SCB แนวโน้ม Q4 กำไรยังโดดเด่น

แนวโน้ม Q4/64 ของ SCB จะสามารถเพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากถูกกดดันด้วยการตั้งสำรองสินเชื่อที่ต้นทุนเครดิตที่ 2.4%


คุณค่าบริษัท 

มีการวิเคราะห์กันว่า แนวโน้มผลประกอบการในช่วงไตรมาส 4 ปี 2564 ของธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB จะสามารถเพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อน รับอานิสงส์จากฐานที่ต่ำในไตรมาส 4 ปี 2563 เนื่องจากถูกกดดันด้วยการตั้งสำรองสินเชื่อที่ต้นทุนเครดิตที่ 2.4%

รวมทั้งการเติบโตของรายได้ค่าธรรมเนียมจากธุรกิจบริหารความมั่งคั่ง และ Bancassurance สามารถเป็นปัจจัยหนุนผลประกอบการและลดทอนปัจจัยกดดันจากรายได้ดอกเบี้ยที่ลดลง ตามการปรับโครงสร้างหนี้ให้กับลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ตามกลยุทธ์ที่ยังคงเน้นไปที่การบริหารคุณภาพของสินทรัพย์ซึ่งจะช่วยลดแรงกดดันของค่าใช้จ่ายการตั้งสำรองสินเชื่อในช่วงปี 2565 เนื่องจากในปัจจุบันมีสินเชื่อที่อยู่ในมาตรการช่วยเหลือทั้งหมด 464 ล้านบาท

ขณะเดียวกันเนื่องจากการเน้นการบริหารคุณภาพสินเชื่อในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลให้ในปัจจุบันพอร์ตสินเชื่อของธนาคารเติบโตเพียง 1% จากต้นปีถึงปัจจุบัน ซึ่งคาดว่าพอร์ตสินเชื่อจะสามารถกลับมาเติบโตได้ตามปกติ ตั้งแต่ในช่วงไตรมาส 1 ปี 2565 จากสภาพเศรษฐกิจที่ทยอยฟื้นตัว หลังจากผ่านจุดต่ำสุดในช่วงไตรมาส 3 ปี 2564 และจะเป็นปัจจัยหนุนต่อการฟื้นตัวของรายได้ดอกเบี้ยในปี 2565

นอกจากนั้น บล.เอเชีย เวลท์ ปรับประมาณการกำไรสุทธิของปี 2564 อยู่ที่ 36,409 ล้านบาท และในปี 2565 อยู่ที่ 42,555 ล้านบาท ตามลำดับ สะท้อนจากปัจจัยหลังจากการเติบโตของรายได้ค่าธรรมเนียม 9 เดือนแรกของปี 2564 ที่เติบโตได้ดีกว่าคาด และเป้าหมายทางการเงินของธนาคาร พร้อมกับแนวโน้มของคุณภาพสินเชื่อที่ดีกว่าคาด จากมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐและธนาคาร ส่งผลให้คาดว่าแนวโน้มของค่าใช้จ่ายการตั้งสำรองจะทยอยปรับตัวไปสู่ระดับปกติได้เร็วกว่าที่คาด

ส่วนผลการดำเนินงานไตรมาส 3 สิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2564  บริษัทมีรายได้จากการดำเนินงานรวมขยับขึ้นมาอยู่ที่ 36,909.80 ล้านบาท จากงวดเดียวกันของปีก่อน 34,484.59 ล้านบาท ส่งผลให้บริษัทมีกำไรสุทธิขยับขึ้นมาอยู่ที่ 8,817.92 ล้านบาท หรือ 2.59 บาทต่อหุ้น จากงวดเดียวกันของปีก่อนมีกำไรสุทธิ 4,641.39 ล้านบาท หรือ 1.37 บาทต่อหุ้น สาเหตุหลักของการเพิ่มขึ้นมาจากรายได้ค่าธรรมเนียมสุทธิที่เพิ่มขึ้น กำไรสุทธิจากเครื่องมือทางการเงินที่วัดมูลค่าด้วยมูลค่ายุติธรรมผ่านกำไร หรือขาดทุนที่เพิ่มขึ้น และการลดลงของผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น

ขณะที่ผลการดำเนินงานงวด 9 เดือนแรก สิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2564 บริษัทมีรายได้จากการดำเนินงานรวมขยับขึ้นมาอยู่ที่ 111,131.56 ล้านบาท จากงวดเดียวกันของปีก่อน 108,402.07 ล้านบาท ส่งผลให้บริษัทมีกำไรขยับขึ้นมาอยู่ที่ 27,720.26 ล้านบาท หรือ 8.15 บาทต่อหุ้น จากงวดเดียวกันของปีก่อนมีกำไรสุทธิ 22,252.16 ล้านบาท หรือ 6.55 บาทต่อหุ้น ซึ่งสาเหตุหลักจากรายได้ค่าธรรมเนียมสุทธิที่เพิ่มขึ้น กำไรสุทธิจากเครื่องมือทางการเงินที่วัดมูลค่าด้วยมูลค่ายุติธรรมผ่านกำไร หรือขาดทุนที่เพิ่มขึ้น ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานที่ลดลง และการลดลงของผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น ซึ่งสุทธิกับการลดลงของรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ และกำไรสุทธิจากเงินลงทุน

อย่างไรก็ตาม โดยจากแนวโน้มของการฟื้นตัวของผลประกอบการในช่วงปี 2565 จากค่าใช้จ่ายการตั้งสำรองที่ลดลง และปัจจัยบวกจากความคืบหน้าการปรับโครงสร้างองค์กรที่จะเริ่มเห็นความชัดเจนเพิ่มขึ้นในช่วงกลางปี 2565 จึงให้คำแนะนำ “ซื้อ” ราคาเป้าหมายปี 2565 ที่ 150 บาทต่อหุ้น อิง PBV ที่ระดับ 1.08 เท่า

….

ผู้ถือหุ้นรายใหญ่

  1. พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว 793,832,359 หุ้น 23.38%
  2. กองทุนรวม วายุภักษ์หนึ่ง โดย บลจ.กรุงไทย จำกัด (มหาชน) 392,649,100 หุ้น 11.56%
  3. กองทุนรวม วายุภักษ์หนึ่ง โดย บลจ.เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน) 392,649,100 หุ้น 11.56%
  4. บริษัท ไทยเอ็นวีดีอาร์ จำกัด 263,539,204 หุ้น 7.76%
  5. SOUTH EAST ASIA UK (TYPE C) NOMINEES LIMITED 130,756,135 หุ้น 3.85%

รายชื่อกรรมการ

  1. นายวิชิต สุรพงษ์ชัย ประธานกรรมการ
  2. นายอาทิตย์ นันทวิทยา ประธานกรรมการบริหาร, ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร, กรรมการ
  3. พล.อ.อ.สถิตย์พงษ์ สุขวิมล กรรมการ
  4. พ.ต.อ.ธรรมนิธิ วนิชย์ถนอม กรรมการ
  5. น.ส.จรีพร จารุกรสกุล กรรมการ

Back to top button