันดับ 5 ของโลก โดยเฉพาะธุรกิจบริการที่เกาะเทรนด์ดิจิทัลอีคอมเมิร์ซและไอซีที การผลิตสินค้าเทคโนโลยี อย่างสมาร์ตโฟน อุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า/อิเล็กทรอนิกส์ และยานยนต์ไฟฟ้า จนพลิกโฉมโครงสร้างการผลิตอินเดีย ให้เข้าเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่การผลิตของโลก

จากผลพวงดังกล่าว การประเมินจากศูนย์วิจัยกสิกรไทยว่า “ระยะสั้นการส่งออกไทยไปอินเดียปี 2564 ขยายตัวประมาณ 40% ด้วยมูลค่า 7,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ และระยะกลาง-ยาว หาก FDI เข้าสู่อินเดียต่อเนื่อง จนอินเดียสามารถผลิตและส่งออกสินค้าเทคโนโลยีได้อย่างมีนัยสำคัญ จะเปิดโอกาสให้ไทยเป็นผู้สนับสนุนสินค้าขั้นกลางให้แก่ประเทศแถบเอเชียใต้ได้อย่างน่าสนใจ โดยเฉพาะชิ้นส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ และส่วนประกอบยานยนต์”

อีกนัยสำคัญคือนโยบายด้านพลังงาน ตามแผนพัฒนาพลังงาน ที่มีเป้าหมายเพิ่มกำลังผลิตจากพลังงานหมุนเวียน 225,000 เมกะวัตต์ ภายในปี 2565 (โดยเป็นพลังงานแสงอาทิตย์ 100,000 เมกะวัตต์) ถือเป็นส่วนหนึ่งของเป้าหมาย “พลังงานสะอาด” ที่จะมีกำลังผลิตติดตั้งจากพลังงานหมุนเวียน 57% ภายในปี 2570 (มากกว่าเป้าหมาย 40% ภายในปี 2573) ที่อินเดียได้ให้สัตยาบันไว้ในข้อตกลงปารีส (COP21) พร้อมมุ่งพัฒนารถไฟฟ้าและแบตเตอรี่สำรอง เพื่อช่วยลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ และลดปัญหามลภาวะที่กำลังเกิดขึ้นในเมืองใหญ่หลายเมือง

นั่นจึงเป็นการเปิดทางให้บริษัทไทยอย่างบริษัท โกลบอลเพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC เข้าร่วมทุนกับ Avaada Energy Private Limited (Avaada) หนึ่งในบริษัทพลังงานหมุนเวียนชั้นนำของอินเดีย ด้วยการเข้าลงทุนถือหุ้นโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ สัดส่วน 41.6% จากกำลังผลิตไฟฟ้าทั้งสิ้นประมาณ 3,744 เมกะวัตต์ เพื่อขยายพอร์ตพลังงานหมุนเวียน ตามเป้าหมายพลังงานหมุนเวียน 8,000 เมกะวัตต์ ในปี 2573

ปัจจุบัน Avaada มีกำลังการผลิตไฟฟ้ารวมทั้งสิ้น 3,744 เมกะวัตต์ และมีเป้าหมายการเติบโตถึง 11,000 เมกะวัตต์ ภายในปี 2568 โดย GPSC สามารถรับรู้ผลการดำเนินงานจากการลงทุนดังกล่าวได้ทันที นี่ยังไม่รวมโอกาสในธุรกิจแบตเตอรี่สำรองของ GPSC ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอีกด้วย

จึงเท่ากับว่า “อินเดีย” กำลังเป็นแหล่งขุมทรัพย์ใหม่ ของนักลงทุน, กลุ่มทุนและผู้ประกอบการส่งออกของไทย แต่ขึ้นอยู่กับว่า ใครจะเห็นและคว้าโอกาสได้มากน้อยแค่ไหนเท่านั้นเอง.!!

Back to top button