จีนทลายกำแพง ‘ผูกขาดทางการค้า’

สำนักบริหารการกำกับดูแลตลาดแห่งรัฐของจีน มีการออกแถลงการณ์ลงโทษปรับเงิน “เหม่ยถวน” ยักษ์ใหญ่ธุรกิจจัดส่งอาหารเป็นเงิน 3,442 ล้านหยวน


ต้นเดือนต.ค.ที่ผ่านมา สำนักบริหารการกำกับดูแลตลาดแห่งรัฐของจีน (SAMR) มีการออกแถลงการณ์ลงโทษปรับเงิน “เหม่ยถวน (Meituan)” ยักษ์ใหญ่ธุรกิจจัดส่งอาหารเป็นเงิน 3,442 ล้านหยวน (ประมาณ 18,000 ล้านบาท) ฐานใช้อำนาจเหนือตลาดของประเทศโดยมิชอบ ด้วยการ “บีบบังคับบรรดาผู้จัดจำหน่ายอาหาร” เพื่อให้ลงนามข้อตกลงความร่วมมือ ที่มีลักษณะผูกขาด และเรียกเก็บเงินมัดจำจากผู้จำหน่ายอาหาร พร้อมกับมีการใช้นโยบาย “เลือกหนึ่งจากสอง” เพื่อกีดกันคู่แข่งและจำกัดการแข่งขันในตลาด

โดย SAMR มองว่าการกระทำดังกล่าว ถือเป็นอันตรายต่อผลประโยชน์ของผู้ค้าและผู้บริโภค พร้อมสั่งให้ “เหม่ยถวน” คืนเงินมัดจำกว่า 1,000 ล้านหยวน (ประมาณ 6,000 ล้านบาท) คืนแก่ผู้จำหน่ายอาหารและแก้ไขข้อผิดพลาด รวมถึงการปกป้องสิทธิและผลประโยชน์ของพนักงานส่งอาหารด้วย..

การปรับเงินจำนวนดังกล่าว คิดเป็น 3% ของรายได้ภายในประเทศของ “เหม่ยถวน” ช่วงปี 2563 ที่ทำได้ 114,000 ล้านหยวน (ประมาณ 602,000 ล้านบาท)

ทั้งนี้ SAMR ระบุว่าเหม่ยถวน คือบ่อนทำลายพลวัตทางนวัตกรรมและชีวิตชีวาของแพลตฟอร์มการจัดส่งอาหาร ตลอดจนเป็นอันตรายต่อผลประโยชน์ของผู้ค้าและผู้บริโภคบนแพลตฟอร์มดังกล่าว

ตลอดช่วง 1 ปีที่ผ่านมารัฐบาลจีนมีการยกระดับ “ต่อต้านผูกขาด” เพิ่มกำลังคนเพื่อตรวจสอบเข้มบริษัทเทคโนโลยี ลดความเหลื่อมล้ำ และดูแลการแข่งขันในตลาดให้ดียิ่งขึ้น โดยเฉพาะหน่วยงาน SAMR มีการเพิ่มเจ้าหน้าที่ต่อต้านการผูกขาดจาก 40 คน เป็น 100 คน และมีแผนเพิ่มเจ้าหน้าที่สู่ระดับ 150 คน ภายใน 5 ปี ทั้งฝ่ายสอบสวนเพื่อต่อต้านการผูกขาด ฝ่ายดูแลการแข่งขันในตลาด และฝ่ายกำกับดูแลการควบรวมกิจการ

โดยเฉพาะการต่อต้านการผูกขาดภาคธุรกิจดิจิทัล หลังปล่อยให้ธุรกิจต่าง ๆ เติบโตอย่างอิสระกว่า 10 ปี ก่อนหน้านี้ SAMR มีการลงโทษปรับ Alibaba หลายพันล้านหยวน “โทษฐานละเมิดตลาด” พร้อมส่งสัญญาณว่า SAMR กำลังเข้าสู่เฟสใหม่ของการบังคับใช้กฎระเบียบที่ครอบคลุมทุกภาคส่วน เริ่มตั้งแต่การจัดส่งอาหาร การช้อปปิ้งออนไลน์และโซเชียล มีเดีย ต่าง ๆ

“สี จิ้นผิง” ประธานาธิบดีของจีน ออกมาเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่รัฐ มุ่งเน้นต่อต้านการผูกขาดเพื่อนำไปสู่การแข่งขันที่เป็นธรรม ที่ถือเป็นส่วนหนึ่งของเป้าหมาย “ความเจริญรุ่งเรืองร่วมกัน” และลดความเหลื่อมล้ำที่เพิ่มขึ้นมาก ตลอดช่วง 10 ปีที่ผ่านมา และการควบคุมบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ทั้ง Alibaba และ Tencent จึงถือเป็นองค์ประกอบสำคัญของความพยายามดังกล่าว

ตลอด 11 เดือนที่ผ่านมา SAMR มีการออกกฎหมายต่อต้านการผูกขาดหลายฉบับ เพื่อเรียกเก็บค่าปรับจากบรรดาบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ รวมถึงการปิดกั้นข้อเสนอการควบรวมกิจการ ไม่เพียงเท่านั้น SAMR กำกับดูแลครอบคลุมถึง มาตรฐานความปลอดภัยด้านอาหาร การโฆษณาและการดูแลการจดทะเบียนสำหรับธุรกิจ

สำหรับประเทศไทย มีหน่วยงานที่มีบทบาทคล้ายคลึงกับ SAMR นั่นคือสำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (OTCC) หรือที่รู้จักกันในชื่อ “คณะกรรมการกขค.” แต่ที่แตกต่างคือบทบาทการทำงานแบบเชิงรุก เห็นได้ชัดจากช่วงที่ผ่านมา เรื่อง “อำนาจเหนือตลาด” เกิดขึ้นในหลายกลุ่มธุรกิจ

จะด้วยว่าอาศัย “ช่องโหว่ทางกฎหมาย” หรือ “การละเลย” จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหรือจะด้วยเหตุผลอื่นใดก็ตาม ทำให้ “อำนาจเหนือตลาด” เกิดขึ้นและถูกตั้งคำถามกันต่อไป..!?

Back to top button