คัด 4 หุ้นโฟกัสไตรมาส 4/64 กำไรเด่น

ท่ามกลางบรรยากาศการลงทุนตลาดหุ้นไทยที่ยังมีความผันผวน ไม่มีปัจจัยบวกใหม่ชัดเจน ขณะที่โฟกัสของนักลงทุนยังอยู่ที่ผลประกอบการไตรมาส 3


เส้นทางนักลงทุน

ท่ามกลางบรรยากาศการลงทุนของตลาดหุ้นไทยยังมีความผันผวน ยังไม่มีปัจจัยบวกใหม่ที่ชัดเจน ซึ่งโฟกัสของนักลงทุนในตลาดหุ้นคาดว่า ยังอยู่ที่ประกาศผลประกอบการไตรมาส 3 ปี 2564 ของบริษัทจดทะเบียนซึ่งอาจไม่สดใส แต่จะทยอยฟื้นตัวในไตรมาส 4 ปี 2564 เป็นต้นไป และสอดคล้องกับการเริ่มเปิดประเทศในวันที่ 1 พ.ย. 2564

ส่วนความกังวลด้านเงินเฟ้อโลกยังเป็นปัจจัยที่ต้องติดตามและกดดันเป็นระยะ หากยังไม่เห็นสัญญาณการคลายตัวอย่างชัดเจน

ดังนั้นในเบื้องต้นเมื่อเข้าไปสำรวจบทวิเคราะห์ที่ทาง บล.ฟินันเซีย ไซรัส ประเมินไว้โดยเฉพาะงบการเงินในช่วงไตรมาส 3 ปี 2564 ที่จะประกาศออกมา และประเมินไปสู่แนวโน้มช่วงไตรมาส 4 ปี 2564 อันได้แก่ SYNEX, ICHI, JWD, JR และ DCC เป็นต้น

บริษัท ซินเน็ค (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ SYNEX ว่าด้วยเรื่องผลประกอบการไตรมาส 3 ปี 2564 จะยังคงเติบโตดี แม้ว่ามีมาตรการล็อกดาวน์จากโควิด-19 ด้วยลูกค้าที่กระจายตัวไปทั้งออฟไลน์และออนไลน์ ตลอดจนเทรนด์ “Work from Home และ Gaming” ที่ช่วยหนุนรายได้และมาร์จิ้นให้เติบโตต่อเนื่อง

ส่วนแนวโน้มผลประกอบการไตรมาส 4 ปี 2564 ซึ่งเป็นช่วงไฮซีซั่น ของบริษัท ซึ่งเบื้องต้นทางผู้บริหารเชื่อว่ากำไรเติบโตได้จากงวดเดียวกันของปีก่อน ซึ่งรับอานิสงส์จากการเปิดตัว iPhone 13 ที่เร็วกว่าปีก่อน แต่อาจมีความเสี่ยงเรื่อง ภาวะขาดแคลนชิปที่เริ่มมีความรุนแรงมากขึ้นจากสถานการณ์ไม่ปกติในประเทศจีน

นอกจากนี้ที่น่าสนใจเมื่อทาง SYNEX เพิ่งเปิดเผยพันธมิตรธุรกิจใน SWOPMART คือ SCB10X ด้วยสัดส่วน SYNEX 60% ขณะที่ SCB10X สัดส่วน 40% ซึ่งเป็นแพลทฟอร์มแลกเปลี่ยนสินค้า IT มือสอง โดยใช้จุดแข็งของ SYNEX ในเรื่องการเป็นเบอร์หนึ่งในธุรกิจค้าส่งสินค้า IT และ SCB10X ที่ถนัดในเรื่องการพัฒนาระบบ ทั้งเว็บไซต์และแอปพลิเคชันมือถือ

ทั้งนี้ปัจจุบันผู้บริหารกำลังประชุมถึงแผนการทำการตลาดและการกำหนดเป้าหมายต่าง ๆ คาดว่าจะเห็นความคืบหน้าภายในเดือนพฤศจิกายนนี้ ส่วนการทำสินค้าแบรนด์ตัวเอง (Owned Brand Products) มีเป้าหมายเพื่อการเพิ่มมาร์จิ้นในระยะยาว โดยจะโฟกัสในกลุ่มสินค้า Gaming Gears เป็นหลัก ปัจจุบันบริษัทหาบริษัทผลิตสินค้าได้แล้ว คาดเห็นรายละเอียดภายในปลายปีนี้

ส่วนยังคาดกำไรปี 2564 เพิ่มขึ้น 22% จากงวดเดียวกันของปีก่อน และปี 2565 เพิ่มขึ้น 29% จากงวดเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ แล้วปรับใช้ราคาเป้าหมายปี 2565 ที่ 31.30 บาท แนะนำ “ซื้อ”

บริษัท อิชิตัน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ ICHI มีการประเมินผลประกอบการไตรมาส 3 ปี 2564 คาดกำไรสุทธิอยู่ที่ 126 ล้านบาท ลดลง 23.2% จากไตรมาสก่อน แต่เพิ่มขึ้น 2.4% จากงวดเดียวกันของปีก่อน ซึ่งสาเหตุที่คาดกำไรอ่อนตัวลงเพราะเป็น Low Season ของธุรกิจ และได้รับผลกระทบจากโควิด-19

ขณะเดียวกันคาดรายได้รวมลดลง 20.2% จากไตรมาสก่อน และลดลง 2.5% จากงวดเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นเพราะการลดลงทั้งรายได้ในประเทศและส่งออก ด้วยอัตราการใช้กำลังการผลิตที่อ่อนลง คาดอัตรากำไรขั้นต้นจะลดลงมาอยู่ที่ 20% จาก 21.3% ในไตรมาส 2 ปี 2564 แต่ยังดีกว่า 19.7% ในไตรมาส 3 ปี 2564

อย่างไรก็ดีบริษัทมีการคุมค่าใช้จ่ายเข้มงวด โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายทางการตลาด เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่ไม่สดใส คาด SG&A to Sales จะลดลงเป็น 7.9% จาก 8.9% ในไตรมาส 2 ปี 2564 และ 8.5% ในไตรมาส 3 ปี 2564 และอีกปัจจัยที่ดีในไตรมาสนี้คือส่วนแบ่งกำไรจากบริษัทร่วมใน อินโดนีเซียที่ทำได้ดีต่อเนื่อง แม้ในอินโดนีเซียจะประสบปัญหา COVID-19 เช่นเดียวกัน แต่เครื่องดื่ม Brown Sugar ได้รับการตอบรับที่ดีมาก และขยับขึ้นเป็นสินค้าขายดีของบริษัทแซงหน้า Thai Milk Tea แล้ว

อย่างไรก็ตาม หากกำไรไตรมาส 3 ปี 2564 เป็นไปตามคาด บริษัทจะมีกำไรสุทธิ 9 เดือนแรกอยู่ที่ 412 ล้านบาท ลดลง 4.4% จากงวดเดียวกันของปีก่อน

ขณะที่คาดแนวโน้มกำไรจะกลับมาฟื้นตัวในไตรมาส 4 ปี 2564 ทั้งที่ปกติยังเป็น Low Season ของธุรกิจ แต่คาดฟื้นตัวได้ตามมาตรการล็อกดาวน์ที่ผ่อนคลายมากขึ้น ภายหลังจำนวนลูกค้าของผู้ประกอบการ Modern Trade จะกลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง

นอกจากนี้ประเมินว่าปี 2565 จะดีขึ้น คาดธุรกิจเดิมกลับมาฟื้นตัวหลังโควิด-19 คลี่คลาย, คำสั่งซื้อลูกค้า OEM จะเพิ่มขึ้นจากลูกค้าเดิม King Power และลูกค้าใหม่ อาซาฮี และยังมีเจรจาเพิ่มอีก 3 ราย และสินค้ากลุ่มกัญชงคาดได้เห็นอย่างเร็วในไตรมาส 1 ปี 2565 ซึ่งคาด ICHI จะเป็นผู้ประกอบการรายแรก ๆ ที่ได้รับสารสกัดก่อน ภายหลังเซ็นสัญญาซื้อขายกับ RBF เรียบร้อยแล้ว

ด้วยผลกระทบของโควิด-19 มีการปรับลดกำไรสุทธิปี 2564 ลง 16.6% เหลือ 567 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10% จากงวดเดียวกันของปีก่อน และปี 2565 ลดลง 5% ทำกำไรราว  678 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 19.5% จากงวดเดียวกันของปีก่อน  ตามลำดับ และปรับใช้ราคาเป้าหมายปี 2565 ที่ 13 บาท (อิง PE เดิม 25 เท่า) แนะนำ “ซื้อ”

บริษัท เจดับเบิ้ลยูดี อินโฟโลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) หรือ JWD มีการประเมินผลประกอบการไตรมาส 3 ปี 2564 คาดกำไรปกติไตรมาส 3 ปี 2564 เพิ่มขึ้น 13% จากไตรมาสก่อน และเพิ่มขึ้น 65% จากงวดเดียวกันของปีก่อน ท่ามกลางการ Lockdown ทั้งในไทยและในหลายประเทศในเอเชีย ซึ่งกระทบธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับยานยนต์และการขนส่งทางราง แต่ชดเชยได้จากความแข็งแกร่งของธุรกิจห้องเย็น ธุรกิจอาหาร ธุรกิจ Barge ธุรกิจ Self-storage และการรับรู้รายได้จาก VNS เต็มไตรมาสเป็นไตรมาสแรก

ส่วนแนวโน้มไตรมาส 4 ปี 2564 ยังน่าจะเดินหน้าทำสถิติสูงสุดต่อ ทั้งนี้คงประมาณการกำไรสุทธิปี 2564 โตก้าวกระโดด เพิ่มขึ้น 73% จากงวดเดียวกันของปีก่อน และเร่งตัวต่อตั้งแต่ปี 2565 จากการเก็บเกี่ยวธุรกิจที่ได้เข้าร่วมลงทุนหลายโครงการในปี 2564 คงราคาเป้าหมายปี 2565 ที่ 23 บาท แนะนำ “ซื้อ”

บริษัท เจ.อาร์.ดับเบิ้ลยู. ยูทิลิตี้ จำกัด (มหาชน) หรือ JR มีการประเมินผลประกอบการไตรมาส 3 ปี 2564  คาดกำไรปกติอยู่ที่ 52 ล้านบาท ลดลง 25.4% จากไตรมาสก่อน จากผลของ Full Lockdown เดือน ก.ค.-ส.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งทำให้ไม่สามารถเข้าหน้างานได้เต็มที่ และทำให้งานเดินหน้าช้ากว่าแผน ทำให้รายได้ในไตรมาส 3 ปี 2564 คาดลดลง 19.8% จากไตรมาสก่อน

อย่างไรก็ตามยังคาดกำไรเพิ่มขึ้น 53.8% จากงวดเดียวกันของปีก่อน หากยกฐานจากปีก่อนอย่างแข็งแรงจากปริมาณงานในมือที่สูงกว่าอย่างมีนัยจากโครงการเปลี่ยนสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดินแนวรถไฟฟ้าสีเหลืองและชมพูเฟสแรก ขณะที่ Margin อ่อนลงเล็กน้อยจากไตรมาสก่อน จากผลของ Operating Leverage โดยเฉพาะค่าใช้จ่าย SG&A ซึ่งส่วนใหญ่เป็นต้นทุนคงที่ อย่างไรก็ตามยังคาด Net Margin ยืนตัวเลข 2 หลักที่ 10% ได้ในไตรมาสนี้

ส่วนแนวโน้มกำไรไตรมาส 4 ปี 2564 คาดทยอยฟื้นตัวขึ้นหลังมีการผ่อนคลายมาตรการ Lockdown และคาดว่าจะทำให้ผลการดำเนินงานกลับมาเร่งตัวขึ้นอีกครั้ง แต่คาดว่าจะเริ่มกลับมาเต็มที่ได้ในช่วงปลายไตรมาส 4 ปี 2564 เป็นต้นไป

อีกทั้งปรับประมาณการกำไรปกติปี 2564 ลง 19% เป็น 236 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 167.2% จากงวดเดียวกันของปีก่อนสะท้อนการ Lockdown และกระทบการรับรู้รายได้ให้น้อยกว่าแผน

อย่างไรก็ตามปรับปี 2565 ขึ้นเล็กน้อยเป็น 362 ล้านบาท  เพิ่มขึ้น 53.6% จากงวดเดียวกันของปีก่อน ซึ่งกลับมาเติบโตอย่างโดดเด่น รวมถึงคาดได้รับงานใหม่เข้ามาหนุน Backlog เพิ่มเติม โดยเฉพาะโครงการใหญ่เปลี่ยนสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดินตามแนวรถไฟฟ้าสายสีเหลืองและชมพูเฟสที่ 2 ซึ่งคาดจะเข้ามาหนุน Backlog ทะลุ 1 หมื่นล้านบาท ในปีหน้า รวมถึงงานด้านสถานีชาร์จ EV รวมถึงงานวิศวกรรมในโครงการของอุตสาหกรรม Oil & Gas ที่มีการเริ่มเข้าไปรับงานในช่วงปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ปรับใช้ราคาเป้าหมายของ JR เป็นปี 2565 ที่ 10 บาท แนะนำ “ซื้อ”

จากข้อมูลเบื้องต้นในบทวิเคราะห์ แม้ว่าจะประเมินว่าในไตรมาส 3 ปี 2564 ของบริษัทข้างต้นส่วนใหญ่จะปรับตัวลง แต่เชื่อว่าจะผ่านไปได้ด้วยดี เนื่องจากผลประกอบการจะฟื้นชัดเจนในช่วงไตรมาส 4 ปี 2564 !!!

Back to top button