ดราม่าราคาน้ำมัน (อีกแล้ว)

ปรากฏการณ์ราคาน้ำมันดิบทำสถิติสูงสุดรอบ 7 ปีโดยเฉพาะราคาน้ำมันดิบดูไบ ที่ประเทศไทยใช้เป็นราคาอ้างอิงหลักของไทยมีการปรับตัวขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง


ปรากฏการณ์ราคาน้ำมันดิบทำสถิติสูงสุดรอบ 7 ปีโดยเฉพาะราคาน้ำมันดิบดูไบ (Dubai Crude Oil) ที่ประเทศไทยใช้เป็นราคาอ้างอิงหลักของไทยมีการปรับตัวขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดเฉลี่ยเหนือระดับ 78 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล และมีการประเมินกันว่าน้ำมันดิบดูไบปีนี้ มีโอกาสขึ้นยืนเหนือระดับ 80-85 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล

จนเป็นเหตุทำให้ราคาขายปลีกน้ำมันของไทย จำเป็นต้องปรับขึ้นตามเช่นกัน ตัวเลขช่วงเดือนก.ย. 64 ที่ผ่านมา พบ ว่ามีการปรับขึ้นราคาขายปลีกน้ำมันถึง 7 ครั้ง นั่นเป็นเหตุราคาน้ำมันทั้งแก๊สโซฮอล์ 95, แก๊สโซฮอล์ 91 และไบโอดีเซล B7 ราคาทะลุเกิน 30 บาทต่อลิตร

ทำให้วันที่ 4 ต.ค. 64 ที่ผ่านมา การประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ที่มีนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเป็นประธาน จึงมีมติ 1)ปรับลดสัดส่วนไบโอดีเซลในน้ำมันดีเซล B10 และ B7 เหลือสัดส่วนเดียว คือ B6 (หรือเหลือ 6%) เป็นการชั่วคราว (วันที่ 11-31 ต.ค. 64)

เพื่อลดภาระการอุดหนุนน้ำมัน B100 ปัจจุบันมีราคาสูงอยู่ที่ 40 บาทต่อลิตร (ทำให้วันที่ 11-31 ต.ค. 64 เหลือน้ำมันดีเซล 2 เกรดคือ ดีเซล B6 และ B20)

2)ปรับลดการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง จากปัจจุบันที่มีการเก็บเงินจาก B7 อยู่ที่ 1 บาท ให้ลดลงเหลือ 1 สตางค์ มีผลแล้วตั้งแต่ 5 ต.ค. 64 ที่ผ่านมา 3)ปรับลคค่าการตลาดดีเซลธรรมดา จากเฉลี่ยอยู่ที่ 1.80 บาทต่อลิตร ลดลงเหลือ 1.40 บาทต่อลิตร รวมทั้งใช้เงินจากกองทุนน้ำมันเข้ามาอุดหนุนประมาณ 2.08 บาทต่อลิตร เพื่อตรึงราคาดีเซลให้อยู่ที่ระดับ 28.29 บาทต่อลิตร (ประมาณ 3,000 ล้านบาท)

ปัญหาคือ “กองทุนน้ำมัน” จะอุดหนุนได้นานแค่ไหน..! เนื่องจากสถานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ณ สิ้นสุด 3 ต.ค. 64 ที่ผ่านมา มียอดสุทธิเหลือเพียง 10,970 ล้านบาท จากเคยมียอดสุทธิ 27,082 ล้านบาท เมื่อช่วงต้นปี (3 ม.ค. 64) ที่ผ่านมา

อีกทางเลือก ที่จะกดตัวเลขราคาขายปลีกน้ำมันดีเซล B7 ให้ลดต่ำกว่า 30 บาทต่อลิตร เห็นจะเป็นเรื่องการปรับลด “ภาษีสรรพสามิตน้ำมัน” ที่ปัจจุบันจัดเก็บเฉลี่ยอยู่ที่ลิตรละ 6 บาท แต่ด้วยสถานการณ์ “คลังกระเป๋าแบน” แบบนี้ เห็นทีว่ากระทรวงการคลัง..คงไม่ยอมเป็นแน่..!??

เพราะนั่นหมายถึงการ “ทุบหม้อข้าวตัวเอง” กันเลยทีเดียว…!!!!

ดูจากตัวเลขการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตช่วง 11 เดือนแรกของปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 (ต.ค. 63-ส.ค. 64)พบว่ามีการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตรวมอยู่ที่ 527,139 ล้านบาท แต่ปรากฏว่าเป็นภาษีสรรพสามิตน้ำมัน 206,798 ล้านบาท นั่นจึงเท่ากับว่ากรมสรรพสามิต..มีการพึ่งพิง “ภาษีสรรพสามิตน้ำมัน” เป็นหลักเลยทีเดียว..

ดังนั้นทางเลือกนี้..เป็นไปได้เพียงแค่ทฤษฎีเท่านั้น โอกาสที่กระทรวงการคลัง ในฐานะกำกับดูแลกรมสรรพสามิต จะปรับภาษีสรรพสามิตน้ำมันแทบไม่มีทางเป็นไปได้เลย..

จึงน่าเป็นห่วงว่า..หากราคาน้ำมันดิบดูไบปรับขึ้นอีกอาจได้เห็น “กองทุนน้ำมันติดลบ” อีกครั้ง..เหมือนดั่งที่เคยเกิด ขึ้นมาแล้วช่วงปี 2557 และเมื่อถึงจุดนั้น..เชื่อได้เลยว่าจะเกิด “ดราม่าราคาน้ำมัน” ตามมอย่างแน่นอน..!!

X
Back to top button