‘ล้านช้าง’ ปฐมบทรถไฟลาว-จีน

รถไฟรับส่งผู้โดยสารลาว-จีนขบวนแรกที่ชื่อว่า “ล้านช้าง” เปิดเดินขบวนรถไฟลาว-จีนครั้งประวัติศาสตร์ตรงกับ “วันชาติลาว” นั่นเอง.!!


ทำพิธีส่งมอบอย่างเป็นทางการ เมื่อเช้าวันเสาร์ที่ 16 ต.ค. 64 ที่ผ่านมากับรถไฟรับส่งผู้โดยสารลาว-จีนขบวนแรกที่ชื่อว่า “ล้านช้าง” เพื่อเตรียมความพร้อมในการเปิดเดินขบวนรถไฟลาว-จีนครั้งประวัติศาสตร์ เที่ยวปฐมฤกษ์วันที่ 2 ธ.ค. 64 ที่ตรงกับ “วันชาติลาว” นั่นเอง.!!

โดยรถไฟขบวนที่ชื่อล้านช้าง เป็นรถไฟความเร็วปานกลาง Fuxing EMU รุ่น CR200J ที่ร่วมผลิตโดยบริษัทหุ้นส่วนรถไฟซึ่งฝ่ายชิงเต่าและบริษัทรถไฟต้าเหลียน ภายใต้บริษัทรถไฟแห่งชาติจีน มีความสามารถทำความเร็วตั้งแต่ 160-210 กิโลเมตรต่อชั่วโมง โดยทั้งขบวนมี 9 ตู้ รองรับผู้โดยสารรวม 720 ที่นั่ง

เริ่มตั้งแต่หัวรถจักร 1 ตู้ ส่วนตู้โดยสารชั้น 1 รองรับผู้โดยสารได้ 56 ที่นั่ง ต่อด้วยตู้เสบียง 1 ตู้ ที่เหลืออีก 6 ตู้ เป็นตู้โดยสารชั้น 2 รองรับผู้โดยสารได้ 662 ที่นั่ง และมีที่นั่งพิเศษสำหรับคนพิการ 2 ที่นั่ง เฉพาะตู้โดยสารกว้าง 3.10 เมตร สูง 4.43 เมตร ส่วนภายนอกเป็น “สีแดง-ฟ้า-ขาว” เป็นสัญลักษณ์สีธงชาติของลาว (“สีแดง” หมายถึง เลือดเนื้อนักรบปฏิวัติลาว “สีฟ้า” หมายถึงความอุดมสมบูรณ์ด้านทรัพยากรธรรมชาติ และ “สีขาว” หมายถึงความสามัคคีของคนลาว)

ทั้งนี้บริษัททางรถไฟลาว-จีน มีการลงนามสั่งซื้อรถไฟ Fuxing EMU รุ่น CR200J มาให้บริการรับ-ส่งผู้โดยสาร รวม 2 ขบวน นั่นคือขบวนที่ชื่อว่า “ล้านช้าง” และขบวนที่ชื่อว่า “แคนลาว” (อยู่ระหว่างเดินทางมาจากประเทศจีน) และยังมีรถไฟขนส่งสินค้าใช้หัวรถจักรรุ่น HXD3c (Harmony Power 3c) สามารถทำความความเร็ว 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ที่เคลื่อนผ่านอุโมงค์มิตรภาพจากจีนเข้าสู่สปป.ลาวเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

สำหรับเส้นทางรถไฟลาว-จีน มีความยาวประมาณ 1,000 กิโลเมตรจากนครคุนหมิง (เมืองเอกมณฑลยูนนาน) ถึงนครหลวงเวียงจันทน์ (เมืองหลวงของลาว) แบ่งเป็น 2 ช่วงคือช่วงแรก “คุนหมิง-บ่อหาน” (เขตประเทศจีน) ระยะทางประมาณกว่า 500 กิโลเมตร (จีนวางเครือข่ายรางรถไฟจากเมืองคุนหมิง ผ่านเมืองผูเอ่อร์ เชียงรุ่ง (สิบสองปันนา) ลงมาถึงชายแดนจีน-ลาว ที่เมืองบ่อหาน (ตรงข้ามบ่อเต็นของสปป.ลาว)  ช่วงที่สอง “บ่อเต็น-เวียงจันทน์” ในเขตสปป.ลาว ความยาวประมาณ 422.4 กิโลเมตร (รวมทั้งสิ้น 32 สถานี)

โครงการรถไฟลาว-จีน มูลค่าประมณ 5,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นเงินกู้จากธนาคารส่งออกนำเข้าของจีน 3,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยฝ่ายจีน รับภาระหนี้สินประมาณ 2,480 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และสปป.ลาว รับภาระหนี้สินประมาณ 1,060 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่วนที่เหลือ 2,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทางสปป.ลาว มีภาระใส่เงินผ่านบริษัทร่วมทุน 730 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และจีนประมาณ 1,630 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยโครงการดังกล่าวอยู่ภายใต้ยุทธศาสตร์ One Belt One Road ของจีน ที่มีกำหนดเปิดบริการภายในปี 2565

โดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประเมินว่า รถไฟจีน-ลาว จะช่วยส่งเสริมทางการค้า การท่องเที่ยวและการลงทุน ลดต้นทุนการขนส่งสินค้า ทั้งค่าโดยสารและระยะเวลาจากนครคุนหมิง มณฑลยูนนาน จนมาถึงจังหวัดหนองคาย ใช้เวลาไม่เกิน 15 ชั่วโมง ถือว่าเร็วกว่าทางถนนจากนครคุนหมิงถึงจังหวัดเชียงราย ที่ใช้เวลามากถึง 2 วัน นั่นหมายถึงมีต้นทุนถูกต่ำกว่าการขนส่งทางถนนถึง 2 เท่า

นั่นหมายถึงผู้ประกอบการไทย ต้องเผชิญการแข่งขันกับสินค้านาเข้าจากจีนมากขึ้น ที่สำคัญจีนจะเข้ามาประกอบธุรกิจในไทยและสปป.ลาวเพิ่มขึ้น พร้อมกันนี้ “สินค้าจีน” จะเข้ามาแข่งขันกับสินค้าไทยในตลาดสปป.ลาว มากขึ้น

อย่างไรก็ดี..ถือเป็นนำมาซึ่งโอกาสของผู้ประกอบการไทยเช่นกัน “ด้านการค้า” ไทยจะส่งออกสินค้าไปสปป.ลาวและจีนเพิ่มขึ้น ด้วยสินค้าไทยมีคุณภาพสูงและจีนมีกำลังซื้อสูงมาก “ด้านการบริการและท่องเที่ยว” นักท่องเที่ยวจีนและสปป.ลาว จะมาเที่ยวไทยสะดวกยิ่งขึ้น จึงช่วยสนับสนุนธุรกิจบริการกลุ่มต่างๆมากขึ้น “ด้านการลงทุนต่างประเทศ” ธุรกิจไทยสามารถลงทุนและขยายธุรกิจผลิตสินค้าที่มีคุณภาพสูงในสปป.ลาว เพื่อขยายฐานการค้าในลาวและส่งออกสู่จีนตอนใต้มากขึ้น

ว่าแต่ว่า..มาจนถึงขณะนี้เราพร้อมรับมือกับยุทธศาสตร์ One Belt One Road แล้วหรือยังเท่านั้นเอง..!?

Back to top button