หุ้นรับอานิสงส์กินเจ

แม้แนวโน้มเทศกาลกินเจปีนี้จะไม่คึกคักเท่าที่ควรด้วยแรงกดดันที่เข้ามา แต่คาดว่ายังมีหลายบริษัทในตลาดหลักทรัพย์จะยังได้รับประโยชน์


เส้นทางนักลงทุน

เทศกาลกินเจประจำปี 2564 ตามปฏิทินจีน ตรงกับวันที่ 6–14 ตุลาคม รวมเป็นเวลาทั้งหมด 9 วัน ซึ่งบางท่านอาจจะล้างท้องเริ่มวันที่ 5 ตุลาคมก่อนวันกินจริง เพื่อให้ร่างกายปรับสภาพ และทำความคุ้นเคยกับการกินเจได้ดียิ่งขึ้น

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าเทศกาลกินเจปี 2564 คนกรุงเทพฯ จะมีเม็ดเงินค่าใช้จ่ายตลอดช่วงเทศกาลอยู่ราว 3,600 ล้านบาท หดตัว 8.2% เมื่อเทียบกับเทศกาลกินเจปี 2563 ซึ่งนอกจากปัจจัยแวดล้อมต่าง ๆ แล้ว ยังเป็นผลจากจำนวนคนที่กินเจลดลง อีกทั้งยังปรับลดจำนวนวันในการกินเจลงเมื่อเทียบกับปีก่อน โดยเฉพาะกลุ่มพนักงานออฟฟิศที่บางส่วนยังคง Work From Home จึงไม่เอื้อต่อการจับจ่ายในช่องทางการกินเจที่คุ้นเคย อย่างร้านอาหารข้างทางบริเวณที่ทำงาน

ขณะที่ช่องทางร้านสะดวกซื้อและเดลิเวอรี่/ออนไลน์มีแนวโน้มที่คนจะหันมาใช้บริการมากขึ้น เพราะตอบโจทย์ในเรื่องของความหลากหลายของสินค้า และบริการจัดส่งที่สะดวกขึ้น

ส่วนในระยะข้างหน้า ตลาดอาหารวีแกนน่าจะเติบโตขึ้น ไม่เฉพาะแต่ในช่วงเทศกาลกินเจเท่านั้น แต่จากพฤติกรรมของคนไทยที่หันมาเลือกบริโภคอาหารที่ดีต่อสุขภาพ รวมถึงกระแสรักษ์สิ่งแวดล้อม อย่างไรก็ดี การจะเพิ่มอัตราการบริโภคและยอดขายได้มากหรือน้อยนั้นคงขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยที่ผู้บริโภคจะให้น้ำหนัก ไม่ว่าจะเป็นราคา รสชาติ ความหลากหลายของสินค้า ช่องทางการจัดจำหน่าย เป็นต้น

ส่วนทางนายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า จากการสำรวจพฤติกรรมการใช้จ่ายในช่วงเทศกาลกินเจ พบว่าเทศกาลกินเจปีนี้ไม่คึกคัก ปริมาณการใช้จ่ายลดลงกว่าปีก่อน ประชาชนซื้ออาหารเจน้อยลง ทำให้ยอดใช้จ่ายกินเจปีนี้  ติดลบครั้งแรกในรอบ 14 ปี นับจากสำรวจปี 2551 โดยมีเม็ดเงินสะพัด 40,000 ล้านบาท เฉลี่ยค่าใช้จ่ายต่อคนอยู่ที่ 3,330 บาท  และติดลบถึง 14.5%

ขณะที่หากเทียบกับปีก่อนที่มีเงินสะพัด 46,900 ล้านบาท  ปัจจัยกดดันมาจาก 3 ปัจจัยหลัก คือเศรษฐกิจไม่ดี กลัวเรื่องโควิด-19 ระบาด และวิตกสถานการณ์น้ำท่วมจะสร้างความเสียหายต่อบ้านเรือนและการเกษตร จนกระทบต่อราคาอาหารแพงขึ้น

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าทางศูนย์วิจัยกสิกรไทยและทางหอการค้าไทยจะประเมินว่า ในปีนี้เทศกาลกินเจจะไม่คึกคักเท่าที่ควรด้วยมีแรงกดดันเข้ามา แต่คาดว่ายังคงมีหลายบริษัทในตลาดหลักทรัพย์จะยังได้รับประโยชน์ในช่วงเทศกาลกินเจพอสมควรอาจจะไม่มากเช่นช่วงปีที่ผ่านมาก็ตาม

สำหรับหลักทรัพย์คาดว่าจะได้รับประโยชน์เช่น TVO, LST, KASET, TMILL, MALEE, TIPCO, CPALL, MAKRO, RBF และ NRF เป็นต้น

บริษัท น้ำมันพืชไทย จำกัด (มหาชน) หรือ TVO ซึ่งเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายน้ำมันถั่วเหลือง ตราองุ่น และวัตถุดิบอาหารสัตว์ ได้แก่ กากถั่วเหลือง, ดีฮัล ซอยมีล, ฟูลแฟตซอย, ดีฮัล ฟูลแฟตซอย รวมทั้ง เลซิติน ซอยฮัล น้ำมันข้าวโพด น้ำมันทานตะวัน น้ำมันคาโนลา และน้ำมันมะกอก

บริษัท ล่ำสูง (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ LST  ซึ่งเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายน้ำมันปาล์ม น้ำมันพืช ไขมันพืชผสม และเนยเทียม ผักและผลไม้แช่แข็งหรือบรรจุกระป๋อง น้ำผลไม้ กาแฟ เครื่องดื่มต่าง ๆ และซอสปรุงรส

บริษัท ไทยฮา จำกัด (มหาชน) หรือ KASET  ซึ่งเป็นผู้ผลิตสินค้าทางการเกษตร และเกษตรแปรรูป เช่น ข้าว วุ้นเส้น โจ๊กกึ่งสำเร็จรูป และวุ้นเส้นกึ่งสำเร็จรูป เพื่อจำหน่ายทั้งในประเทศและส่งออก

บริษัท ที เอส ฟลาวมิลล์ จำกัด (มหาชน) หรือ TMILL ซึ่งเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายแป้งสาลี ได้แก่ แป้งบะหมี่สด แป้งขนมปัง แป้งบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป แป้งบิสกิต แป้งอเนกประสงค์ แป้งอาหารสัตว์ เป็นต้น ภายใต้ตราสินค้าของบริษัทเอง โดยเป็นการ spin off มาจาก TSTE

บริษัท มาลีกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ MALEE ซึ่งเป็นผู้ผลิตและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม

บริษัท ทิปโก้ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) หรือ TIPCO ซึ่งเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายน้ำแร่ธรรมชาติพร้อมดื่ม ภายใต้เครื่องหมายการค้าหลัก ออรา

บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) หรือ CPALL ซึ่งเป็นผู้ดำเนินธุรกิจร้านสะดวกซื้อภายใต้เครื่องหมายการค้า   7-Eleven และให้สิทธิแก่ผู้ค้าปลีกรายอื่นในการดำเนินธุรกิจในประเทศไทย และลงทุนในธุรกิจสนับสนุนธุรกิจร้านค้าสะดวกซื้อ อาทิ ผลิตและจำหน่ายอาหารสำเร็จรูปและเบเกอรี่ ตัวแทนรับชำระเงินค่าสินค้าและบริการ รวมถึงการลงทุนในธุรกิจศูนย์จำหน่ายสินค้าแบบชำระเงินสดและบริการตนเองภายใต้ชื่อ “แม็คโคร”

บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) หรือ MAKRO ซึ่งเป็นผู้ประกอบธุรกิจศูนย์จำหน่ายสินค้าแบบชำระเงินสด และบริการตนเอง ภายใต้ชื่อ “แม็คโคร” ในการจัดจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคให้แก่ลูกค้าทั่วประเทศ โดยมีกลุ่มลูกค้าเป้าหมายเป็นผู้ประกอบการธุรกิจขนาดเล็กถึงขนาดกลาง ได้แก่ กลุ่มร้านค้าปลีกรายย่อย กลุ่มโฮเรก้า กลุ่มสถาบันต่าง ๆ และกลุ่มผู้ประกอบอาชีพอิสระ รวมถึงผู้ประกอบธุรกิจบริการ

บริษัท อาร์ แอนด์ บี ฟู้ด ซัพพลาย จำกัด (มหาชน) หรือ RBF  ซึ่งเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายวัตถุที่ใช้เป็นส่วนผสมในอาหาร (Food Ingredients) ตามคำสั่งซื้อของลูกค้า และ ภายใต้ตราสินค้าของบริษัท เช่น อังเคิลบาร์นส์, เบสท์ โอเดอร์ และ super-find เป็นต้น

บริษัท เอ็นอาร์ อินสแตนท์ โปรดิวซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ NRF  ซึ่งเป็นผู้ผลิตจัดหาและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ปรุงรสอาหาร อาหารสำเร็จรูป เครื่องปรุงสำหรับประกอบอาหาร อาหารมังสวิรัติที่ไม่มีส่วนผสมของไข่และนม อาหารโปรตีนจากพืช และเครื่องดื่มสำเร็จรูปชนิดผงและน้ำ

ทั้งนี้หุ้นข้างต้นจะเป็นหุ้นส่วนหนึ่งที่จะได้รับอานิสงส์ทางตรงและทางอ้อมจากในช่วงเทศกาลกินเจ!!!

Back to top button